ผญา คติสอนใจประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2567:: อ่านผญา 
กินเหมิดแล้วภายลุนอย่าได้จ่ม บาดห่าลงฮอดท้องแสนสิฮ้องกะบ่คืนได้แล้ว แปลว่า กินหมดแล้ว อย่าได้บ่นถึงในภายหลัง เมื่อกินลงท้องไปแล้ว จะเอาคืน ย่อมไม่ได้ หมายถึง ไม่ควรอาลัยอาวรณ์กับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ควรทำขณะปัจจุบันให้ดีที่สุด

สารานุกรมแมลงแห่งอีสาน  

แมงเงา (อำมาตย์ดำดิน)...สารานุกรมแมลงแห่งอีสาน --- โดยอีสานจุฬาฯ
แมงเงา (อำมาตย์ดำดิน)






ชื่อพื้นบ้าน แมงเงา(อีสาน) แมงเวา( เหนือ)  แมงป่องช้าง(กลาง)  ( อำมาตย์ดำ)
ชื่อสามัญ:Giant scorpion
ชื่อวิทยาศาสตร์: Heterometrus sp.
ชื่อวงศ์: Scorpionidae
ลักษณะทั่วไป  
          แมงเงาเป็นสัตว์มี ลำตัวเป็นปล้อง มีขาจำนวน 8 ขาอวัยวะที่โดดเด่น คือ "ก้ามใหญ่" (pedipalps)
ลำตัวประกอบด้วยปล้อง 7 ปล้อง    สีดำตับหมัด  แมงเงามีตา แต่มีประสิทธิภาพการมองเห็นต่ำมาก
ไม่ไวต่อแสง แม้มีข้อด้อย เรื่อง”สายตาบ่ค่อยเห็นหุ่ง” แต่ก็มีสิ่งทดแทนนั่นคือ “ขน” ทั่วตัวแมงป่อง
ปกคลุมด้วยเส้นขนนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะบริเวณปล้องพิษ หรือปล้อง “ไล”
ขนเหล่านี้รับความรู้สึกจากเสียงมาก รับรู้จึงเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ รอบตัว เมื่อมีเหยื่อหรือศัตรูเข้ามาใกล้



ภาพจาก อินเตอร์เน็ต

อาหารของแมงเงา
         ได้แก่ พวกสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น แมงมุม กิ้งกือ หนอน และแมลงอื่นๆ โดยจะกินขณะที่เหยื่อยังไม่ตาย
แมงเงาจะใช้ก้ามจับเหยื่อก่อนแล้วใช้หางที่มีเหล็กไนต่อยเหยื่ออย่างรวดเร็ว
ซ้ำหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งเหยื่อตายแมงเงาจึงจะใช้ก้าม ตัดอาหารออกเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนที่จะกิน

ชีววิทยาของแมงเงา
        แมงเงาจะตั้งท้องนานประมาณ 7 เดือน จากนั้นจะออกลูกออกมาเป็นตัวในช่วงเดือนพฤษภาคม
ถึงสิงหาคม ช่วงฤดูฝนที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์
         ก่อนตกลูก แม่แมงป่องจะซ่อนตัวในที่ปลอดภัย ลูกแมงป่องเกิดใหม่จะคลานไปมาบริเวณ
ใต้ท้องแม่   แมงเงาตกลูกครั้งละประมาณ 7-28 ตัว
ลูกแมงป่องเกิดใหม่จะปีนขึ้นไปเกาะกลุ่มเป็นก้อนสีขาวยั้วเยี้ยบนหลังแม่แมงป่อง
ซึ่งระยะนี้แม่แมงป่องจะกินอาหารและน้ำน้อยมาก และไม่เคลื่อนย้ายไปไหนหากไม่จำเป็น        
ลูกแมงป่องช้างแรกเกิดมีสีขาวล้วน ยกเว้นตาที่เป็นจุดดำสองจุด  ใช้เวลา 2 สัปดาห์
จึงออกจากหลังแม่ลงสู่พื้นดิน
หลังจากที่ลงสู่พื้นดิน ลูกแมงป่องช้างแต่ละตัวมีอัตราการเจริญเติบโตไม่เท่ากัน
มีการลอกคราบเพื่อการเจริญเติบโต 7 ครั้ง ช่วงนี้เป็นช่วงที่อ่อนแอ
และมีโอกาสถูกจับกินได้ง่ายทั้งจากผู้ล่าอื่น  และจากการกินพวกเดียวกันเอง




ภาพแสดง การลอกคราบของแมงเงา จนถึงเติบโตเต็มวัย  ( ภาพจาก กูลเกิล)

การเจริญเติบโตตั้งแต่แรกเกิดจนเป็นตัวเต็มวัยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี จึงจับคู่ผสมพันธุ์ ออกลูกปีละครั้ง
และในช่วงชีวิตหนึ่งมีลูกได้อย่างน้อย 2 ครั้ง แมงป่องช้างเป็นพวกที่ชอบขุดรูอยู่ใต้ดินหรือตามใต้ขอนไม้
โดยในโพรงพบว่ามีการเลี้ยงดูลูกในแต่ละรุ่นเป็นระยะเวลายาวนาน 1-2 ปี ในโพรงจึงพบลูกหลายๆ รุ่นอยู่ด้วยกัน
เรียกว่าพฤติกรรมการอยู่รวมกันแบบกึ่งสังคม (Advanced sub social behavior)
พฤติกรรมที่น่าสนใจของแมงป่องคือการเลี้ยงดูลูก เช่นพบพฤติกรรมการป้อนน้ำให้ลูกของแมงเงาภายนอกโพรง
ใกล้ๆบริเวณปากรู แม่ช่วยจับเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ให้ลูก อีกทั้งป้องกันอันตรายให้ลูก



ภาพลูกแมงเงา อยู่บนหลังแม่ (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
ศัตรูตามธรรมชาติ ได้แก่   

ไก่แม่ลูกอ่อน   นกกด (นกกระปูด)  แหลวหอน ( เหยี่ยวนกเค้า)  คันคาก (คางคก)
        แมงเงาพวกเดียวกันเอง   อีเห็น  พังพอน

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแมงป่อง
• แมงป่องทุกชนิดมีพิษ เป็นสารประกอบพวกโปรตีน แต่ละชนิดมีความรุนแรงของพิษแตกต่างกัน
• แมงป่องใช้พิษเพื่อทำให้เหยื่อมีอาการเป็นอัมพาต แล้วจึงค่อยๆ กินเหยื่อเป็นอาหาร
แมงป่องจึงเป็นผู้ล่าที่สำคัญต่อระบบนิเวศ ช่วยควบคุมจำนวนของเหยื่อได้แก่ แมลง
และสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กๆ
• ปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับพิษของแมงป่องเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น
ใช้พิษแมงป่องฆ่าเซลล์มะเร็ง
• แมงป่องบางชนิด เช่น แมงป่องช้าง ถูกนำมาบริโภคเป็นอาหารและด้วยความเชื่อในเรื่องสรรพคุณทางยา
เช่น ยาโด๊บ  การรักษาโรคอัมพาต เป็นต้น


ภาพแมงเงายักษ์ ที่พระธาตุดอยเวา ( ดอยแมงเวา)  ภาคเหนือ เขาเรียกว่า แมงเวาเด้อ

ภาพจาก กูลเกิล

อื่นๆ
แมงเงาเป็นเงา เป็นแมลงที่มีพิษ หาถูกรุกราน   จะตอดเอาได้ อาการเมื่อถูก “ตอด”
คือ  เจ็บแสบ  มึนชา บวมแดงรู้สึก มึน ยาบๆ  มึนฮอด “ฝีสบ”  
บางรายแพ้พิษ ไข้แตกออก  ร้อนๆหนาวๆ  


 
Creative Commons License

ชมรมอีสานจุฬาฯ... สารานุกรมแมลงแห่งอีสาน