วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555



                         วิธีการปลูกกล้วยไม้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยบังคับการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ ถ้าใช้วิธีการปลูกที่ไม่เหมาะสม กล้วยไม้ก็ไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร ดังนั้นผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้จึงจำเป็นต้องศึกษาความต้องการของกล้วยไม้แต่ละชนิด เลือกภาชนะปลูกและเครื่องปลูก รวมทั้งวิธีการปลูกให้เหมาะสมกับกล้วยไม้ชนิดนั้นๆ

ภาชนะปลูก     
           ภาชนะที่ใช้ในการปลูกกล้วยไม้มีส่วนสำคัญต่อการเจริญงอกงามของกล้วยไม้ ดังนั้นจึงควรจัดภาชนะปลูกให้เหมาะกับการเจริญของรากกล้วยไม้แต่ละประเภท ภาชนะสำหรับปลูกกล้วยไม้มีหลายชนิด ดังนี้ 


 กระถางดินเผาทรงเตี้ย     เป็นกระถางดินเผาขนาดปากกว้าง 4-6 นิ้ว สูง 2-4 นิ้ว เจาะรูที่ก้นและรอบกระถาง เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง การปลูกไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องปลูกใดๆ หรืออาจใส่ถ่านไม้ มะพร้าวสับ วางให้โปร่งก็พอ วางต้นกล้วยไม้กลางกระถางแล้วใช้เชือกหรือลวดเส้นเล็กๆ ผูกติดกับก้นกระถาง

กระถางดินเผาทรงสูง     เป็นกระถางดินเผาขนาดปากกว้าง 3-4 นิ้ว สูง 4-5 นิ้ว เจาะรูที่ก้นและรอบกระถางแต่รูน้อยกว่ากระถางทรงเตี้ย เหมาะกับกล้วยไม้ที่ต้องการเครื่องปลูกหรือกล้วยไม้รากกึ่งอากาศ เช่น คัทลียา หวาย โดยปลูกด้วยกาบมะพร้าวอัดเรียงตามแนวตั้งจนแน่น ยึดรากและโคนกล้วยไม้ตรงกลางกระถางให้แน่น



กระเช้าไม้สัก     ทำจากไม้สักหรือไม้ชนิดอื่น นิยมทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีขนาดตั้งแต่ขนาด 4x4 นิ้ว ถึง 10x10 นิ้ว เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ มีต้นใหญ่ รากใหญ่ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง การปลูกด้วยกระเช้าไม้สักภายในไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องปลูกใดๆ หรืออาจใส่ถ่านไม้ก้อนใหญ่ๆ 2-3 ก้อนวางให้โปร่งก็พอ วางต้นกล้วยไม้กลางกระถางแล้วใช้เชือกหรือลวดเส้นเล็กๆ ผูกติดกับก้นกระเช้า 





กระเช้าพลาสติก     เป็นกระเช้าที่ทำจากพลาสติกสีดำ ราคาถูก มีหลายแบบ หลายขนาด แต่ที่นิยมใช้มี 2 ขนาด คือ ขนาดทรงเตี้ยใช้ปลูกกล้วยไม้แวนด้า และ ขนาดทรงสูงใช้ปลูกกล้วยไม้หวาย ลักษณะการปลูกเช่นเดียวกับกระถางดินเผาทรงเตี้ยและกระถางดินเผาทรงสูง 



กระถางดินเผามีรูก้นกระถาง     เป็นกระถางดินเผาชนิดเดียวกับที่ใช้ปลูกต้นไม้ทั่วไป มีรูระบายน้ำอยู่ที่ก้นกระถางเพียงรูเดียว ทั้งแบบทรงสูงทั่วไปและแบบทรงเตี้ย มีขนาดตั้งแต่ 4-10นิ้ว นิยมใช้ปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากกึ่งดิน เช่น กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลเอื้องพร้าว สกุลคูลู และสกุลสเปโธกล๊อตติส





ท่อนไม้ที่มีเปลือก     โดยผูกกล้วยไม้ติดกับท่อนไม้ที่มีเปลือกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุต ปลายหนึ่งของท่อนไม้ยึดติดกับลวดใว้สำหรับแขวนกับราว เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง สกุลแวนด้า


ต้นไม้ใหญ่     โดยการปลูกยึดติดกับต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เหมาะกับกล้วยไม้รากอากาศและรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลช้าง สกุลหวาย สำหรับกล้วยไม้ที่เป็นรากอากาศสามารถใช้ลวดหรือเชือกผูกติดกับต้นไม้ได้เลย แต่สำหรับกล้วยไม้ที่เป็นรากกิ่งอากาศให้หุ้มด้วยกาบกะพร้าวทับอีกชั้นหนึ่ง ยึดกาบมะพร้าวด้วยตาข่ายหรือซาแลนอีกชั้นหนึ่ง


เครื่องปลูก    
            วัสดุที่ใส่ลงไปในภาชนะที่ใช้ปลูกกล้วยไม้ เป็นที่เก็บอาหาร เก็บความชื้น หรือปุ๋ยของกล้วยไม้ และเพื่อให้รากของกล้วยไม้เกาะ ลำต้นจะได้ตั้งอยู่ได้ เครื่องปลูกที่เหมาะสมกับลักษณะการเจริญเติบโตของรากกล้วยไม้จะทำให้กล้วยไม้เจริญเติบโตได้ดีและแข็งแรง เครื่องปลูกที่นิยมใช้มีดังนี้ 

ออสมันด้า     เป็นเครื่องปลูกที่ได้มาจากรากของเฟิร์น ลักษณะเป็นเส้นยาว สีน้ำตาลจนเกือบดำ ค่อนข้างแข็ง ก่อนที่จะใช้ต้องล้างให้สะอาด แล้วจึงอัดตามยาวลงไปในกระถาง ก่อนที่จะอัดลงในกระถางควรรองก้นกระถางด้วยกระเบื้องแตกหรือถ่านประมาณครึ่งหนึ่งของกระถาง เพื่อให้ระบายน้ำได้สะดวกไม่ควรอัดออสมันด้าให้เต็มกระถาง ก่อนใช้ควรแช่น้ำหรือต้มเพื่อฆ่าเชื้อราเสียก่อน ออสมันด้าเป็นเครื่องปลูกที่ดี แต่ราคาค่อนข้างสูง สามารถเลี้ยงกล้วยไม้ได้เจริญงอกงามสม่ำเสมอ มีอายุการใช้งาน 2-3 ปี แต่มีข้อเสีย คือ มีตะไคร่น้ำขึ้นหน้าเครื่องปลูก และเกิดเชื้อราง่าย ออสมันด้าใช้ปลูกกล้วยไม้แบบรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลคัทลียา
กาบมะพร้าว    เป็นเครื่องปลูกที่นิยมใช้ปลูกกล้วยไม้มาก เพราะหาง่าย ราคาถูก เหมาะที่จะใช้อัดลงในกระถางดินเผาสำหรับใช้ปลูกกล้วยไม้รากกึ่งอากาศเช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลคัทลียา วิธีทำคือใช้กาบมะพร้าวแห้งที่แก่จัดและมีเปลือก อัดตามยาวให้แน่นลงในกระถาง ตัดหน้าให้เรียบ แล้วใช้แปรงลวดปัดหน้าให้เป็นขน เพื่อให้ดูดซับน้ำดีขึ้น เครื่องปลูกกาบมะพร้าวเป็นเครื่องปลูกที่ได้ความชื้นสูง เหมาะสำหรับกล้วยไม้ปลูกใหม่ เพราะจะทำให้ตั้งตัวเร็ว จึงทำให้กล้วยไม้เจริญงอกงามเร็วกว่าปลูกด้วยเครื่องปลูกชนิดอื่นๆ แต่มีข้อเสียคือมีอายุการใช้งานได้ไม่นาน คือมีอายุใช้งานได้เพียงปีเดียวเครื่องปลูกก็ผุ ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือเกิดตะไคร่น้ำได้ง่าย เนื่องจากกาบมะพร้าวอมความชื้นไว้ได้มาก จึงควรรดน้ำให้น้อยกว่าเครื่องปลูกชนิดอื่น


ถ่าน     เป็นเครื่องปลูกกล้วยไม้ที่ดีชนิดหนึ่ง เพราะหาง่าย ราคาไม่แพง คงทนถาวร ไม่เน่าเปื่อยผุพังง่ายและดูดอมน้ำได้ดีพอเหมาะไม่ชื้นแฉะเกินไป ยังช่วยดูดกลิ่นที่เน่าเสียและทำให้อากาศบริสุทธ์อีกด้วย แต่มีข้อเสียคือมักจะมีเชื้อราอยู่ ในการใช้ถ่านเป็นเครื่องปลูกกล้วยไม้ ถ้าเป็นกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากกึ่งอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลแคทลียา ควรใช้ถ่านป่นซึ่งเป็นก้อนเล็กๆ ผสมกับอิฐ หรือใช้อิฐหักรองก้นกระถางประมาณครึ่งกระถาง แล้วใช้ถ่านป่นใส่ทับข้างบนจนเต็มหรือเกือบเต็มกระถาง จากนั้นจึงเอากล้วยไม้ปลูกโดยวางทับไว้บนถ่านอีกชั้นหนึ่ง สำหรับถ่านที่ใช้ปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ ถ้าเป็นกล้วยไม้ขนาดเล็กหรือยังเป็นลูกกล้วยไม้อยู่ เช่น มีขนาดสูงไม่เกิน 3 นิ้ว ควรใส่ถ่านก้อนเล็กๆ หรือใส่ถ่านป่นไว้บ้างพอสมควร แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดโดแล้วควรใส่ก้อนใหญ่ๆ ไว้ประมาณ 5-10 ก้อน เพื่อช่วยอุ้มความชุ่มชื้นไว้ให้กล้วยไม้ การที่ใส่ถ่านก้อนโตๆ จำนวนเล็กน้อยในการปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากแบบรากอากาศก็เพื่อต้องการให้บริเวณภายในกระถางมีช่องว่างมากๆ และโปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งเหมาะแก่ความต้องการหรือความเจริญเติบโตของกล้วยไม้ที่มีระบบรากอากาศ

ทรายหยาบและหินเกล็ด    การปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากกึ่งอากาศโดยเฉพาะพวกสกุลหวาย มักใช้ทรายหยาบและหินเกล็ดที่ล้างสะอาดแล้วเป็นเครื่องปลูก โดยก้นกระถางใส่อิฐหักหรือหรือถ่านป่นไว้ ส่วนด้านบนใช้ทรายหยาบโรยหนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วโรยทับด้วยหินเกล็ดหนาประมาณครึ่งนิ้ว จากนั้นจึงนำหน่อกล้วยไม้ที่แยกจากกอเดิมไปปลูกวางไว้บนหินเกล็ด แล้วมัดติดกับหลักเพื่อยึดไม่ให้ล้มจนกว่ากล้วยไม้ที่ปลูกใหม่นี้มีรากยึดเครื่องปลูกและตั้งตัวได้

อิฐหักและกระถางดินเผาแตก   อิฐหัก อิฐดินเผา และกระถางดินเผาแตก ใช้เป็นเครื่องปลูกรองก้นกระถางสำหรับปลูกกล้วยไม้ที่มีระบบรากกึ่งอากาศ โดยมีออสมันด้า กาบมะพร้าว ถ่านป่น อย่างใดอย่างหนึ่งอัดหรือโรยไว้ข้างบน  เพื่อให้ด้านล่างของกระถางหรือภาชนะปลูกโปร่ง  อากาศถ่ายเทสะดวกและเป็นการช่วยในการระบายน้ำในกระถางได้ดีขึ้น

การให้น้ำและปุ๋ย

     น้ำ มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ เนื่องจากน้ำเป็นตัวทำละลายสารอาหารต่างๆ เพื่อให้รากของกล้วยไม้สามารถดูดอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ กล้วยไม้ต้องการน้ำที่สะอาดปราศจากเกลือแร่ที่เป็นพิษ มีความเป็นกรดเป็นด่างหรือค่า pH อยู่ระหว่าง 6-7 แต่น้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดต่อความต้องการของกล้วยไม้ คือ น้ำสะอาดบริสุทธิ์ที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ มีค่า pH ประมาณ 6.5 น้ำที่มี pH ต่ำกว่า 5.5 หรือสูงกว่า 7 จึงไม่ควรนำมาใช้รดกล้วยไม้ การทดสอบคุณสมบัติความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำแบบง่ายๆ คือ ทดสอบด้วยกระดาษลิสมัส ในการเลี้ยงกล้วยไม้ถ้าน้ำมี pH ต่ำกว่า 5.5 หรือสูงกว่า 7 หากมีความจำเป็นต้องใช้น้ำนี้รดกล้วยไม้ เนื่องจากไม่สามารถหาน้ำที่มีคุณสมบัติดีกว่า ควรทำให้น้ำมี pH อยู่ระหว่าง 6-7 ก่อน ดังนี้
              น้ำที่มีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 คือน้ำมีฤทธิ์เป็นกรดค่อนข้างมาก แก้ไขโดยตักน้ำใส่ภาชนะ เช่น ตุ่มหรือโอ่งไว้แล้วใช้ โซเดียมไฮดร็อกไซด์ ค่อยๆ เทใส่ลงไป แล้วคนให้เข้ากันจนทั่ว ทำการทดสอบระดับ pH จนกระทั่งน้ำมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6-7
            น้ำที่มีค่า pH สูงกว่า 7 คือน้ำที่มีเกลือแร่ที่เป็นพิษต่อกล้วยไม้ เช่น แคลเซียมไบคาร์บอเนตปนอยู่ในน้ำแสดงว่าน้ำนั้นมีความเป็นด่างมากไม่เหมาะที่จะนำไปรดกล้วยไม้ วิธีแก้หรือทำให้น้ำนั้นมี pH อยู่ที่ 6-7 ก่อน โดยตักน้ำใส่ภาชนะ เช่น ถัง ตุ่มหรือโอ่งไว้ แล้วใช้ กรดไนตริก ค่อยๆ เทใส่ลงไป คนหรือกวนให้เข้ากันจนทั่ว จนกระทั่งน้ำมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6-7
          
          การรดน้ำกล้วยไม้ปกติควรรดวันละครั้ง ยกเว้นวันที่ฝนตกหรือกระถางและเครื่องปลูกยังมีความชุ่มชื้นอยู่ การรดน้ำกล้วยไม้ควรรดในเวลาที่แดดไม่ร้อนจัด เวลาที่เหมาะสมคือตอนเช้าเวลาประมาณ 6.00-9.00 น. เพราะนอกจากจะไม่ร้อนแล้วจะมีช่วงเวลาที่มีแสงแดดยาวนาน กล้วยไม้มีความจำเป็นต้องใช้แสงแดดไปช่วยในการปรุงอาหารเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ฉะนั้นช่วงเวลากลางวันจึงเป็นเวลาที่กล้วยไม้ต้องใช้รากดูดความชื้นและนำอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ มากที่สุด การรดน้ำในเวลาเช้าจึงได้รับประโยชน์มากที่สุด ในการรดน้ำกล้วยไม้ควรรดให้เปียก เพื่อเป็นการชะล้างเศษปุ๋ยที่เหลือตกค้างซึ่งอาจเป็นพิษแก่กล้วยไม้ให้ไหลหลุดไป ไม่ควรรดน้ำแรงๆ หรือรดน้ำอยู่กับที่นานๆ ควรรดแบบผ่านไปมาหลายๆ ครั้งจนเปียกโชก ทั้งนี้เพื่อให้กระถางและเครื่องปลูกมีโอกาสดูดซึมอุ้มน้ำไว้เต็มที่ การรดน้ำกล้วยไม้ควรรดให้ถูกเฉพาะรากกระถางและเครื่องปลูกเท่านั้น ไม่ควรรดน้ำให้ถูกเรือนยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ที่มีเรือนยอดใหญ่ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้าและสกุลช้าง เพราะน้ำอาจตกค้างอยู่ที่เรือนยอดซึ่งอาจทำให้เกิดโรคยอดเน่าได้

         ปุ๋ย  โดยทั่วไปนิยมใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ในการปลูกกล้วยไม้ เพราะนอกจากจะละลายน้ำได้ดี สะดวกในการใช้ ยังมีธาตุอาหารครบถ้วนตามความต้องการของกล้วยไม้ด้วย ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่ใช้กับกล้วยไม้มี 3 ลักษณะ คือ ลักษณะเป็นน้ำ เป็นเกล็ดละลายน้ำ และเป็นเม็ดละลายช้า
              ปุ๋ยน้ำ เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารละลายอยู่ในรูปของของเหลว เมื่อต้องการใช้ต้องนำมาผสมกับน้ำตามส่วนที่ระบุบนฉลาก ข้อดีของปุ๋ยน้ำคือละลายง่าย กล้วยไม้สามารถดูดไปใช้ได้เลย ไม่ตกค้างอยู่ในเครื่องปลูก ซึ่งถ้ามีปุ๋ยตกค้างอยู่ในเครื่องปลูกมากอาจเป็นอันตรายต่อกล้วยไม้ได้
                ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารต่างๆ ที่จำเป็นผสมอยู่ตามสัดส่วน เมื่อจะใช้ต้องนำไปผสมกับน้ำตามสัดส่วนที่ระบุไว้ข้างภาชนะบรรจุปุ๋ย ปุ๋ยผงบางชนิดละลายน้ำได้ดี แต่บางชนิดละลายไม่หมด ปุ๋ยผงจึงไม่เหมาะสำหรับรดกล้วยไม้มากเท่ากับปุ๋ยน้ำ
                ปุ๋ยเม็ดละลายช้า เป็นปุ๋ยชนิดเม็ดเคลือบที่ภายในบรรจุปุ๋ยไว้เพื่อให้ปุ๋ยค่อยๆ ละลายออกมาอย่างช้าๆ ปุ๋ยชนิดนี้จึงใส่เพียงครั้งเดียวจึงสามารถอยู่ได้นานหลายเดือน จึงทำให้ง่ายในการใช้ ประหยัดแรงงานไม่ต้องใส่บ่อยๆ แต่ปุ๋ยชนิดนี้มีราคาสูง และเหมาะกับกล้วยไม้ที่มีเครื่องปลูกอย่างกล้วยไม้ที่มีระบบรากดินและรากกึ่งอากาศ เช่น แวนด้า หวาย แคทลียา
    เนื่องจากสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กับการให้ปุ๋ยอยู่มาก เช่น ปุ๋ยจะเป็นประโยชน์แก่กล้วยไม้ได้ต้องมีแสงสว่าง มีความอบอุ่น อุณหภูมิพอเหมาะและมีความชุ่มชื้นพอดี เป็นต้น แสงสว่างหรือแสงแดดที่เป็นประโยชน์แก่กล้วยไม้คือแสงแดดในตอนเช้า ตั้งแต่เช้าจนถึง เวลาประมาณ 11.00 น. หลังจากนี้แสงแดดจะแรงและมีความร้อนสูงเกินไป การรดปุ๋ยในเวลาเช้า แสงแดดจะช่วยให้กล้วยไม้ได้ใช้ปุ๋ยได้เต็มที่ เพราะแสงแดดช่วยผลิตกำลังงานที่จะใช้ดูดปุ๋ยขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการสร้างความเจริญเติบโตของกล้วยไม้ การรดปุ๋ยควรรดสม่ำเสมออาทิตย์ละครั้ง เพื่อกล้วยไม้จะได้รับปุ๋ยหรืออาหารอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากวันที่ครบกำหนดให้ปุ๋ยอากาศครื้มฝนไม่ควรรดปุ๋ย เนื่องจากไม่มีแสงแดดช่วยกล้วยไม้ก็ไม่สามารถดูดซึมปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ และถ้าหากฝนตกปุ๋ยก็จะถูกชะล้างไปกับฝนโดยที่กล้วยไม้ไม่ได้รับประโยชน์จากปุ๋ยนั้นเลย จึงควรงดการให้ปุ๋ยในวันดังกล่าว และอาจเลื่อนการให้ปุ๋ยไปในวันถัดไป หรืออาจงดให้ปุ๋ยในอาทิตย์นั้นแล้วไปรดในอาทิตย์ถัดไปก็ได้

โรคและแมลงศัตรู

      ปัญหาที่สำคัญในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ก็คือ โรคและแมลงรบกวน โรคของกล้วยไม้มีหลายชนิด บางชนิดทำให้กล้วยไม้ตายภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เชื้อโรคและแมลงศัตรูที่เข้าทำลายกล้วยไม้ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และขยายพันธุ์รวดเร็ว ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การป้องกันกำจัดได้ยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง โรคและแมลงศัตรูของกล้วยไม้ที่พบมีดังนี้ เพราะสารเคมีแต่ละตัวมีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อราได้แตกต่างกัน

โรคเน่าดำหรือยอดเน่า    หรือเรียกว่าโรคเน่าเข้าไส้ โรคนี้สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora 



                  ลักษณะอาการ     โรคนี้สามารถเข้าทำลายกล้วยไม้ได้ทุกส่วน ถ้าเชื้อราเข้าทำลายที่ราก รากจะเน่าแห้ง ซึ่งมีผลทำให้ใบเหลือง ร่วง และตายในที่สุดถ้าเชื้อราเข้าทำลายยอดจะทำให้ยอดเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่อจับจะหลุดติดมือได้ง่าย และถ้าแสดงอาการรุนแรงเชื้อราจะลุกลามเข้าไปในลำต้น เมื่อผ่าดูจะเห็นเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้มตามแนวยาวของต้น โรคนี้จะแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะในฤดูฝนหรือช่วงที่มีความชื้นสูง
                   การป้องกันและกำจัด     ควรปรับสภาพเรือนกล้วยไม้ให้โปร่ง ไม่ควรปลูกกล้วยไม้หนาแน่นเกินไป ถ้าพบโรคนี้ในระยะเป็นลูกกล้วยไม้ให้แยกกระถางที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย ถ้าเป็นกับกล้วยไม้ที่ใดแล้วควรตัดส่วนที่เป็นโรคออกเสียจนถึงเนื้อดี แล้วใช้ยาฉีดพ่น ยาป้องกันกำจัดเชื้อราจะต้องใช้ชนิดที่สามารถป้องกันเชื้อราชนิดนี้โดยตรง เช่น ไดโพลาแทน, ริโดมิล, เทอราโซล สำหรับการใช้ยาประเภทดูดซึมมีข้อควรระวัง คือ อย่าให้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะจะทำให้เชื้อราดื้อยา ควรผสมกับยาชนิดอื่น เช่น แมนโคเซป หรือใช้ยาสูตรที่ผสมมาให้เรียบร้อยแล้ว เช่น ริไดมิล เอ็มแซด หรืออาจใช้สลับกันระหว่างยาดูดซึมจะทำให้การป้องกันกำจัดได้ผลดียิ่งขึ้น

โรคดอกสนิมหรือจุดสนิม เกิดจากเชื้อรา Curvularia eragrostidis


                 ลักษณะอาการ     ปรากฏอาการบนกลีบดอกกล้วยไม้ อาการเริ่มแรกเป็นจุดขนาดเล็กสีน้ำตาลเหลือง เมื่อจุดเหล่านี้ขยายโตขึ้นจะเข้มเป็นสีสนิม มีลักษณะค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวสวนกล้วยไม้นิยมเรียกว่า "โรคราสนิม" ลักษณะดังกล่าวจะปรากฎชัดเจนบนดอกหวายมาดาม แต่อาการบนหวายขาวจะเป็นแผลสีน้ำตาลไม่เป็นแผลสีสนิมชัดเจนอย่างบนหวายมาดาม โรคนี้ระบาดได้ดีในช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะถ้ามีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือมีน้ำค้างลงจัด โดยจะระบาดติดต่อกันรวดเร็วทั่วทั้งรังกล้วยไม้และบริเวณใกล้เคียง
                   การป้องกันและกำจัด     หมั่นตรวจดูแลรังกล้วยไม้ให้สะอาดอย่างสม่ำเสมออย่าปล่อยให้ดอกกล้วยไม้บานโรยคาต้น เพราะจะเป็นแหล่งให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เก็บรวบรวมดอกที่เป็นโรคให้หมดแล้วนำไปเผาทำลายเสีย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมโรค หลังจากนั้นจึงฉีดพ่นสารเคมี เช่น ไดเทนเอ็ม 45, ไดเทนแอลเอฟหรือมาเน็กซ์ โดยในช่วงฤดูฝนควรฉีดพ่นให้ถี่ขึ้น


โรคใบปื้นเหลือง    สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Pseudocercospora dendrobii


                     ลักษณะอาการ     จะเกิดบนใบของกล้วยไม้โดยเฉพาะที่อยู่โคนต้นก่อนโดยใบจะมีจุดกลมสีเหลือง เมื่อเป็นมากๆ จะขยายติดต่อกันเป็นปื้นเหลืองตามแนวยาวของใบ เมื่อพลิกดูใต้ใบจะเห็นเป็นกลุ่มผงสีดำ ในที่สุดใบที่เป็นรุนแรงจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ พร้อมทั้งร่วงหลุดออกจากต้นในที่สุด ทำให้ต้นกล้วยไม้ทิ้งใบหมด
                   การป้องกันและกำจัด     ควรเก็บรวบรวมใบที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย และรักษารังกล้วยไม้ให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อเป็นการทำลายเชื้อและลดปริมาณของเชื้อราในรังกล้วยไม้ และฉีดพ่นด้วยยาเดลซีนเอ็มเอ็ก 200, ไดเทนเอ็ม 45, เบนเลททุกๆ 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

โรคแอนแทรกโนส    สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Collectotrichum sp.


                   ลักษณะอาการ     ใบจะเป็นแผลวงกลมสีน้ำตาลอมแดงหรือสีน้ำตาลไหม้ ซึ่งขยายออกไปเป็นแผลใหญ่เห็นเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น เนื้อเยื่อที่เป็นแผลบุ๋มลึกลงไปต่ำกว่าระดับผิวใบเล็กน้อย กล้วยไม้บางชนิดมีขอบแผลเป็นเนื้อเยื่อสีเหลืองล้อมรอบแผล เช่น ลักษณะแผลของพวกแมลงปอ ฯลฯ บางชนิดแผลมีขอบสีน้ำตาลเข้มกว่าภายในและไม่มีขอบแผลสีเหลืองเลย เช่น แผลของกล้วยไม้ดินบางชนิด เนื้อเยื่อของแผลนานเข้าจะแห้งบางผิดปกติ ขนาดของแผลแตกต่างกัน แล้วแต่สภาพแวดล้อม บางแห่งมีเชื้อราอื่นมาขึ้นร่วมภายหลังทำให้แผลขยายกว้างออกไปจนมีลักษณะที่เป็นแผลวงกลมอย่างอาการเริ่มแรกกล้วยไม้ที่มีใบอวบอมน้ำมาก เช่น แคทลียา ลูกผสมแมลงปอ และกล้วยไม้ดินบางชนิดใบจะเน่าเปื่อยถ้าฝนตกชุก แต่โดยปกติจะเป็นแผลแห้งติดอยู่กับต้น
                   การป้องกันและกำจัด     โดยเก็บรวบรวมใบที่เป็นโรคไปเผาทำลายเสีย เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดต่อไป และฉีดยาป้องกันกำจัดเชื้อราทุกๆ 7-15 วันต่อครั้งส่วนฤดูฝนต้องฉีดพ่นเร็วกว่ากำหนด เช่น 5-7 วันต่อครั้ง เป็นต้น

โรคเน่าแห้ง    สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Sclerotium rolfsii


           ลักษณะอาการ     โดยเชื้อราจะเข้าทำลายกล้วยไม้บริเวณรากหรือโคนต้นแล้วแพร่ไปยังส่วนเหนือโคนต้นขึ้นไป บริเวณที่ถูกทำลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซึ่งต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เนื้อเยื่อจะแห้งและยุ่ย ถ้าอากาศชื้นมากๆ จะเห็นเส้นใยสีขาวแผ่บริเวณโคนต้น ลักษณะที่เห็นได้ง่ายคือมีเม็ดกลมๆ ขนาดเล็กสีน้ำตาลคล้ายเมล็ดผักกาดเกาะอยู่ตามโคนต้น ในกล้วยไม้บางชนิดจะแสดงอาการที่ใบโดยจะทำให้ใบเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่ออากาศแห้งจะเหี่ยวและร่วงตายไปในที่สุดโรคนี้ระบาดมากในฤดูฝน ซึ่งเชื้อราชนิดนี้จะมีเมล็ดเป็นสีน้ำตาลกลมๆ ซึ่งทนต่อการทำลายของสารเคมีและสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้มีชีวิตอยู่ได้นาน
              การป้องและกำจัด     ควรดูแลรังกล้วยไม้เสมอ ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้ควรเก็บรวบรวมใบแล้วเผาทำลายทิ้ง และราดทับหรือฉีดพ่นด้วยยากำจัดเชื้อรา เช่น เทอราโซลหรือไวตาแว 


โรคเน่า สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas gladioli


                   ลักษณะอาการ     อาการเริ่มแรกจะเป็นจุดช้ำน้ำขนาดเล็กบนใบหรือบนหน่ออ่อน ทำให้เนื้อเยื่อมีลักษณะเหมือนถูกน้ำร้อนลวก คือใบจะพองเป็นสีน้ำตาล ฉ่ำน้ำ ถ้าเอามือจับแต่เบาๆ จะเละติดมือและมีกลิ่นเหม็น ซึ่งจะขยายลุกลามออกไปทั้งใบและหน่ออย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มีสภาพอากาศร้อนและความชื้นสูง
                   การป้องกันและกำจัด     ตัดหรือแยกส่วนที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย ในช่วงที่มีฝนตกหนักควรมีหลังคาพลาสติกคลุมอีกชั้นหนึ่งสำหรับลูกกล้วยไม้หรือไม้ปลูกใหม่ เพื่อไม่ให้แรงกระแทกของเม็ดฝนทำให้กล้วยไม้ช้ำและเป็นสาเหตุให้เชื้อเข้าทำลายได้ง่าย ไม่ควรปลูกกล้วยไม้หนาแน่นเกินไป เพราะจะทำให้อากาศระหว่างต้นไม่ถ่ายเท เกิดความชื้นสูงและง่ายแก่การเกิดโรค
    นอกจากนี้การเร่งกล้วยไม้ให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยการให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงมากเกินไปจะทำให้ต้นและใบกล้วยไม้อวบหนา ซึ่งเหมาะแก่การเป็นโรคเน่าเละนี้มาก สำหรับยาเพื่อใช้กำจัดแบคทีเรียนิยมใช้ยาปฏิชีวนะจำพวกสเตรปโตมัยซิน เช่น แอกริมัยซิน หรืออาจใช้ไฟแซน 20 หรือนาตริฟินก็ได้


โรคใบจุด สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phyllostictina psriformis 


                    ลักษณะอาการ     ในกล้วยไม้สกุลแวนด้า ลักษณะแผลเป็นรูปยาวรีคล้ายกระสวย ถ้าเป็นมากบางครั้งแผลจะรวมกันเป็นแผ่น บริเวณตรงกลางแผลจะมีตุ่มนูนสีน้ำตาลดำ เมื่อลูบดูจะรู้สึกสากมือ ซึ่งในเวลาต่อมาตุ่มนูนนี้จะแตกออกมีสปอร์จำนวนมาก ระบาดในฤดูฝนถึงฤดูหนาว ส่วนลักษณะอาการที่เกิดกับสกุลหวายจะแตกต่างจากสกุลแวนด้า คือ ลักษณะแผลเป็นจุดกลมสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ขอบแผลสีน้ำตาลอ่อน ขนาดแผลมีได้ตั้งแต่เท่าปลายเข็มหมุดจนถึงขนาดใหญ่ประมาณ 1 เซนติเมตร บางครั้งแผลจะบุ๋มลึกลงไป หรืออาจนูนขึ้นมาเล็กน้อยหรือเป็นสะเก็ดสีดำ เกิดได้ทั้งด้านบนใบและหลังใบ บางทีอาจมีลักษณะแตกต่างออกไปเล็กน้อย คือ บนใบจะมีอาการเป็นจุดกลมสีเหลือง เห็นได้ชัดเจน จุดกลมเหลืองเหล่านี้บางจุดจะมีสีดำบริเวณกลางและค่อยแผ่ขยายเป็นจุดกลมสีดำทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดปี
                   การป้องกันและกำจัด     ทำได้โดยการรวบรวมใบที่เป็นโรคไปเผาทำลายเสียหรือฉีดพ่นด้วยยาไดเทนเอ็ม 45, ไดเทนแอลเอฟ หรือยาประเภทคาร์เบนดาซิม เช่น เดอโรซาล เป็นต้น

เพลี้ยไฟ   



               ลักษณะอาการ     เพลี้ยไฟเป็นแมลงที่ดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนที่อ่อนๆ เช่น ตามยอด ตาและดอก มักพบเพลี้ยไฟเข้าทำลายกล้วยไม้ในฤดูร้อนและฤดูฝน ทำความเสียหายมากแก่กล้วยไม้ในระยะที่ดอกตูมและดอกกำลังบาน โดยการดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ดอกตูมชะงักการเจริญเติบโต เป็นสีน้ำตาลและแห้งคาก้านช่อดอก ส่วนอาการที่ดอกบานเริ่มแรกจะเห็นเป็นรอยแผลสีซีดขาวที่ปากหรือกระเป๋า และตำแหน่งของกลีบดอกที่ซ้อนกัน ต่อมาแผลจะกลายเป็นสีน้ำตาลเรียกว่า "ดอกไหม้หรือปากไหม้" ดอกเหี่ยวแห้งง่าย
                   การป้องกันและกำจัด     อาจใช้พอสซ์ในอัตรา 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไวเดทแอล อัตรา 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ซีเอฟ 35 แอสที 10-15 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยเลือกเวลาการฉีดในช่วงเย็นๆ 

ไรแดงหรือแมงมุมแดง
          ไรแดงเป็นศัตรูจำพวกปากดูดมีขนาดเล็กมาก แต่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นจุดสีแดงเล็กๆ เคลื่อนไหวได้ ไรแดงมีสีต่างๆ เช่น สีแดง สีเหลืองอมเขียว สีเหลืองและส้ม รูปร่างค่อนข้างกลม มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มทางด้านใต้ใบ 



               ลักษณะอาการ  ไรแดงจะทำลายทั้งใบและดอก โดยจะดูดน้ำเลี้ยง ถ้าดูดน้ำเลี้ยงที่ใบจะทำให้เกิดเป็นจุดด่าง ผิวใบไม่เรียบ มีสีเหลืองและค่อยๆ เป็นสีเข้มขึ้นจนถึงสีน้ำตาล ถ้ามีการทำลายมากๆ จะมองเห็นบริเวณนั้น
               การป้องกันและกำจัด  ทำได้โดยเก็บใบและดอกที่ถูกทำลายไปเผาและใช้ยาเคลเธน อัตรา 30 ซีซี ฉีดพ่นทั้งต้น




อ้างอิงจาก : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=snowpim&group=6 



17 ความคิดเห็น:

  1. ไปเม้นให้เค้าด้วยเด้อ 53010211215sasitha.blogspot.com ^^

    ตอบลบ
  2. พอดีชอบปลูกกล้วยไม้เหมือนกันค่ะ..อยากทราบว่า ต้นไม้ที่ปลูกไว้นานๆแล้วอายุเยอะ ควรบำรุงต่อ หรือควรตัดทิ้งค่ะ
    ขอบคุณความรู้จากบล็อค นี้มากค่ะ ^^

    ตอบลบ
  3. อ่านแล้วได้ความรู้มากๆครับ

    ตอบลบ
  4. ได้ความรู้มากๆๆ และยังสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย

    ตอบลบ
  5. แสดงว่าออศมันด้าใช้ได้ดีกว่ากาบมะพร้าวใช่ไมค่ะ

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ4 กันยายน 2555 เวลา 08:47

    ชอบ ชอบ สวยมาก ได้ความรู้เพิ่มมากเลยค่ะ^^"

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ20 พฤษภาคม 2557 เวลา 05:34

    ดีมากเลยค่ะ ได้ความรู้มากเลยทีเดียวสำหรับมือใหม่อย่างดิฉัน
    ขอบคุณมากค่ะสำหรับสาระน่ารู้นี้ค่ะ

    ตอบลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ20 พฤษภาคม 2557 เวลา 05:36

    ดีมากเลยค่ะ ได้ความรู้มากเลยทีเดียวสำหรับมือใหม่อย่างดิฉัน
    ขอบคุณมากค่ะสำหรับสาระน่ารู้นี้ค่ะ

    ตอบลบ
  9. ดีมากเลยคะ ได้ความรู้และนำไปใช้ ขอบคุณมากๆเลยคะ

    ตอบลบ
  10. ไม่ระบุชื่อ13 สิงหาคม 2561 เวลา 00:40

    ขอบคุณครับที่ให้ความรู้

    ตอบลบ
  11. ขอบคุณครับที่ให้ความรู้

    ตอบลบ
  12. How to use Bitcoin in a casino, slot machines, and table games
    It's all about casino games, not just slots. There are also 바카라 사이트 casinopan many 강원 랜드 쪽박 걸 가격 casinos that offer both cryptocurrency and real 룰렛 확률 money bet365es slots. 바카라그림보는법

    ตอบลบ
  13. Casinos Near Casinos in San Francisco | MapYRO
    A 서귀포 출장샵 map showing casinos and other gaming facilities located 대전광역 출장마사지 near 파주 출장안마 Casinos in 파주 출장샵 San Francisco, 양산 출장마사지 located in San Francisco at 777 Casino Dr, in Eastside,

    ตอบลบ