จังหวัดพะเยา

1. สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

1.1. ตราประจำจังหวัดพะเยา

ตราประจำจังหวัดพะเยา

เป็นรูปพระเจ้าตนหลวงวัดศรีโคมคำ มีลายกระหนกเปลวบนพื้นเบื้องหลังองค์พระพุทธรูป และมีช่อรวงข้าวประกอบอยู่ทั้งสองข้าง ซึ่งหมายถึงรูปพระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ พระพุทธรูปคู่เมืองอันเป็นหลักรวมใจของชาวพะเยา  ลายกนกเปลวบนพื้นเบื้องหลังองค์พระพุทธรูป หมายถึง ความรุ่งเรือง เบื้องล่างริมของดวงตราเป็นกว๊านพะเยา และมีช่อรวงข้าวประกอบอยู่ทั้งสองข้าง หมายถึงลักษณะของความเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ

1.2. ดอกไม้ประจำจังหวัด

ดอกสารภี

1.3. ต้นไม้ประจำจังหวัด

สารภีไทย (Mammea siamensis)

1.4. คำขวัญประจำจังหวัด

กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต ศักด์สิทธิ์พระเจ้าตนหลวง

บวงสรวงพ่อขุนงำเมือง งามเลื่องดอยบุษราคัม

 

2. ความเป็นมา

พะเยา เดิมชื่อว่า “พยาว” หรือ “ภูกามยาว” เป็นเมืองเก่าแก่ในแคว้นล้านนา ตั้งอยู่เชิงเขาชมพูหรือดอยด้วน ใกล้แม่น้ําสายตาหรือแม่น้ำอิง ตั้งขึ้นพุทธศตวรรษที่ 16 ประมาณปี พ.ศ.1638 โดยพ่อขุนจอมธรรม กษัตริย์แห่งราชวงศ์ลั๊วะจักราช และเจริญรุ่งเรืองพร้อมกับกรุงสุโขทัย ในพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพ่อขุนงําเมืองเป็นกษัตริย์ เมืองพะเยามีความเจริญมาก มีฐานะเป็นเมืองเอก เรียกว่า “อาณาจักรพยาว” ต่อมาพะเยาถูกยึดครองและตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาของราชวงศ์เม็งราย (พ.ศ. 1877 – 1879)

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา โปรดให้พระยายุทธิษฐิระ อดีตเจ้าเมืองสองแคว ผู้มีเชื้อพระวงศ์สุโขทัย ให้มาเป็นเจ้าครองเมือง เมืองพะเยามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดทางศิลปะและวิทยาการ จากนั้นค่อย ๆ เสื่อมลง ในปีพ.ศ. 2101 พม่ายึดครองอาณาจักรล้านนาและปกครองล้านนาอยู่ 200 ปี จวบจนปี พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียึดเมืองเชียงใหม่สําเร็จ และโปรดให้พระเจ้ากาวิละครองเมืองลําปาง และยึดครองล้านนาบางส่วนรวมทั้งเมืองพะเยาคืนมาได้

ปี พ.ศ. 2330 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พม่ายกทัพมารุกรานหัวเมืองฝ่ายเหนือรวมทั้งเมืองพะเยา ประชาชนต้องอพยพไปอยู่เมืองลําปาง ทําให้เมืองพะเยาร้างไปเป็นเวลานานถึง 50 ปี

ปี พ.ศ. 2386 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้เจ้าหลวงวงศ์ นําชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลําปาง แล้วฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นมาใหม่ ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของเมืองลําปาง จากนั้น เมืองพะเยามีเจ้าผู้ครองเมืองต่อมาอีกหลายองค์ เจ้าผู้ครองเมืององค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ (เจ้าหนานไชยวงศ์ศีติสาร) ที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน มีดังต่อไปนี้

เจ้าหลวงวงศ์ เป็นผู้นำชาวเมืองพะเยา จากเมืองลำปาง แล้วฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นใหม่เป็นเจ้าเมืองพะเยา เมื่อ พ.ศ. 2387-2391เจ้าเมืองพะเยา เมื่อ พ.ศ. 2387-2391

เจ้าหลวงยศ เป็นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา เมื่อ พ.ศ. 2392-2398

เจ้าหลวงบุรีขัตติยวงศา เป็นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา เมื่อ พ.ศ. 2398-2403

เจ้าหัวหน้าอินทรชมภู เป็นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา เมื่อ พ.ศ. 2403-2413

เจ้าหลวงอริยะ เป็นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา เมื่อ พ.ศ. 2413-2436

เจ้าหลวงมหาประเทศอุดรทิศ เป็นเจ้าครองเมืองพะเยา เมื่อ พ.ศ. 2436-2448 (ระยะที่เจ้าหลวงมหาประเทศอุดรทิศ เป็นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา เป็นช่วงเวลาที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้ปฏิรูปการปกครองจากแบบเดิมเป็น“มณฑลเทศาภิบาล”)

ปี พ.ศ. 2437 - 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช รัชกาลที่ 5 โปรดให้ปฏิรูปการปกครองจากแบบเดิม เป็นการปกครองแบบ “มณฑลเทศาภิบาล” เมืองพะเยา ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ) และยุบให้มีฐานะเป็น “อําเภอเมืองพะเยา” แล้วให้เจ้าอุปราชมหาชัย ศีติสาร รักษาการในตําแหน่งเจ้าเมืองพะเยา และในปีพ.ศ. 2457 มีการเปลี่ยนระบบการปกครองใหม่ ทําให้เมืองพะเยาเป็นอําเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย 

การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลส่งผลให้เกิดการต่อต้านทั่วไป ซึ่งเรียกกันภายหลังว่า “ขบถ ร.ศ.121” รวมทั้งเมืองพะเยาก็ถูกผลกระทบด้วยในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ขบถเงี้ยวเมืองแพร่” เมื่อเหตุการณ์พวกเงี้ยวก่อความวุ่นวายสงบลงแล้ว เมืองพะเยาจึงถูกเปลี่ยนฐานะ “เมือง” เป็น “จังหวัด” แต่เรียกว่า “จังหวัดบริเวณพะเยา” ครั้น พ.ศ. 2488 ทางกรุงเทพมหานคร ก็ให้ยุบ “จังหวัดบริเวณพะเยา” ให้มีฐานะเป็น “อำเภอเมืองพะเยา” แล้วให้เจ้าอุปราชมหาชัยศีติสาร รักษาการในตำแหน่งเจ้าเมืองพะเยา

พ.ศ. 2449 เจ้าอุปราชมหาชัยศีติสาร ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรจากกรุงเทพมหานคร ให้เป็นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยาองค์สุดท้าย

พ.ศ. 2457 ให้ยุบ “อำเภอเมืองพะเยา” เป็น “อำเภอพะเยา” อยู่ในอำนาจการปกครองจังหวัดเชียงราย มีนายคลาย บุษบรรณ เป็นนายอำเภอคนแรก (ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์โทขุนสิทธิประศาสน์)

วันที่ 28 สิงหาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “จังหวัดพะเยา” ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดพะเยา ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 โดยจังหวัดพะเยาประกอบด้วยอําเภอ 7 อําเภอ ได้แก่ อําเภอเมืองพะเยา อําเภอจุน อําเภอเชียงคํา อําเภอเชียงม่วน อําเภอดอกคําใต้ อําเภอปง และอําเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก 

3. สภาพทั่วไปในปัจจุบันของจังหวัดพะเยา

ตั้งอยู่ภาคเหนือของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพมหานคร 735 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าเขา ที่ราบสูง มีระดับความสูงตั้งแต่ 300 – 1,550 เมตร จากระดับน้ำทะเล นอกนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ลักษณะภูมิอากาศเนื่องจากมีป่าไม้และภูเขาล้อมรอบ จึงทำให้อากาศหนาวมากในฤดูหนาวและอากาศไม่ร้อนจัดในฤดูร้อน มีเทือกเขาที่สำคัญ คือ เทือกเขาที่สำคัญ ได้แก่ ดอยภูลังกา ดอยสันปันน้ำ ดอยแม่สุก ดอยขุนแม่ฝาด ดอยขุนแม่ต๋ำ ดอยขุนแม่ต๋อม แม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านจังหวัดพะเยา มี 3 สาย คือ แม่น้ำอิง แม่น้ำยม และ แม่น้ำลาว

3.1. ที่ตั้งและอาณาเขต

จังหวัดพะเยา เป็นจังหวัดชายแดนตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 18 องศา 44 ลิปดา เหนือ ถึง 19 องศา 44 ลิปดา เหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 40 ลิปดา ตะวันออก ถึง 100 องศา 40 ลิปดา ตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครคิดตามระยะทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ประมาณ 735 กม.

อาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่

ทิศเหนือ ติดกับอำเภอพาน อำเภอป่าแดด และอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย

ทิศใต้ ติดกับอำเภองาว จังหวัดลำปาง และอำเภอสอง จังหวัดแพร่

ทิศตะวันออก ติดกับอำเภอสองแคว อำเภอท่าวังผา อำเภอเมืองน่าน อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน และแขวงไชยะบุลีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระยะเขตแดน 44 กม.

ทิศตะวันตก ติดกับอำเภองาว อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

3.2. ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ประมาณ 6,335.06 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,959,412 ไร่ มีพื้นที่ขนาดใหญ่ เป็นลำดับที่ 15 ของภาคเหนือ ในปี พ.ศ. 2550 พื้นที่จังหวัดพะเยา เป็นเนื้อที่ป่าไม้ 1,993,250 ไร่ หรือร้อยละ 50.34 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นเนื้อที่ถือครองทางการเกษตร 1,061,921 ไร่ หรือร้อยละ 26.82 ของพื้นที่ทั้งหมด และเป็นเนื้อที่นอกการเกษตร 904,241 ไร่ หรือร้อยละ 22.84 ของพื้นที่ทั้งหมดลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปล้อมรอบไปด้วยเทือกเขา ทั้งด้านตะวันออก ด้านตะวันตก ด้านใต้ และตอนกลางของจังหวัด เทือกเขาเหล่านี้จะทอดตัวเป็นแนวยาวจากเหนือลงใต้ มีที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูกอยู่สองข้างเทือกเขาและระหว่างลำน้ำ มีเนื้อที่ภูเขาสูงและสูงมากที่สุด ประมาณร้อยละ 47 ของพื้นที่จังหวัด มีพื้นที่เนินเขาผสมที่ราบ ประมาณร้อยละ 35 และมีที่ราบลุ่มน้อยที่สุด ประมาณร้อยละ 18 เท่านั้น

ระดับความสูงของพื้นที่จังหวัดพะเยา มีความสูงระหว่าง 300 - 1,550 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยมีเทือกเขาสูงอยู่ทางทิศตะวันตก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณอำเภอเชียงคำ อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน ทิศตะวันตกของอำเภอเมืองพะเยา และอำเภอแม่ใจ เทือกเขาเหล่านี้ทอดตัวในแนวเหนือ - ใต้ ขนานไปกับที่สูงตอนกลางที่ค่อย ๆ เทลาดลงสู่ที่ราบบริเวณ อำเภอจุน อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ และอำเภอเมืองพะเยา โดยมีเส้นขั้นระดับความสูง ไล่ระดับ ตั้งแต่ 300 - 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางสำหรับบริเวณที่ราบลุ่มและที่ลุ่ม ระดับตั้งแต่ 500 - 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางสำหรับที่ลาดเชิงเขา และระดับตั้งแต่ 1,000 - 1,550 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางสำหรับที่ราบสูงและภูเขา

ในพื้นที่ของจังหวัดพะเยานี้มีบริเวณที่ราบสูงเป็นพื้นที่ที่สำคัญ ได้แก่ บริเวณที่ราบสูงตอนกลางของจังหวัดพะเยา ในเขตอำเภอดอกคำใต้ อำเภอจุน อำเภอปง ที่ประกอบไปด้วยเทือกเขาหลายเทือกเขาอันเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธารหลายสาย เทือกเขาที่สำคัญ ได้แก่ ดอยภูลังกา ซึ่งมีระดับความสูง 1,098 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และดอยสันปันน้ำในเขตอำเภอปง ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำยม

นอกจากนี้ หากแบ่งภูมิประเทศตามลักษณะของลุ่มน้ำจะพบได้ว่าจังหวัดพะเยา มีพื้นที่อยู่ทั้งในเขตลุ่มน้ำโขงและ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนที่อยู่ในลุ่มน้ำโขง คือ พื้นที่อำเภอแม่ใจ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอดอกคำใต้ อำเภอจุน อำเภอปง (บางส่วน) และอำเภอเชียงคำ ส่วนที่อยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ อำเภอปง (บางส่วน) และอำเภอเชียงม่วน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำยม

เทือกเขาที่สำคัญของจังหวัดพะเยา ได้แก่ เทือกเขาดอยภูลังกา ดอยสันปันน้ำ ดอยแม่สุก ดอยขุนแม่ฝาด ดอยขุนแม่ต๋ำ และดอยขุนแม่ต๋อม แม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านจังหวัดพะเยามี 3 สาย คือ แม่น้ำอิง แม่น้ำลาว และแม่น้ำยม


แผนที่แสดงภาพตัดขวางของลักษณะภูมิประเทศบริเวณกว๊านพะเยา

 3.3. สภาพภูมิอากาศ

สภาพอากาศ ของจังหวัดพะเยาแบ่งได้เป็น 3 ฤดู คือ

ฤดูร้อน อยู่ระหว่าง เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนจัดในเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุด วัดได้ 39.5 องศาเซลเซียส

ฤดูฝน อยู่ระหว่าง เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ฝนตกหนาแน่นในเดือนพฤษภาคม ฝนตกตลอดปี ประมาณ 1,043.9 มิลลิเมตร มีวันฝนตก 101 วัน

ฤดูหนาว อยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวจัดในเดือนพฤศจิกายน และ เดือนมกราคม อุณหภูมิต่ำสุด วัดได้ 10.8 องศาเซลเซียส ในเดือนธันวาคม

3.4. ขนาดพื้นที่ และการใช้ประโยชน์

จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ 6,335.06 ตร.กม. หรือ 3,959,412 ไร่ ในปีพ.ศ. 2550 พื้นที่จังหวัดพะเยา เป็นเนื้อที่ป่าไม้ 3,189.2 ตร.กม. หรือ 1,993,250 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 50.34 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นเนื้อที่ถือครองทางการเกษตร 1,699.07 ตร.กม. หรือ 1,061,921 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 26.82 ของพื้นที่ทั้งหมด และเป็นเนื้อที่นอกการเกษตร 1,446.79 ตร.กม. หรือ 904,241 ไร่คิดเป็นร้อยละ 22.84 ของพื้นที่ทั้งหมด (อ้างอิงจากรายงานสถิติจังหวัด พ.ศ. 2553 สํานักงานสถิติจังหวัดพะเยา)

4. ทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรป่าไม้ ในปี พ.ศ. 2551 พื้นที่จังหวัดพะเยาส่วนที่มีสภาพเป็นพื้นที่ป่า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.36 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีเนื้อที่ 3,259.32 ตร.กม. ถือเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนของเนื้อที่ป่าต่อพื้นที่จังหวัดในลําดับที่ 3 ของกลุ่มลุ่มน้ำหลักในพื้นที่สํานักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 2 โดยประเภทของป่าที่พบส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขา คิดเป็นร้อยละ 75.18 และป่าเบญจพรรณ ร้อยละ 23.32 ส่วนป่าเสื่อมโทรม ป่าแดงและ/หรือป่าเต็งรังและ/หรือป่าโคกและ/หรือป่าแพะเสื่อมโทรม สวนป่าผสม สวนป่า ป่าไผ่ พบประปรายในพื้นที่ โดยรวมร้อยละ 2.77

ทรัพยากรน้ำ จังหวัดพะเยาตั้งอยู่ในลุ่มน้ำอิง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม้น้ำโขงในลุ่มน้ำโขงตอนกลาง โดยครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำ 7,388 ตร.กม. มีปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติ 2,247 ล้าน ลบ.ม. และบางส่วนของพื้นที่อยู่ในลุ่มน้ำยมตอนบนที่มีแม่น้ำควร แม่น้ำงิม และแม่น้ำยมตอนบนไหลผ่านสําหรับแหล่งน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลในพื้นที่จังหวัดพะเยา บริเวณแอ่งเชียงราย-พะเยา-แม่สาย มีสภาพทางธรณีวิทยา ประกอบด้วยชั้นน้ำ 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นน้ำบาดาลในตะกอนน้ำพา ยุคปัจจุบัน ตะกอนน้ำพายุคเก่า ตะกอนลานตะพักลําน้ำระดับสูง

แหล่งน้ำผิวดินที่สําคัญ ได้แก่

1. กว๊านพะเยา มีเนื้อที่ประมาณ 12,831 ไร่ หรือประมาณ 20.53 ตร.กม. ปัจจุบันสามารถเก็บกักน้ำได้ 33.84 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรท้ายกว๊านพะเยาใน ฤดูฝนได้ 300,000 ไร่ และใน ฤดูแล้งได้13,000 ไร่

2. หนองเล็งทราย เป็นแหล่งน้ำที่เป็นต้นน้ำของลําน้ำอิง ตั้งอยู่ในเขตอําเภอแม่ใจ มีเนื้อที่ประมาณ 4,000 ไร่และในปัจจุบันสามารถกักเก็บน้ําได้ 4 ล้าน ลบ.ม.

3. แม่น้ำอิง มีต้นกําเนิดจากดอยหลวง อยู่ทางทิศตะวันตกของอําเภอแม่ใจ ลําน้ำส่วนหนึ่งไหลไปรวมกันที่หนองเล็งทรายทําให้เกิดเป็นแหล่งน้ำอิง แล้วไหลลงสู่กว๊านพะเยา และไหลลงสู่ลําน้ำโขงที่อําเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีความยาวรวมทั้งสิ้น 240 กม. และมีความยาวของลําน้ําที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดพะเยา 154 กม.

4. แม่น้ำยม มีต้นกําเนิดจากดอยภูลังกาของเทือกเขาผีปันน้ำในเขตอําเภอปง แล้วไหลผ่านอําเภอเชียงม่วน ผ่านอําเภอสอง จังหวัดแพร่ ไหลมาบรรจบกันที่แม่น้ำน่าน อําเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดพะเยา มีความยาว 120 กม. โดยมีความยาวรวม ทั้งสิ้น 770 กม.

(อ้างอิงข้อมูลจาก สํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพะเยา,2557)

5. การปกครอง

จังหวัดพะเยา ประกอบด้วย อําเภอ 9 อําเภอ คือ เมืองพะเยา แม่ใจ เชียงคํา ดอกคําใต้ ปง จุน เชียงม่วน ภูซาง และภูกามยาว แบ่งเป็น 68 ตําบล 779 หมู่บ้าน/39 ชุมชน (อยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา จํานวน 13 ชุมชน และเทศบาลเมืองดอกคําใต้ 26 ชุมชน)

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดพะเยา ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลเมือง 2 แห่ง เทศบาลตําบล 33 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตําบล 36 แห่ง

(อ้างอิงข้อมูลจาก สํานักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ณ วันที่ 30 เดือน กันยายน 2556, ที่ทําการปกครองจังหวัดพะเยา และสํานักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดพะเยา)

6. ข้อมูลประชากร

จังหวัดพะเยา มีประชากร 487,589 คน แบ่งเป็น ชาย 238,318 คน และหญิง 249,271 คน มีจำนวนบ้านทั้งสิ้น 178,271 หลัง ความหนาแน่นประชากร โดยเฉลี่ยประมาณ 76.96 คน ต่อ ตารางกิโลเมตร

(อ้างอิงจากที่ทำการปกครองจังหวัดพะเยา ณ เดือน กันยายน 2556)

จังหวัดพะเยามีชาวบ้านอาศัยอยู่ตามบริเวณเทือกเขาสูง จํานวน 5 เผ่า ได้แก่ เผ่าเย้า แม้ว ถิ่น ลีซอ อาข่า และ ชนกลุ่มน้อย 2 กลุ่ม ได้แก่ ไทลื้อ ลาว โดยกระจายอยู่ตามอําเภอต่าง ๆ เช่น เชียงคํา แม่ใจ เมืองพะเยา ดอกคําใต้ เชียงม่วน และ ภูซาง มีจํานวนประชากร 19,561 คน 4,023 ครัวเรือน (อ้างอิงจากศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ 31 จังหวัดพะเยา ณ เดือน ธันวาคม 2556)

6.1 การเกษตร

ในปี พ.ศ. 2553 จังหวัดพะเยามีเนื้อที่ถือครองการเกษตร 1,307,438 ไร่ เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งสิ้นประมาณ 741,875 ไร่ พื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ ประมาณ 374,242 ไร่ พื้นที่ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นประมาณ 191,321 ไร่ ที่เหลือเป็นเนื้อที่ทำการเกษตรอื่นๆ อาชีพหลักของประชากรคือ การทำนา เลี้ยงสัตว์ ทำการประมง พืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หอมแดง กระเทียม ขิง ยาสูบ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง มะขาม และยางพารา เป็นต้น

6.2 การศึกษา

ในปีการศึกษา 2553 จังหวัดพะเยามีสถานศึกษา จำนวน 314 แห่ง มีนักเรียน/ นักศึกษา รวมจำนวน 86,218 คน แยกเป็นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 81,680 คน นอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 4,538 คน 

6.3 การสาธารณสุข

ในปี 2555 จังหวัดพะเยามีสถานบริการของสาธารณสุขภาครัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วยโรงพยาบาลทั่วไป 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพะเยา มีจำนวนเตียงผู้ป่วย 400 เตียง, โรงพยาบาลเชียงคำ มีจำนวนเตียงผู้ป่วย 225 แห่ง, โรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแม่ใจ โรงพยาบาลดอกคำใต้ โรงพยาบาลจุน โรงพยาบาลปง โรงพยาบาลเชียงม่วน ,โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 94 แห่ง และสถานบริการสาธารณสุขชุมชน 15 แห่ง มีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม ขนาดเตียงผู้ป่วย 30 เตียง 1 แห่ง และมีศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมือง 2 แห่ง

สถานบริการของสาธารณสุขภาคภาคเอกชนประกอบด้วย โรงพยาบาลเอกชน ขนาดเตียงผู้ป่วย 100 เตียง จำนวน 1 แห่ง คลินิกเวชกรรม 48 แห่ง คลินิกทันตกรรม 11 แห่ง คลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์ 6 แห่ง คลินิกเทคนิคการแพทย์ 3 แห่ง และคลินิกการแพทย์แผนไทย 1 แห่ง ร้านขายยาแผนปัจจุบัน 46 แห่ง ร้านขายยาบรรจุเสร็จไม่ใช่ยาอันตราย 17 แห่ง ร้านขายยาแผนโบราณ 5 แห่ง ผลิตยาแผนโบราณ 1 แห่ง

7 แหล่งท่องเที่ยว

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ได้แก่ กว๊านพะเยา หนองเล็งทราย น้ำตกผาแดง อ่างเก็บน้ำแม่ปืม ถ้ำผากุด อุทยานแห่งชาติดอยหลวง(น้ำตกจำปาทอง) อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง (น้ำตกธารสวรรค์-ฝั่งต้า) อุทยานแห่งชาติภูซาง (น้ำตกภูซาง) วนอุทยานภูลังกา วนอุทยานบ้านถ้ำ วนอุทยานไดโนเสาร์แก่งหลวง หน้าผาเทวดา ฯลฯ

แผนที่ท่องเที่ยวรอบกว๊านพะเยา

7.1 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

ได้แก่ วัดศรีโคมคำ (วัดพระเจ้าตนหลวง) วัดติโลกอาราม หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดอนาลโยทิพยาราม วัดป่าแดงบุญนาค วัดราชคฤห์ วัดศรีจอมเรือง พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี) กลุ่มวัดไทลื้อ (วัดหย่วน วัดแสนเมืองมา วัดท่าฟ้าใต้ ฯลฯ) กลุ่มวัดไทยใหญ่ (วัดนันตาราม วัดพระเจ้านั่งดิน ฯลฯ) วัดศรีสุพรรณ วัดพระธาตุดอยหยวก วัดศรีปิงเมือง อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง โบราณสถานเวียงลอ โบราณสถานบ้านร่องไฮ แหล่งเครื่องถ้วยเวียงบัว หมู่บ้านไทลื้อ หมู่บ้านชาวเขาเผ่าเย้าปางปูเลาะ เป็นต้น

7.2 กิจกรรมการท่องเที่ยว 12 เดือน 

เช่น งานอนุสรณ์ผู้เสียสละ งานเปิดโลกอุตสาหกรรมอัญมณี งานบวงสรวงพ่อขุนงำเมือง งานปใหม่เมืองกว๊านพะเยา งานปี๋ใหม่เมืองไทลื้อ เทศกาลลิ้นจี่และของดีจังหวัดพะเยา ประเพณีไหว้สาพระเจ้าตนหลวง (ประเพณีแปดเป็ง) งานถนนคนเดิน เทศกาลยี่เป็งลอยโคมที่กว๊านพะเยา งานสืบสานตำนานไทลื้อ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
  • กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดพะเยา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง