http://www.thongthailand.com
  สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com 
 หน้าแรก  เว็บบอร์ด  บทความ  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  ข่าวสาร
ค้นหา  ประเภทการค้นหา   Cart รายการสั่งซื้อ (0) 
สถิติ
เปิดเว็บไซต์ 15/03/2009
ปรับปรุง 08/05/2024
สถิติผู้เข้าชม14,061,587
Page Views16,372,716
« May 2024»
SMTWTFS
   1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
ท่องเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก
ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความเชื่อ
รีวิว ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ทและสปา
  foo&bed
ธรรมชาติ,สัตว์ป่าและพันธุ์พืช...มีคุณ(nature)
บทบรรณาธิการ สกู๊ฟพิเศษ และเรื่องเล่า
ข่าวสาร
http://www.thongthailand.com/index.php?mo=3&art=42365202
 

วัดหนองบัว วัดไทลื้อที่อ.ท่าวังผา จ.น่าน สวย โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

วัดหนองบัว วัดไทลื้อที่อ.ท่าวังผา จ.น่าน สวย โดยธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

วัดหนองบัว วัดไทลื้อที่อ.ท่าวังผา จ.น่าน สวย

โดย ธงชัย เปาอินทร์ เรื่อง-ภาพ

           ผมไปเชียงรุ้งมาเมื่อปีก่อน ไปเห็นศิลปะ วัฒนะธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของชาวสิบสองปันนา ได้ฟังรองเจ้าเมืองไทลื้อเล่าให้ฟังแล้วก็รู้สึกได้ว่า แท้ที่จริงไทลื้อเชียงรุ้งกับไทลื้อในเมืองไทยน่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน อ่านเอกสารเพิ่มก็ได้ความว่า ครั้งที่พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครองราชย์ ได้กวาดต้อนชาวไทลื้อลงมามากมาย กระจายกันอยู่ทั่วไปทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่นเชียงใหม่ เชียงราย และเมืองน่าน 

 

            สำหรับเมืองน่าน พี่น้องไทลื้อกระจายกันอยู่ดังนี้คือ อำเภอเมือง ก็เช่น ตำบลในเวียง บ้านเชียงแข็ง บ้านเมืองเลน  อำเภอท่าวังผา  มีมากถึง 5 ตำบล คือ ต.ศรีภูมิ ได้แก่บ้านห้วยเดื่อ ไม่รู้ที่มาที่ไป ต.ป่าคา เป็นไทลื้อมาจากเมืองล้า จำนวน 5 หมู่บ้านคือ บ้านหนองบัว บ้านดอนแก้ว บ้านต้นฮ่าง บ้านดอนมูล และบ้านแฮะ  ต.ยม  เป็นไทลื้อที่มาจากเมืองลาบ และเมืองยอง มีอยู่ 5 หมู่บ้านได้แก่ บ้านลอมกลาง บ้านทุ่งฆ้อง บ้านเชียงยืน บ้านเสี้ยว และบ้านหนองช้างแดง

                                

             ต.จอมพระ เป็นไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองยู้ มีอยู่ 5 หมู่บ้านได้แก่ บ้านถ่อน บ้านถ่อนสอง บ้านยู้ บ้านยู้เหนือ และบ้านยู้ใต้ อำเภอปัว  มีมากถึง 5 ตำบลได้แก่ ต.ศิลาเพชร เป็นไทลื้อจากเมืองยอง มี 7 หมู่บ้านได้แก่ บ้านป่าตอง1-3 บ้านดอนไชย บ้านาคำ บ้านดอนแก้ว ต.ศิลาแลง เป็นไทลื้อจากเมืองยองมี 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเก็ด บ้านหัวน้ำ บ้านตีนตก 

      

             ต.วรนคร  เป็นไทลื้อจากเมืองยอง ได้แก่บ้านดอนแก้ว บ้านร้องแงง บ้านมอน บ้านขอน และบ้านป่าลาน  ต.สถาน  เป็นไทลื้อมาจากเมืองเชียงลาบ ได้แก่ อำเภอสองแคว  มีชาวไทลื้ออยู่ที่ตำบลยอด ได้แก่บ้านปางส้าน บ้านผาสิงห์ และบ้านผาหลัก อำเภอทุ่งช้าง  มีชาวไทลื้อแถว บ้านงอบ บ้านปอน ห้วยโก๋น และตามแนวชายแดนอพยพมาจากแขวงไชยะบุและสิบสองปันนา

 

             บ้านหนองบัวเป็นชาวไทลื้อที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองล้า ปัจจุบันนี้อยู่ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน (หมายเหตุ เจ้าอิ๋นเมือง ครองราชปีพ.ศ.2122-2126 ได้แบ่งการปกครองเป็น สิบสองหัวเมือง แต่ละเมืองให้มีที่ทำนาได้ 1,000 หาบข้าว โดยฝั่งตะวันตกแม่น้ำโขงมีอยู่ห้าหัวเมือง(เมิง) และฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขงมีหกหัวเมือง(เมิง) รวมทั้งเมืองเชียงรุ้งด้วยเป็น 12 หัวเมือง 12 ปันนา )  

 

             กลับมาที่บ้านหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นไทลื้อ ส่วนจะอพยพมาอยู่ตั้งแต่ครั้งไหน ปีพ.ศ.อะไร ไม่ใช่สาระที่สำคัญอีกต่อไปแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือวันนี้ชาวไทลื้อเหล่านี้เป็นคนไทย เป็นพี่น้องร่วมแผ่นดิน แม้ว่าจะแตกต่างกันทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตและความเชื่อ ซึ่งก็ไม่ได้แปลกแยกกันแต่อย่างใด 

             พี่น้องไทลื้อบ้านหนองบัวได้สร้างวัดขึ้น ศิลปะช่างไทลื้อ

              รศ.สน สีมาตรัง บรรยายไว้ดังนี้คือ

           ลักษณะพระวิหารวัดหนองบัว มีขนาดย่อม รูปทรงเป็นรูปเตี้ยแจ้ โดยเฉพาะผืนหลังคายาวคลุมต่ำมาก อาคารตั้งบนฐานซีเมนต์สูงประมาณ 20 เซนติเมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังโดยรอบมีขนาดกว้าง 10.60 เมตร ยาว 23.50 เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ย่อมุมบริเวณมุขโถงด้านหน้าประมาณ 1 เมตร   

 

 

             เนื้อที่ใช้สอยภายใน แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนมุขหน้า เป็นโถงมีขนาดกว้าง 7 เมตร และยาวตามแนวอาคาร 4.50 เมตร ประตูมุขโถงกว้าง 2.10 เมตร บริเวณมุขโถงก่อกำแพงอิฐสอปูนสูง 1 เมตร ระดับเหนือกำแพงเป็นลูกกรงลูกมะหวดไม้กลึง ความสูง ของกำแพงมุขโถงรวม 2 เมตร ส่วนประตูด้านหน้านี้เปิดสูงถึง 3 เมตร เนื้อที่ใช้สอยส่วนที่สองเป็นตัวอาคารมีขนาด กว้าง 10.60 เมตร ยาว 18.80 เมตร ผนังอาคารก่ออิฐสอปูนหนา 80 เซนติเมตร ผนังด้านยาวทิศเหนือและใต้สูง 3.50 เมตร และ 3 เมตร ขอบบนของกำแพงเป็นรูปลดระดับตามระดับชั้นลดของหลังคาที่คลุมอาคาร ผนังอุดหน้ากลอง ด้านหลังทึบตัน ผนังอุดหน้ากลองด้านหน้ามีประตูขนาดกว้าง1.30 เมตร สูง 2.00 เมตรอยู่กลาง ประตูนี้เป็น ตัวเชื่อมเนื้อที่มุขโถงกับเนื้อที่ภายในอาคาร แสงสว่างจากภายนอกส่วนใหญ่ส่องผ่านมุขโถงแล้วส่องเข้าทางประตู หน้านี้

 

 

            บริเวณผนังด้านหน้าที่ลดมุมกับตัวมุขโถงมีเนื้อที่ 1 เมตรนั้นจะเจาะช่องหน้าต่างขนาดเล็กกว้าง 30 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร ข้างละหนึ่งช่อง เพื่อช่วยให้แสงสาดเข้าภายในได้มาก ส่วนผนังกำแพงด้านข้างทิศ เหนือและใต้เจาะช่องหน้าต่าง ขนาด 0.80 x 1.00 เมตร ด้านทิศใต้จำนวน 7 ช่อง ด้านทิศเหนือจำนวน 6 ช่อง และมีประตู 1 ประตู ระดับหน้าต่างสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร หน้าต่างเดิมมีขนาดเล็ก หน้าต่างเหล่านี้เป็นส่วนที่ ซ่อมแซมขยาย เมื่อปี พ.ศ.2469 ระดับพื้นอาคารสูงกว่าระดับพื้นมุขโถงประมาณ 50 เซนติเมตร เนื้อที่ภายใน แบ่งเป็นแนวยาวแบ่งได้ 3 ตอน โดยมีแนวเสาพาไล 2 แนวเป็นแนวแบ่งกั้น บริเวณแนวกลางมีเนื้อที่มากเป็นกึ่ง หนึ่งของทั้งหมด แนวข้างเป็นแนวทางเดินกว้างประมาณ 2 เมตร

 

 

            สุดอาคารด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน มีฐานชุกชี แนวเสาพาไลเป็นเส้นนำความสนใจพุ่งตรงไปยังพระประธาน ผนังอาคารภายในเขียนภาพจิตรกรรม ยกเว้นส่วนของมุขโถง ส่วนผนังอาคารภายนอกทาสีขาวน้ำปูน ฐานอาคารภายนอกเป็นฐานบัวคว่ำเป็นแนว ตลอด รวมทั้งมุขโถงด้วย ระบบโครงสร้างอาคารเป็นกำแพงรับน้ำหนัก เครื่องบนอาคารเป็นโครงไม้ใช้เสาตุ๊กตาตั้งบนขื่อ รับน้ำหนักเครื่องมุขทั้งหมด ไม่มีจันทัน ผืนหลังคาส่วนที่คลุมอาคารใหญ่เป็นหลังคา 2 ชั้นลดทั้งหน้าและหลัง แต่ ละชั้นลดแบ่งซอยเป็น 2 ตับ หลังคาส่วนที่คลุมมุขโถงมี 2 ชั้นลด ลดด้านหน้า อีกด้านจะต่อกับผนังอุดหน้ากลอง ด้านหน้า แต่ละชั้นลดแบ่งซอยหลังคา 2 ตับ ระดับหลังคาของมุขโถงและหลังคาอาคารกลางลดชั้นต่ำกว่ากันมาก ผืนหลังคาทั้งสองส่วนคลุมยาวลงมาต่ำมาก หลังคามุขโถงคลุมยาว ปลายหลังคาสูงจากพื้น 2 เมตร ส่วนปลาย หลังคาอาคารกลางสูงจากพื้น 3 เมตร

             เครื่องมุงหลังคาเป็นกระเบื้องขอรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวปลายแหลม ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 20 เซนติเมตร ทำด้วยดินเผาเนื้อแข็งแกร่งแต่แผ่นบางประมาณ 1 เซนติเมตร ไม่ได้เคลือบสี เครื่องประดับหลังคาใช้รูปสัตว์เช่นนาค ตัวมังกรแทนช่อฟ้า ตัวนาคลำยองเป็นคลีบนาค หน้าบันเป็นลายแกะไม้ แกมกระจกเป็นช่องรูปกระดานลูกฟัก แกะเป็นลายเครือเถา ตัวลายนูนเด่น ช่องไฟระหว่างลายห่างเน้นตัวลาย มากกว่าปกติ ลักษณะอาคารเน้นทางเข้าด้านหน้าโดยสังเกตได้จากการทำขนาดประตูมุขโถงสูงใหญ่เปิดโล่ง และใช้ สิงห์ประดับอยู่ข้างประตู ส่วนประตูข้างไม่มีความสำคัญมาก เพราะสร้างลึกไปทางด้านหลัง แม้จะมีมุขข้างคลุม ประตู แต่ขนาดของมุขเล็กมาก และฝีมือช่างไม่กลมกลืนกับอาคารทั้งหมด เข้าใจว่าต่อเติมขึ้นภายหลัง เนื่องจาก ต้องการประโยชน์ใช้สอยเดินเชื่อมกับกุฏิที่ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระวิหาร

 

 

           ประวัติจิตรกรรมฝาผนัง

  ประวัติจิตรกรรมฝาผนังไม่ได้บันทึกไว้เป็นหลักฐานเช่นเดียวกับประวัติวัด การสืบค้นประวัติจึงอาศัย ข้อมูล 2 ทาง คือสืบจากคำบอกเล่า และสืบจากรายละเอียดที่แสดงไว้ในภาพเขียน สำหรับคำบอกเล่านี้ได้รับความ เมตตาจากพระครูมานิตบุญยการ

           พระครูมานิตบุญญการ ได้รับการถ่ายทอดจาก นายเทพ ผู้เป็นบิดา ขณะที่นายเทพ อายุ 25 ปี รับราชการ เป็นทหารของ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ตรงกับพ.ศ.2410 นายเทพ ได้ติดตามกองทัพของเจ้าเมืองน่านไปรบที่เมือง พวน ซึ่งเป็นเมืองในปกครองของแคว้นหลวงพระบาง ศึกคราวนั้นตรงกับศักราชปีใด และรบกับเมืองพวนด้วย สาเหตุอะไรไม่ทราบ เมื่อเจ้าเมืองพวนยอมอ่อนน้อมและยึดเมืองพวนได้ จึงยกทัพกลับ นายเทพได้ช่างเขียนลาว พวนคนหนึ่งชื่อว่าทิดบัวผันติดตามกองทัพมาเมืองน่าน และนำมาเป็นช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนังในพระ วิหารวัดหนองบัว เรื่องจันทคาธ การเขียนครั้งนั้นยังมีพระภิกษุวัดหนองบัวชื่อ แสนพิจิตร(สกุล เทพเสน) และ นายเทพ เป็นผู้ช่วยเขียนด้วยจนแล้วเสร็จ จึงอนุญาตให้ทิดบัวผันเดินทางกลับเมืองพวน

 

 

     ส่วนจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว พระครูมานิตบุญยการได้เล่าว่า ท่านบวชเป็นเณรอยู่ที่วัดหนองบัวเมื่อ อายุได้ 12 ปี ตรงกับพ.ศ.2449 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นมีภาพจิตรกรรม ฝาผนังแล้ว สภาพทั่วไปยังสมบูรณ์ดี ท่านเข้าใจว่าเขียนมานานแล้ว จะเป็นปีใดไม่ได้ติดใจสืบถามไว้ *(2)

    จากเรื่องเล่านี้ พอสรุปความได้ว่า นายเทพ เป็นผู้ริเริ่มในการเขียนจิตรกรรมฝาผนัง โดยหาช่างเขียนชาว ลาวพวนมาเป็นช่างเขียน และเชื่อว่าจิตรกรรมฝาผนังนี้เขียนขึ้นในระหว่าง พ.ศ.2410 อันเป็นปีที่นายเทพรับ ราชการทหารกับเจ้าเมืองน่าน ถึงก่อนปี พ.ศ.2449 เล็กน้อย ซึ่งเป็นปีที่พระครูมานิตบุญยการ บวชเณร ณ วัดหนอง บัวเมื่ออายุ 12 ปี และได้เห็นจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารมีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

 

 

    ประมาณการอายุภาพตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ.2410 ถึงเกินปี พ.ศ.2430 สักเล็กน้อย หรืออายุภาพรวม ประมาณ 122 – 142 ปีเศษ (ในปี พ.ศ. 2552 )

     ข้อคิดเห็นของ รศ.สน สีมาตรัง

ตามที่ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าด้านรูปแบบงานศิลปะจิตรกรรมฝาผนังล้านนาภายหลัง โดยเฉพาะจิตรกรรม ฝาผนังวัดหนองบัว ได้มีข้อมูลบางประการทำให้เชื่อว่าศิลปินผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว น่าจะเป็น ช่างเขียนชาวไทลื้อมากกว่าชาวลาวพวน และเมื่อได้จัดพิมพ์หนังสือ โครงสร้างจิตรกรรมล้านนา*(3) เมื่อ ปี พ.ศ. 2526 ผู้เขียนจึงได้เขียนคำบรรยายภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว ในหนังสือดังกล่าวว่า ฝีมือช่างเขียน ชาวไทลื้อและมักจะพูดถึงชื่อ ทิดบัวผันเป็นศิลปินชาวไทลื้อ บ่อยครั้งกับผู้สนใจสอบถามประวัติจิตรกรรมฝา ผนังวัดหนองบัว มาโดยตลอด แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสอธิบายความเชื่อที่แตกต่างจากข้อมูลที่ได้รับจาก พระครูมานิต บุญยการ เมื่อปี พ.ศ. 2521 ต่อมาเมื่อล่วงเลยเวลาหลายปีก็ยิ่งทำให้ลำบากต่อการลำดับข้อมูลสนับสนุนภายหลัง จึงมี แต่เพียงหนังสือโครงสร้างจิตรกรรมล้านนาเท่านั้นที่เป็นเอกสารซึ่งผู้เขียนได้อ้างถึงชื่อทิดบัวผันช่างเขียน ชาวไทลื้อ เป็นข้อมูลสำหรับอ้างอิ่งการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับศิลปินผู้เขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว ภาพพระอินทร์กำลังดีดพิณ ถวาย พระพุทธเจ้าที่ทรงไสยาสน์ เป็นนัยยะการ พิจารณาธรรมในทางสายกลาง เป็นภาพที่ งดงามมีลักษณะแบบอย่างศิลปะล้านนา เด่นชัด ภาพนี้ช่างเขียนไว้บนผนังสกัด ด้านหน้าพระประธาน

       

 

            สภาพพระวิหารและจิตรกรรมฝาผนังปัจจุบัน

พระวิหารวัดหนองบัวเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลป์มาก เท่าที่สำรวจดูสถาปัตยกรรมในเขตเมืองน่านปัจจุบันจะพบพระวิหารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยล้านนาที่ สมบูรณ์แบบ ปราศจากอิทธิพลสถาปัตยกรรมกรุงเทพฯ ขึ้นไปผสมเลยเพียง 2 หลังเท่านั้น คือ พระวิหารด้านทิศ เหนือของพระธาตุแช่แห้งหลังหนึ่ง และที่วัดหนองบัวเป็นหลังที่สอง

 

            ส่วนผนังกำแพงภายในอาคารทั้งสี่ด้านที่ใช้เป็นที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้น ระดับผนังที่มีจิตรกรรม เริ่มตั้งแต่ระดับความสูง 1.50 เมตรขึ้นไปจนจรดหลังคา ปัจจุบันระดับความสูงจากพื้นระหว่าง 1.00-2.00 เมตร เป็น ระดับที่ความชื้นจากพื้นดินดูดซึมขึ้นไปถึง ภาพเขียนบริเวณดังกล่าวได้ลบเลือนเกือบหมด เหลือบางแห่งให้เห็น เป็นลายเส้นลาง ๆ ยากแก่การสันนิษฐานเป็นภาพได้ ระดับที่เหนือขึ้นไปยังเป็นภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์สามารถดูรู้ เรื่องราวได้ ผนังด้านทิศเหนือเป็นด้านที่ภาพจิตรกรรมชำรุดเสียหายมากที่สุด ลบเลือนไปบ้าง กระเทาะร่วงหล่นไป ก็มาก สาเหตุจากความชึ้น น้ำฝนรั่วมาก และปูนเสียอายุ ผนังด้านนี้มีความสมบูรณ์ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ผนังด้าน ทิศใต้มีความสมบูรณ์ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผนังด้านหลังและด้านหน้าพระประธานมีความสมบูรณ์ ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผนังด้านทิศเหนือได้รับความเสียหายเนื่องจากการซ่อมแซมและขยายหน้าต่าง ให้ใหญ่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2469 ได้ทำลายเนื้อที่ภาพจิตรกรรมไปไม่น้อย เทคนิคของจิตรกรรมเป็นสีฝุ่นผสมกาว

 

 

            เรื่องราวในจิตรกรรมฝาผนัง

    เรื่องราวในจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัวมีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องจันทคาธชาดก และเรื่องพุทธ ประวัติ เรื่องจันทคาธชาดกเริ่มตั้งแต่ผนังด้านทิศเหนือมุมสุดข้างพระประธาน เล่าเรื่องเรื่อยมาถึงผนังด้านตรงข้าม พระประธาน และวกต่อไปจนสุดผนังทิศใต้ที่มุมพระประธาน ส่วนเรื่องพุทธประวัติมีแสดงไว้ 2 แห่ง แห่งที่ 1 เบื้องหลังพระประธานทั้งหมดเป็นภาพแสดงอดีตพระพุทธเจ้า อีกแห่งหนึ่งอยู่ตอนบนสุดของผนังตรงข้ามพระ ประธานเป็นภาพแสดงพระอินทร์กำลังดีดพิณสามสายอยู่ข้างพระพุทธเจ้าทรงพระไสยาสน์

     ในจำนวนทั้ง 2 เรื่องนี้ช่างเขียนให้ความสำคัญแก่จันทคาธชาดกมาก โดยพิจารณาจากการใช้พื้นที่เขียน ภาพจิตรกรรมมากเกือบหมดทั้งพระวิหาร

            เรื่องจันทคาธชาดก เป็นนิทานธรรมเก่าแก่อันดับที่ 11 ในหนังสือปัญญาสชาดกปัจฉิมภาค *(4) เรื่องนี้ ปรากฏเป็นภาพเขียนที่วัดหนองบัวเพียงวัดเดียว ยังไม่พบในที่อื่น โดยมากจะพบเป็นรูปหนังสือวรรณกรรม ซึ่ง นักปราชญ์ชาวล้านนาได้แต่งเป็นภาษาพื้นเมือง (เชียงใหม่) เป็นคัมภีร์เทศน์แบบร้อยกรอง เป็นคำเรียงธรรมดา ปรากฏอยู่ตามหอธรรม (หอพระไตรปิฏก) ของภาคเหนือมากมาย ชาวบ้านในภาคเหนือเรียกคัมภีร์ชาดก เหล่านี้ว่า “ธรรมค่าว” จันทคาธชาดก เป็นนิทานธรรมที่นิยมแพร่หลายทั้งล้านนาและล้านช้าง ใช้สอนกุลบุตรและกุลธิดาให้ รับแบบอย่างจริยธรรมที่ดีงามประพฤติปฎิบัติในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น การเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความ เป็นผู้มีกตัญญูกตเวที เป็นผู้มีความซื่อสัตย์และความเมตตากรุณา กุศโลบายที่ดีเด่นของโบราณนั้นก็คือการสร้าง บุคลิกภาพของบุคคลในเนื้อเรื่องให้คนได้นับถือแบบอย่างทางด้านดีละเว้นความชั่วและถือประพฤติปฏิบัติใน ชีวิตประจำวัน      

 

      

             รศ.วัฒนาพร เขื่อนสุวรรณ เขียนมาว่า

            ผมมีเอกสารชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับวัดหนองบัวซึ่งน่าจะเชื่อถือได้เพราะเป็นงานวิจัย จากเอกสารชิ้นนี้กล่าวว่าตัวอุโบสถสร้างโดยช่างชาวบ้านในสมัยนั้นภาพเขียนเป็นช่างชาวลาวพวน ส่วนพระพุทธรูปไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดแต่ผมสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากฝีมือชาวพื้นเมืองผสมกับชาวลาวพวนช่างเขียนกับช่างปั้นคงได้รับอิทธิพลซึ่งกันและกันถ้าสังเกตุภาพเขียนให้ดีแล้วจะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายกับภาพจิตรกรรม 

            ฉะนั้นพระพุทธรูปจึงน่าจะเป็นการผสมระหว่างศิลปะล้านนากับศิลปะลาว

 

              ผมเป็นนักวิชาการป่าไม้ครับ ผมจึงไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับศิลปะเลย แต่มีเพื่อนที่เคารพคอยให้ความคิดเห็นและเล่าให้ฟัง เขียนให้อ่าน ดังนี้ ผมจึงนำข้อเขียนของท่านอาจารย์ทั้งสองมาพรรณนาแทนเสียสิ้น เพื่อให้คงรูปการบรรยายลักษณะศิลปะ สถาปัตยกรรมที่ถูกต้อง พี่น้องคงไม่ว่ากัน แฮ่  แต่อย่างไรก็ตาม การได้เข้าไปเยี่ยมยามที่วัดหนองบัวครั้งนี้ มีคุณคุ้ม

 

                      ยังไม่ทันโผล่เข้ากำแพงแก้วของวัดก็ได้ยินเสียงสะล้อซอพิณแล้ว ผู้สูงอายุทุกคนที่เล่นนั้นแต่งตัวแบบพื้นบ้านคนเมืองเหนือ แต่ละคนก็ทำหน้าที่ของตนเองอย่างคล่องแคล่วและน่าฟัง อะไรไม่ว่า นั่งล้อมวงกันอยู่ใต้ร่มไม้ใบบัง ที่แต่งแต้มด้วยมอสเฟิร์นรกครึ้ม ชวนมอง เสียอีกด้วย ด้านหน้าวิหารแห่งนี้มองเห็นปุ๊บก็ตอบได้เลยว่า สวยจัง ดูเอาจากภาพที่ถ่ายมาก็แล้วกัน 

                      ได้พบว่ามีชาวไทลื้อยืนอธิบายเรื่องราวต่างๆให้กับนักท่องเที่ยว หรือจะเป็นนักการศึกษาก็ไม่ได้สอบถาม แต่ดูตั้งอกตั้งใจฟังและจดกันจริงๆ ผมไม่ได้ฟังตลอดจึงไม่รู้รายละเอียดว่า “เปิ้ลอู้กันว่าจะไดพ้อง” (เขาพูดกันเรื่องอะไรบ้าง) แต่เป็นภาพที่งดงาม งามด้วยการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ งามด้วยลักษณะการนั่งและฟังด้วยความเคารพในสถานที่ของพุทธศาสนา

 

                        ภาพตามฝาผนังมีเรื่องราวมากมาย แต่ทุกชิ้นสื่อถึงชาติเชื้อเผ่าพันธุ์ สำแดงเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการแต่งกายของทั้งชายและหญิง พุทธศาสนาที่เคารพ กลกามแห่งความรัก(อิโรติก) แม้ภาพในวิหารวัดหนองบัวแห่งนี้จะไม่ได้กระซิบรักอย่างในโบสถ์วัดภูมินทร์ ในจังหวัดน่าน แต่ก็มีภาพที่เขียนให้เห็นใกล้เคียงกัน ได้แก่ภาพ “หนึ่งคู่ชู้ชื่นกุมมือกันเดิน” สื่อถึงความรักและความสวยงามของหนุ่มสาวคราวก่อนยุคสมัย 

                      ปัญหาใหญ่มากคือ เอกสารทุกฉบับไม่กล่าวถึงพระประธานของวิหารวัดหนองบัว แต่ประพิมพ์ประพายว่าภาพเขียนบนผนังกับพระประธานองค์จริง มีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกันมากๆ รศ.วัฒนาพรกล่าวว่า น่าจะเป็นศิลปะไทลื้อผสมศิลปะลาวพวน งานนี้โพสท์ลงเพื่อให้พี่น้องที่มีความรู้ช่วยกันเข้ามาให้ความคิดเห็นหน่อย เพราะว่าข้อมูลจากวัดหนองบัวแล้วเน้นกันไปที่วิหาร ภาพเขียนสีผนัง ช่าวเขียน   

              ด้านหลังวิหารมีกุฎีทรงไทลื้อสร้างไว้เป็นที่ขายของที่ระลึก มีวิหารน้อยอีกหลังหนึ่งแต่ก็จะไม่กล่าวถึง ปีไหนได้ไปอีกก็จะได้หยิบมาเขียนเพิ่มเติม จะผิดไหมนี่ เลี้ยงไข้เลย

                     แต่คราวนี้ได้ทิ้งภาพปริศนาหน้าบันไว้ภาพหนึ่ง ถ้าท่านไปเที่ยววัดหนองบัวเมื่อใดก็ลองมองหาภาพนี้ให้พบก็แล้วกัน สวยดีไม่น้อยครับ 

ขอขอบคุณ รศ.สน สีมาตรัง และรศ.วัฒนาพร เขื่อนสุวรรณ www.watkadarin.com

    ;.

 
 หน้าแรก  บทความ  ข่าวสาร  รวมรูปภาพ  ติดต่อเรา  เว็บบอร์ด

อัตราค่าโฆษณา    

แบบเนอร์ กลางหน้า.  ขนาด 800 x 400-600 พิกเซล เห็นหน้าแรก  5,000 บาท/เดือน

แบนเนอร์ เหนือโลโก้เว็บไซต์ ขนาด 1000 x 80 พิกเซล เห็นทุกหน้า 4,000 บาท/เดือน

 แบนเนอร์ ซ้าย  ขนาด 240 x 120-160 พิกเซล เห็นทุกหน้า 3,000 บาท/เดือน

ทำข่าวแถลง รีวิวโรงแรมและร้านอาหาร  เขียนสารคดี เชิญได้โดยตรงที่ โทร.081-9416364

ติดต่อ 135 ม.12 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140

 
view