อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

โดย ศรัณยา เจริญถนอม

ประวัติศาสตร์ไทย เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นมาในอดีตของแต่ละยุค แต่ละสมัย ก่อนที่จะมาเป็นชนชาติไทยในปัจจุบัน สิ่งที่จะทำให้ผู้ที่สนใจศึกษาทราบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้นั้นคือแหล่งโบราณสถานต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย และอุทยานทางประวัติศาสตร์จึงเป็นสถานที่หนึ่งที่จะบอกได้ถึงต้นกำเนิดของประเทศ ศิลปกรรม และวัฒนธรรมในอดีตได้ดียิ่ง  เมื่อกล่าวถึงอุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย” อุทยานที่มีโบราณสถานต่างๆ ที่มีความงดงามด้านสถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัยและเป็นแหล่งศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในยุคแรกของไทย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยตั้งอยู่ที่ตำบลศรีสัชนาลัย บริเวณที่เรียกว่า “แก่งหลวง” ห่างจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัยลงมาทางอำเภอสวรรคโลก 11 กิโลเมตร หรือห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 550 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตของตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ ตำบลท่าชัย ส่วนตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัยอยู่ในเขตหมู่บ้านพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย มีพื้นที่ทั้งหมดประณ 45.14 ตารางกิโลเมตร เดิมชื่อว่า “เมืองเชลียง” แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “ศรีสัชนาลัย” ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง (สำนักงานสุโขทัย, ม.ป.ป.)


ที่มา : www.thongthailand.com

เมืองโบราณศรีสัชนาลัย มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขาพระศรีและเขาใหญ่ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก และมีลำน้ำยม ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ที่มีความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน คือ มีทั้งที่ราบลุ่มริมแม่น้ำและที่ราบเชิงเขา ทำให้มีทั้งความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และลักษณะทางธรรมชาติที่ใช้ในการป้องกันข้าศึกศัตรูได้เป็นอย่างดี มีขอบเขตของผังเมืองที่ก่อสร้างทับซ้อนอยู่บนบริเวณเมืองเชลียงเดิม กล่าวคือ แนวกำแพงเมืองเชลียงเดิมทำเป็นคันดินยาวขนานไปตามลำน้ำ เริ่มจากบริเวณวัดมหาธาตุเชลียงไปตามลำน้ำยมเลยผ่านเขาพนมเพลิงออกไป (ซึ่งปัจจุบันยังคงปรากฏหลักฐานคันดินให้เห็นอยู่) ต่อมา เมื่อได้มีการก่อสร้างเมืองศรีสัชนาลัยขึ้น จึงได้พิจารณาเลือกบริเวณที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา มีการก่อสร้างกำแพงเมืองด้วยศิลาแลง ลักษณะผังเมืองเป็นรูปหลายเหลี่ยมไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของลำน้ำยม ลักษณะของกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยมีหลายแนว เนื่องจากมีการผสมผสานนำเอาแนวกำแพงคันดินในสมัยที่เป็นเมืองเชลียงเข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมีโบราณสถานอันเก่าแก่ทั้งภายในและภายนอกกำแพงเมือง สำรวจค้นพบแล้วประมาณ 284 แห่ง ซึ่งภายในกำแพงเมืองนั้น มีโบราณสถานที่สำคัญๆ เช่น วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว และวัดนางพญา เป็นต้น

วัดช้างล้อม อายุราวๆ พุทธศตวรรษที่ 19 มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงลังกา(ทรงระฆัง)ขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ฐานประทักษิณมีช้างปูนปั้นเต็มตัวประดับโดยรอบฐานทั้ง 4 ด้าน และที่มุมมีช้างทรงเครื่องขนาดใหญ่ประดับอยู่ ช้างปูนปั้นที่วัดช้างล้อมนี้มีลักษณะเด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่นๆ คือ ยืนเต็มตัวแยกออกจากผนัง มีขนาดสูงใหญ่กว่าช้างจริง(มหาวิทยาลัยรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย, ม.ป.ป.)      


ที่มา : www.thongthailand.com

วัดเจดีย์เจ็ดแถว อายุราวพุทธศวรรษที่ 19-20 มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์(รูปดอกบัวตูม) มีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง นอกกำแพงมีโบสถ์และบ่อน้ำ เดิมมีคูน้ำล้อมรอบ เจดีย์รายได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะต่างๆ หลายแห่ง เช่น ลังกาและพุกาม เป็นทรงปราสาทห้ายอด ซุ้มจรนัมเป็นเจดีย์ทรงกลม 5 องค์ ทำเป็นแท่งสูง(ฝักเพกา) โดยมีองค์ใหญ่เป็นประธานและมีเจดีย์ประจำมุม 4 องค์ ประดับด้วยพระพุทธรูปลีลาปูนปั้นในซุ้มเรือนธาตุ มีภาพจิตรกรรมใช้สีแบบเอกรงค์เป็นภาพพระพุทธเจ้าและมีเหล่าเทวดากษัตริย์มาแวดล้อมถวายดอกไม้


ที่มา : www.thongthailand.com

วัดนางพญา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงลังกา(ทรงระฆัง)ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ แต่เดิมมีช้างปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบ วิหารก่อด้วยศิลาแลงมีมุขหน้าและมุขหลัง ผนังวิหารเจาะช่องแสง ผนังด้านทิศใต้ยังมีลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม คือ ลายกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง ลายพรรณพฤกษาและรูปเทพพนม รูปแบบได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะล้านนา(ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, 2542)


ที่มา : www.thongthailand.com

ส่วนโบราณสถานที่อยู่ภายนอกกำแพงเมือง เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ถือว่าได้เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาก่อนเมืองศรีสัชนาลัย มีโบราณสถานสำคัญ ได้แก่ ปรางค์ประธานเป็นศิลปะสมัยอยุธยา ซึ่งสร้างครอบทับสถูปหรือเจดีย์เดิม ด้านหน้าพระปรางค์มีวิหารหลวง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย มีเจดีย์รายแบบศิลปะสุโขทัยล้อมรอบ ซุ้มประตูมีปูนปั้นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นศิลปะขอมแบบบายน ด้านทิศตะวันตกของกำแพงแก้วมีโบราณสถานพระธาตุมุเตามณฑปพระอัฏฐารส (ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, 2553)


ที่มา : www.thongthailand.com

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40  บาท หรือสามารถซื้อตั๋วรวมได้ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท ในกรณีที่นำยานพาหนะเข้าภายในเขตอุทยานฯ เสียค่าธรรมเนียมอีก ราคา 10 - 50 บาท และทางอุทยานฯ มีบริการรถรางนำชมโบราณสถานทั่วบริเวณ ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท  หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการขอวิทยากรนำชม หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย  64130 โทร. 0 - 5567 - 9211(สำนักงานสุโขทัย, ม.ป.ป.)

แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมายาวนานหลายยุค หลายสมัย แต่ก็มิอาจลบเลือนสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ที่แสนงดงามนี้ได้หมดสิ้น ยังคงหลงเหลือร่องรอยไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรื่องราวในอดีตสืบต่อไป อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยจึงถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สถานที่หนึ่งที่น่าไปเที่ยวชมอย่างยิ่ง บริเวณอุทยานฯ มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่น่าเข้าเยี่ยมชมอยู่มากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลงานทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น นับเป็นตัวแทนของศิลปกรรมไทยยุคแรก และเป็นต้นกำเนิดของการสร้างประเทศ และด้วยเหตุนี้เอง จึงได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก




อ้างอิง

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.  วัดเจดีย์เจ็ดแถว.
[ระบบออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.m-culture.in.th/ .
 (วันที่ค้นข้อมูล : 29 พฤศจิกายน 2558).

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.  วัดนางพญา.
[ระบบออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.m-culture.in.th/moc_new/album/169152/ .
 (วันที่ค้นข้อมูล : 29 พฤศจิกายน 2558).

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง.
[ระบบออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.m-culture.in.th/moc_new/album/39979/ .
 (วันที่ค้นข้อมูล : 29 พฤศจิกายน 2558).

สารสนเทศวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย.  วัดช้างล้อม.
[ระบบออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/srinatcl.htm .
(วันที่ค้นข้อมูล : 29 พฤศจิกายน 2558).

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย.  [ระบบออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://kanchanapisek.or.th/kp6/ .
(วันที่ค้นข้อมูล : 30 กันยายน 2558).

สำนักงานจังหวัดสุโขทัย.  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย.
[ระบบออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.sukhothai.go.th/tour/tour_02.htm .
(วันที่ค้นข้อมูล : 30 กันยายน 2558).

สำนักโบราณคดี.  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย.
[ระบบออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.finearts.go.th/ .
(วันที่ค้นข้อมูล : 30 กันยายน 2558).


No comments:

Post a Comment