เจดีย์วัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย

โดย บุษยพัชร์ ชิตพงษ์

เจดีย์ เป็นสิ่งก่อสร้างอย่างหนึ่งที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากทางประวัติศาสตร์ของผู้ที่สนใจและนักท่องเที่ยว  เจดีย์แต่ละองค์นั้นจะมีความสวยงามที่แตกต่างกันไปตามศิลปะสมัยต่างๆ เมื่อกล่าวถึงเจดีย์ที่มีความสวยงามมากที่สุดองค์หนึ่งในศิลปะล้านนาและศิลปะไทยแล้ว  เจดีย์วัดป่าสักถือว่าเป็นเจดีย์ที่น่าสนใจไม่น้อยองค์หนึ่งเลยทีเดียว

เจดีย์วัดป่าสักเป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีการประดับลวดลายปูนปั้นทั้งองค์ สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าแสนภู ราว พ.ศ. 1871 เป็นศิลปะล้านนาระยะแรกๆ

รูปแบบของเจดีย์วัดป่าสักมีองค์ประกอบของเจดีย์ที่ต่างจากเจดีย์ทรงปราสาททั่วไป คือมีการเพิ่มเรือนธาตุชั้นล่างอีกหนึ่งชั้นมารองรับเจดีย์ทรงปราสาทยอด จึงแยกเป็น2 ส่วน ได้แก่ส่วนที่ 1 เรือนฐานล่าง กับส่วนที่ 2 คือ ส่วนของเจดีย์ทรงปราสาทยอดทั่วไป มีฐานบัวรองรับเรือนธาตุและส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง

ส่วนที่ 1 เป็นฐานเขียงและฐานบัวฐานเขียงรองรับฐานบัวคว่ำ2 ฐานซ้อนกัน เป็นรูปแบบพิเศษที่พบไม่มากนัก ท้องไม้ของฐานบัวชั้นล่างทำเป็นช่องสี่เหลี่ยม ชั้นบนประดับด้วยช่องแปดเหลี่ยมโดยรอบ เหนือฐานบัวขึ้นไปเป็นช่องซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ3 ซุ้ม ซุ้มเทวดามี 4 ซุ้ม ซุ้มจระนำพระพุทธรูปจะมีขนาดใหญ่กว่าจระนำซุ้มเทวดา

ส่วนที่ 2 เจดีย์ทรงปราสาทยอดส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียง3 ฐานในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสรองรับฐานบัวคว่ำ - บัวหงาย 1 ฐาน ซึ่งเป็นฐานบัวคว่ำ- บัวหงายเตี้ย ๆ ที่ท้องไม้ประดับด้วยลูกแก้วอกไก่ อยู่ในผังยกเก็จเพื่อรองรับเรือนธาตุ

ส่วนของเรือนธาตุประกอบด้วย ซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทั้ง4 ด้านเป็นซุ้มซ้อน2 ชั้น ยอดซุ้มทำเป็นซุ้มฝักเพกาที่มุมเรือนธาตุประดับเสาติดผนัง ส่วนกลางเรือนธาตุระหว่างเสาติดผนังกับซุ้มจระนำมีพระพุทธรูปปูนปั้นติดที่ผนังทุกด้าน ปัจจุบันเหลือเฉพาะด้านทิศเหนือที่น่าจะเป็นพระพุทธรูปลีลา

ส่วนยอดเป็นส่วนของเจดีย์ทรงระฆังที่ไม่มีบัลลังก์ ประกอบด้วยส่วนฐานที่คล้ายกับฐานบัวคว่ำ- บัวหงายซึ่งอยู่เหนือเรือนธาตุ ที่ฐานส่วนนี้ประดับด้วยเจดีย์ขนาดเล็กที่เรียกว่า สถูปิกะ ที่มุมทั้ง 4 เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำ-บัวหงายในผังแปดเหลี่ยม รองรับองค์ระฆังกลม ซึ่งเป็นเจดีย์ที่ไม่มีบัลลังก์ เหนือองค์ระฆังทำเป็นองค์ระฆังเล็กๆ สลับกับบัวทรงคลุ่ม ต่อด้วยบัวแวงรองรับปล้องไฉนและปลีตามลำดับ

จากประวัติของวัดป่าสักสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่กล่าวถึงในตำนาน ซึ่งกล่าวว่าพระเจ้าแสนภูได้โปรดให้สร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่งนอกประตูเมืองเชียงแสน ภายหลังจากการสร้างเมือง4 ปี และให้ปลูกต้นสัก 300 ต้น จึงให้ชื่ออารามแห่งนี้ว่า อารามป่าสัก

รูปแบบของเจดีย์วัดป่าสักนี้จัดอยู่ในแบบเจดีย์ทรงปราสาทยอด ซึ่งถือเป็นเจดีย์แบบล้านนาที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะพุกาม ปัจจุบันได้พบลักษณะของเจดีย์แบบเดียวกันนี้5 แห่ง ได้แก่ พระธาตุสองพี่น้อง (องค์ด้านทิศใต้) เมืองเชียงแสน เจดีย์เชียงยืน บริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย เมืองลำพูน เจดีย์ราย วัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย และเจดีย์มุมประดับฐานเจดีย์วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย และวัดป่าสักแห่งนี้

อย่างไรก็ตามเจดีย์วัดป่าสักนี้เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่ยังคงความสวยงามและน่าสนใจอย่างมากแห่งหนึ่งของศิลปะล้านนา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพุกาม  ซึ่งในประวัติศาสตร์นั้นดินแดนในล้านนาเคยมีความสัมพันธ์กับทางพุกามมากกว่า โดยมีหลักฐานการติดต่อตั้งแต่สมัยพญามังราย

อ้างอิง

2554.เจดีย์วัดป่าสัก. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2557, จาก http://www.thaigoodview.com/node/115078

นางสาวฉัตรลดา สินธุสอน,ตุ๊ต๊ะต๋อมแต๋ม.2555.เจดีย์วัดป่าสัก. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2557, จาก http://www.m-culture.in.th/album/138192/js/


เจดีย์วัดป่าสัก


ซุ้มจระนำชั้นล่างประดิษฐานพระพุทธรูป


No comments:

Post a Comment