Full Version อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อ.ปัว จ.น่าน พิกล พิกล

เว็บไซต์ ทองไทยแลนด์ ดอทคอม > Article

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อ.ปัว จ.น่าน พิกล พิกล Date : 2013-01-23 22:32:21

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อ.ปัว จ.น่าน พิกล พิกล

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

            ผมเคยรับราชการอยู่ที่หน่วยปรับปรุงต้นน้ำห้วยสามสบ อ.นาน้อย จ.น่าน มีหน้าที่ปลูกป่าปรับปรุงต้นน้ำที่เสื่อมโทรมจากการบุกรุกแผ้วถางป่าลงเพื่อทำไร่เลื่อนลอย พื้นที่รับผิดชอบ 62,500 ไร่(100 ตร.กม.) ตั้งแต่ปีพ.ศ.2521-2531 แต่สิ่งที่ผมต้องรับรู้คือการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมูนิสท์ที่ดอยภูคา บ่อเกลือ โดยเฉพาะยุทธการถ้ำผาแดงที่เกิดการตายและบาดเจ็บจำนวนมาก ทางโรงพยาบาลน่านระดมขอเลือดเพื่อช่วยเหลือทหารหาญ

ป้ายใช้สีได้ค่อนข้างดี แต่หน้าป้ายไม่ดีเลย

          ในขณะนั้นมี พล.ต.ประหยัด รอดโพธิ์ทอง เป็นผู้บัญชากองพลทหารม้าส่วนหน้า จังหวัดน่าน มีเสนาธิการกองพลคือ พอ.แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา พื้นที่สู้รบอยู่ในเขตน่านตอนบนเป็นส่วนใหญ่ อาทิเช่น อำเภอท่าวังผา ปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง โชคดีผมปฏิบัติการอยู่ทางส่วนใต้ของจังหวัดน่าน ยุทธการที่ดังสุดในตอนนั้นคือยุทธการถ้ำผาแดง และนี่คือหน้าที่พลเมืองบ้านกิตตินันท์ของหน่วยได้รับใช้ชาติ บริจาคโลหิตกลางหุบเขา

ชมภาพในนี้ได้

             หน่วยปรับปรุงต้นน้ำปลูกป่าฟื้นฟูในพื้นที่ที่ถูกบุกรุกโดยชาวไทยเหนือหรือพวกไทยถิ่นขะมุ ลั้ว ส่วนโครงการพัฒนาป่าต้นน้ำ(โครงการหลวงเดิม)พัฒนาการปลูกป่าต้นน้ำเสื่อมโทรมในพื้นที่ที่มีชาวเขาตั้งอยู่ กล่าวง่ายๆบนที่สูงๆที่ชาวเขาถางป่าให้โครงการหลวงดำเนินการ ส่วนพื้นที่ป่าต่ำลงมากว่านั้นมีชาวไทยบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยให้หน่วยปรับปรุงต้นน้ำรับผิดชอบ

             บนดอยติ้ว ดอยภูคา ดอยภูแว บนที่สูงชัน ชาวเขาเผ่าม้งบุกรุกทำไร่กันหนักหน่วง ปีพ.ศ.2526 ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ต้นน้ำ อุทัย จันผกา ให้ผมขอเฮลิคอปเตอร์กองพลทหารม้าเพื่อบินสำรวจพื้นที่ป่าต้นน้ำ จึงได้เห็นว่าต้นไม้ใหญ่น้อยล้มระเนนระนาดไปทั้งแถบ สุดลูกหูลูกตา ต้นยางใหญ่ๆล้มอยู่ในไร่ข้าวโพด จึงตั้งหน่วยพัฒนาป่าต้นน้ำขึ้นเหนือดอยภูคา  เพื่อแย่งชิงพื้นที่มาปลูกป่าทดแทนอีกครั้ง

              หลังจากนั้นไม่นาน กองอุทยานแห่งชาติจึงได้เตรียมการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติดอยภูคาขึ้น เพื่อระงับยับยั้งด้วยกฎหมายให้เกิดการจำกัดวงการบุกรุกทำลายป่าของม้งอดีตกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ และได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าดอยภูคา ป่าผาแดง ป่าแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ ป่าน้ำว้า และป่าแม่จริม ในท้องที่ตำบลห้วยโก๋น ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตำบลปอน ตำบลงอบ และตำบลทุ่งช้าง อำเภอทุ่งช้าง ตำบลพญาแก้ว อำเภอเชียงกลาง ตำบลภูคา ตำบลศิลาเพชร ตำบลอวน อำเภอปัว ตำบลบ่อเกลือเหนือ ตำบลดงพญา ตำบลบ่อเกลือใต้ ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ ตำบลยม อำเภอท่าวังผา ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข และตำบลแม่จริม ตำบลหนองแดง ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน เป็นอุทยานแห่งชาติดอยภูคา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 48ก ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2542 มีเนื้อที่ประมาณ 1,065,000 ไร่ หรือ 1,704 ตารางกิโลเมตร

                แต่เนื่องจากการตราพระราชกฤษฎีกาใช้เวลายาวนานกว่า 15 ปี จึงเกิดการบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำในขอบเขตอุทยานแห่งชาติเพิ่มมากขึ้นๆ และเนื่องจากสถานการณ์ในขณะนั้นค่อนข้างอ่อนไหว จึงไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข็มแข็ง อุทยานแห่งชาติดอยภูคาจึงเต็มไปด้วยหมู่บ้านม้งมากมายกระจายไปทั่วอุทยานฯ ไม่สามารถอพยพลงมาได้ ไม่สามารถควบคุมการบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ได้ ตราบเท่าทุกวันนี้

หมอกลอยละลิ่วปลิวไปตามกระแสลม

                จุดสูงสุดคือดอยภูคา 1,980 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยเฉลี่ยสูง 800 เมตรขึ้นไป มีป่าดิบเขามากถึง 25% ป่าดิบแล้ง 30% ป่าเบญจพรรณ 25% ป่าเต็งรัง 20 % ส่วนป่าสนเขามีแถวๆดอยภูหวด มีถ้ำสวยๆหลายแห่งแต่ถ้ำผาแดงและผาผึ้งเป็นถ้ำที่ยาวที่สุด  นอกจากนั้นยังมีน้ำตกอีกมากมายหลายแห่งเช่นภูฟ้า วังเปียน และน้ำตกต้นตอง

                พันธุ์พืชเด่นเห็นจะหนีไม่พ้นต้นชมพูภูคาซึ่งมีช่อดอกยาว70-90 ซม.ออกดอกช่วงเดือน กพ-มีค เป็นต้นไม้ถิ่นเดียวที่พบเฉพาะบนดอยภูคาเท่านั้น  นอกจากนั้นก็มีต้นเต่าร้างยักษ์ซึ่งหลงเหลืออยู่บนป่าดิบเขาที่ยังอุดมสมบูรณ์ ผสมผสานไปกับต้นเฟิร์นยักษ์หรือที่เรียกว่า มหาสดำ อันเป็นเฟิร์นต้นที่มีลักษณะงดงาม

บ้านพักที่หลากสไตล์

                สิ่งอำนวยความสะดวกบนอุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้ชมนิทรรศการก่อนเข้าไปท่องเที่ยว มีร้านอาหารเพื่อบริการนักท่องเที่ยวที่นิยมมาพักแรม มีลานกางเต็นท์ถึง 3 แห่งด้วยคือ จุดชมวิวเรียกว่าลานดูดาว ลานกางเต็นท์หน้าบ้านล้อเกวียน และบนดอยดูเดือนเหนือบ้านล้อเกวียน นอกจากนั้นยังมีบ้านพักแรมพักได้หลังละ 6-7 คนอีก 3 หลัง

ตากล้องทั้งนั้น

นักท่องเที่ยวมีความสุขกับการถ่ายรูป

               นอกจากนั้นยังมีบ้านพักรับรองสำหรับการตรวจราชการ การศึกษาวิจัยบนอุทยานฯของเหล่านักวิชาการ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่บนเขาสูงกว่า 1,000 เมตร จึงมีอากาศค่อนข้างเย็นมากในฤดูหนาว และเย็นตลอดปีในฤดูร้อน ส่วนฤดูฝนแทบไม่มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเยือนเลย ทั้งๆที่น่าไปไม่น้อยเลยทีเดียว

ตื่นตีห้าไปถ่ายทะเลหมอก ได้แค่เนี้ย

                บนถนนลาดยางจากอำเภอปัวจนถึงอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ผ่านป่าเขาสูงชันที่มีทั้งป่าดงดิบ ป่าเสื่อมโทรมเนื่องจากชาวม้งทำไร่ข้าวโพด สลับไปกับต้นไม้หย่อมเล็กหย่อมน้อย หรือไม่ก็สวนลิ้นจี่ หากเห็นพื้นที่ถูกแผ้วถางทำไร่ตรงไหนก็จะมีฉางพืชไร่อยู่ใกล้ๆ ร่องรอยพืชเศรษฐกิจยังมีหลงเหลือให้เห็น มีไร่เลื่อนลอยที่ไหนในหน้าร้อนก็ย่อมมีควันไฟที่นั่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บ้านไร่ข้าวโพด

               ครั้งหนึ่ง ผู้ตรวจการสำนักนายกรัฐมนตรีชื่อ นายสุธี อากาศฤกษ์ และอธิบดีกรมป่าไม้นายไพโรจน์ สุวรรณกร  เคยมาประชุมที่จังหวัดน่านเพื่อจะวางแผนการอพยพชาวเขาเผ่าม้งลงมาอยู่ในที่ลุ่มต่ำ เช่นเดียวกับอุทยานแห่งชาติแม่วงศ์และคลองลาน แต่เมื่อสำรวจประชากรชาวเขาทั้งจังหวัดน่าน พบว่ามีมากกว่า 50,000 คน จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะต้องหาพื้นที่เพื่อรองรับมวลชนขนาดใหญ่ดังกล่าว ต่อมารัฐบาลเปลี่ยนไปนโยบายก็เปลี่ยนแปลง  ในที่สุดแผนการดังกล่าวก็เลิกล้มไปโดยปริยาย เหมือนนโยบายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าไม้

เพียงเดินให้สัมผัสแดดก็อบอุ่นไปทั่วสรรพางกาย

               ปัจจุบันนี้ การติดต่อสื่อสารเป็นไปตามระบบไฮเทค การจองบ้านพักในอุทยานแห่งชาติต้องจองผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  ทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น รั่วไหลเงินรายได้มากกว่าที่เคยเฝ้าระวังมาแต่เดิม ลดอิทธิพลของนักการเมืองและข้าราชการขี้เบ่งชั้นผู้ใหญ่ซึ่งชอบหน้าใหญ่ขอบ้านพักฟรีพร้อมอาหารให้กับลูกหลานหรือหัวคะแนนหรือเพื่อนๆข้าราชการด้วยกัน

นี่ไงใบไม้ผลิก็เปลี่ยนสีสวย

                 ติดต่อ E-mail:phukha_np@hotmail.com หรือเปิดชมภาพตัวอย่างจาก www.dnp.go.th หรือโทร.054-701000  ในวันเดินทางไปนั้นเราจองและจ่ายเป็นค่าที่พักเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวทั่วไป ได้พบแต่นายเจริญ โพธิรินทร์ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา โทร.085-6940611 เท่านั้น จึงไม่ทราบนโยบายการจัดการอุทยานแห่งชาติดอยภูคาของหัวหน้าคนปัจจุบัน ซึ่งควรมีวาระ 4 ปี จึงย้ายกันสักครั้งหนึ่ง

ดอกอาซาเลีย จีน

บิโกเนียพันธุ์จากต่างประเทศ

                แต่ได้พบว่า มีความพยายามจะตกแต่งอุทยานแห่งชาติดอยภูคาเพื่อให้มีดอกไม้สวยงามเหมือนกับรีสอร์ท ด้วยการใช้ดอกไม้ต่างถิ่นหลายชนิด เช่น กุหลาบแดงพันธุ์จีน หรืออาซาเลีย บิโกเนียดอกสีชมพูหวานๆ ต้นเทียนญี่ปุ่นสีสดใส ต้นหูปลาช่อนแดง ผักเสี้ยนฝรั่ง ดอกซัลเวียสีแดงสดใส ดาวเรืองดอกโตๆ  แม้กระทั่งต้นสิบสองปันนาซึ่งต่างถิ่นกำเนิด

ต้นตองหรือทองหลางป่า

                 และที่น่าทึ่งมากก็คือ มีพันธุ์ไม้หลายชนิดผลิใบได้สีสันสวยงาม ถ้าหยิบจับมาปลูกให้เป็นแถวหรือเป็นดง   หรือเป็นกลุ่ม ก็ให้ภาพถ่ายที่สวยงามแปลกตาได้ในช่วงเวลาหนึ่ง หรือพันธุ์ไม้ดอกในประเทศไทยเช่นต้นนางพญาเสือโคร่ง หรือดอกซากุระเมืองไทย แต่ในถิ่นดอยภูคา ผมเห็นต้นเสี้ยวดอกขาวกำลังออกดอกอยู่ตามชายเขาสูงๆและริมทาง มันขึ้นทั่วไปในที่เขาสูงๆ การกระจายพันธุ์กว้างขวาง

ต้นเสี้ยวดอกขาว พราวเสน่ห์

                  ประกอบกับจังหวัดน่าน ใช้ต้นเสี้ยวดอกขาวเป็นต้นไม้ประจำจังหวัด หากปลูกในถิ่นกำเนิดจนมองไปทางไหนก็ขาวโพลนไปทั่วอย่างกับซากุระในประเทศญี่ปุ่น ก็น่าจะเป็นเอกลักษณ์การใช้ธรรมชาติบันดาลให้เกิดขึ้นได้ไม่ยากเลย ผมเห็นต้นเสี้ยวดอกขาวบานอยู่ตามริมถนนหนทาง แม้กระทั่งถนนสายน่าน-แม่จริมเพื่อไปยังอุทยานแห่งชาติแม่จริม ก็เช่นกัน

ดอกเสี้ยวดอกขาว

                  เมื่อรู้ว่ามีพันธุ์ไม้ดีๆที่ให้ดอกในฤดูหนาวได้ถึงสองชนิดคือ ต้นเสี้ยวดอกขาว และต้นนางพญาเสือโคร่ง ใครเล่าจะเป็นคนกำหนดทิศทางการตกแต่งภูมิทัศน์ให้เกิดความโดดเด่อลังการจากต้นดอกไม้ป่าเหล่านี้ได้ ถ้าไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ที่แยกออกเป็นสามส่วนคือ

เอื้องพร้าว

ดอกต้นตองสีแดงอมส้ม

                   ส่วนแรกมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเช่นอุทยานแห่งชาติดอยภูคา อุทยานแห่งชาติแม่จริม อุทยานแห่งชาติขุนสถาน ฯลฯ

                   ส่วนที่สองน่าจะเป็นภาคเอกชนหรือองค์กรท้องถิ่นอย่าง  อบจ.-อบต.และประชาชนคนเมืองน่าน

                    ส่วนที่สามคือผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ต้องเป็นผู้นำทางความคิดและแนวทางการพัฒนา อย่างต่อเนื่องและจริงจัง  

ใบเต่าร้างยักษ์


ความคิดเห็น