<< Go Back

                 กระเพาะอาหาร (Stomach) อยู่ทางด้านซ้ายของร่างกาย ใต้กะบังลม (Diaphragm) ในสภาพไม่มีอาหารบรรจุอยู่ จะมีปริมาตร 50 ลูกบาศก์เซนติเมตร แต่เมื่อมีอาหารสามารถขยายได้ถึง 10-40 เท่า

                 ส่วนต่างๆของกระเพาะอาหาร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

                 1. Cardiac Region หรือ Cardium เป็นส่วนของกระเพาะอาหารตอนบนอยู่ต่อจากหลอดอาหาร มีกล้ามเนื้อหูรูด เรียกว่า Cardiac Sphincter ป้องกันไม่ให้อาหารภายในกระเพาะอาหารย้อนกลับสู่หลอดอาหาร

                 2. Fundus เป็นกระเพาะอาหารส่วนกลาง มีลักษณะเป็นกระพุ้งใหญ่ที่สุด

                 3. Pylorus หรือ Pyloric Region เป็นกระเพาะอาหารส่วนปลายติดต่อกับลำไส้เล็กตอนต้น (Duodenum) มีลักษณะเล็กเรียวแคบลง ตอนปลายสุดของกระเพาะอาหารส่วนนี้มีกล้ามเนื้อหูรูด เรียกว่า Pyloric Sphincter ป้องกันไม่ให้อาหารออกจากกระเพาะอาหาร

ส่วนต่างๆของกระเพอาหาร

                 ลักษณะผนังกระเพาะอาหาร ประกอบด้วยกล้ามเนื้อเรียบ 3 ชั้น ดังนี้

                 1. ชั้นนอก เป็นกล้ามเนื้อเรียบตามแนวยาว

                 2. ชั้นกลาง เป็นกล้ามเนื้อวงตามขวาง

                 3. ชั้นในสุด เป็นกล้ามเนื้อในแนวทแยง ลักษณะพับไปมา เรียกว่า Rugae ช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการย่อยอาหาร

ลักษณะผนังกระเพาะอาหาร

                 กลุ่มเซลล์ภายในกระเพาะอาหาร แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

                 1. Mucous Epithelial Cell หรือ Mucous Neck Cell ทำหน้าที่สร้างน้ำเมือกที่มีฤทธิ์เป็นเบส ฉาบผิวของกระเพาะ อาหารไม่ให้เป็นอันตราย

                 2. Parietal Cell หรือ Oxyntic Cell ทำหน้าที่สร้างกรดไฮโดรคลอริก (HCl) เข้มข้น เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร

                 3. Chief Cell หรือ Zygamatic Cell ทำหน้าที่สร้าง Pepsinogen และ Prorennin ซึ่งเป็น Proenzyme

กลุ่มเซลล์ภายในกระเพาะอาหาร

                 หน้าที่ของกระเพาะอาหาร มีดังนี้

                 - เป็นที่เก็บสะสมอาหาร

                 - เป็นอวัยวะย่อยอาหาร

                 - ลำเลียงอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กในอัตราที่พอเหมาะ

                 -สร้างสาร Intrinsic Factor (IF) ควบคุมกการดูดซึมวิตามินบี12ที่ลำไส้เล็ก เพื่อใช้ในกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง

                 การย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร มี 2 วิธี ดังนี้

                 1. การย่อยเชิงกล เมื่อก้อนอาหาร (Bolus) จากหลอดอาหารตกถึงกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารจะมีการเคลื่อนไหวแบบคลื่นคลุกเคล้าอาหาร (Tonic Contraction) เพื่อให้อาหารผสมกับน้ำย่อย และมีการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างแรงมากเป็นช่วงๆ (Peristalsis) เพื่อดันให้อาหารเคลื่อนลงสู่ส่วนล่างของกระเพาะอาหาร

                 2. การย่อยทางเคมี โดยใช้เอนไซม์ที่สร้างขึ้นจากต่อมในกระเพาะอาหาร

                 สารและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการย่อยในกระเพาะอาหาร

                 1. HCl มี pH อยู่ระหว่าง 0.9-2.0

                 2. Pepsinogen เป็น Proenzyme ต้องได้รับ HCl จึงเปลี่ยนเป็นเพปซิน (Pepsin) สำหรับย่อยโปรตีนเป็นเพปไทด์ ซึ่งประกอบด้วยกรดอะมิโน 4-12 โมเลกุล

                 3. Prorennin เป็น Proenzyme ต้องได้รับ HCl จึงเปลี่ยนเป็นเรนนิน (Rennin) สำหรับย่อยโปรตีนในน้ำนม

                 4. Lipase สร้างขึ้นในปริมาณน้อยมาก เพราะสภาพเป็นกรดของกระเพาะอาหาร

                 5. Gastrin เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากเซลล์ในกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่กระตุ้นให้ Parirtal Cell หลั่ง HCl ออกมา

                 การทำงานของกระเพาะอาหาร แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

                 1. Cephalic Phase เป็นระยะรับกลิ่น รส หรือนึกถึงอาหาร เส้นประสาท Vagus จากสมองจะกระตุ้นให้กระเพาะเคลื่อนที่และการหลั่งสาร

                 2. Gastric Phase เป็นระยะที่ก้อนอาหาร (Bolus) เข้าสู่กระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารจะเคลื่อนที่และการหลั่งฮอร์โมน Gastrin จากชั้นมิวโคซาจากชั้นของกระเพาะอาหาร ไปกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่ง HCl ออกมารวมกับ Pepsinogen

                 3. Intestinal Phase เป็นระยะที่อาหาร (Chyme) ออกจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วน Duodenum เนื้อเยื่อมิวโคซาของ Duodenum จะหลั่งฮอร์โมน Secretin ออกมายับยั้งการหลั่งฮอร์โมน Gastrin

 

             ที่มา : http://www.surin.js.ac.th/5การย่อยอาหารที่กระเพาะและลำไส้เล็ก/

<< Go Back