วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

กล้วยไม้ป่าหินงาม ตอนที่ 2 (1 กุมภาพันธ์ 2557)

     เมื่อ 13 ตุลาคม 2556  เราได้บันทึกความรู้สึกอันเปี่ยมล้นของการค้นพบบนผืนป่าแห่งนี้ไปแล้ว  ได้เปรียบเทียบกับผืนป่าต่าง ๆ ที่เคยเดินทางผ่านมาทำให้รู้ว่าที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงามนี้มีความพิเศษอยู่มากทีเดียว  โดยเฉพาะกับกล้วยไม้ที่ยังคงมีอยู่มากทั้ง ๆ ที่น่าจะถูกคุกคามอย่างหนัก  จากภาพในกล่องความทรงจำและจากที่เพิ่งได้ออกสำรวจมา  ถือว่าที่นี่มีกล้วยไม้จำนวนมากจริง ๆ เพราะต้นไม้เกือบทุกต้นบริเวณผาสุดแผ่นดินจะมีกล้วยไม้อย่างน้อย 1 ชนิดเกาะอยู่

     ครั้งก่อนที่มาสำรวจผมเลือกที่จะขอผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติบริเวณผาสุดแผ่นดิน (ต่อจากนี้ผมจะเรียกว่า เทรลผาสุดแผ่นดิน) ไปก่อน  และครั้งนี้ผมตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะมาสำรวจเส้นทางสายนี้โดยเฉพาะ  ตั้งแต่จอดรถผมได้รับการต้อนรับจากเหล่าดอกไม้ขนาดเล็กจิ๋วที่ออกดอกบานสะพรั่งไปทั่ว  ไม่ว่าจะมองไปบนคาคบไม้ของต้นไม้ต้นไหนก็จะเจอแทบทั้งนั้น  ตอนแรกปัญญาอันน้อยนิดของผมเริ่มทำงานเหมือนเดิมอีกครั้งคือด่วนสรุปชนิดว่าคงเป็นสิงโตรวงข้าวชนิดใดชนิดหนึ่งไปก่อน  แต่ระหว่างเดินบนเส้นทางก็มีเฉลียวใจว่าสิงโตรวงข้าวออกดอกช่วงนี้เหรอ???  แล้วก็เก็บความสงสัยไว้ในใจตลอดเส้นทาง
Bulbophyllum propinquum
     จนเมื่อมาเจอต้นที่อยู่ใกล้ ๆ ในระดับสายตา  ก็ได้พิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบมากขึ้น  ก็รู้สึกเอะใจเล็กน้อยที่บางสิ่งบางอย่างมันบอกว่าไม่น่าจะเหมือนกันกับสิงโตรวงข้าวเท่าไหร่นัก  แต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้เพราะปัญญาผมมันน้อยนิดจริง ๆ 
Bulbophyllum propinquum
     ตลอดเส้นทางผมพบว่าเทรลผาสุดแผ่นดินนี้มีกล้วยไม้เยอะมาก เช่น เอื้องเงิน Dendrobium draconis เอื้องทอง Dendrobium ellipsophyllum เอื้องเค้ากิ่ว Dendrobium signatum ที่ผมบันทึกหมายไว้เรียบร้อยแล้ว  และชนิดที่คาดว่าน่าจะใช่อย่าง เอื้องข้าวตอก Dendrobium compactum สิงโตรวงข้าวน้อย Bulbophyllum parviflorum เอื้องเบี้ยไม้ใบขน Trichotosia dasyphylla เอื้องกระต่ายหูเดียว Thrixspermum centipeda  ซึ่งหลายต้นจะออกดอกช่วงมีนาคม-เมษายนนี้  ก็คงต้องมีบันทึกกล้วยไม้ป่าหินงาม ตอนที่ 3-4 ต่อไป

Trichotosia dasyphylla เอื้องเบี้ยไม้ใบขน

     และที่สำคัญก็คือเจ้าสิงโตต้นนี้ที่กว่าผมจะได้คำตอบก็ต้องค้นทางอินเตอร์เน็ตจนไปเจอกับเอกสารการวิจัยชนิดพันธ์ุกล้วยไม้ในป่าหินงามเข้าโดยบังเอิญ  จึงได้รู้ว่าตัวนี้เป็น Bulbophyllum propinquum (ไม่มีชื่อไทย) ที่เพิ่งจะมีการรายงานพบการกระจายพันธุ์เพิ่มเติม  ซึ่งเดิมทีพบเพียงในเขตจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น
Dendrobium draconis เอื้องเงิน
     สรุปทริปนี้เจอกล้วยไม้ออกดอกเพียงแค่ชนิดเดียว  แต่เป็นชนิดที่เรียกได้ว่าระดับ Rare Item ก็ว่าได้  เพราะทั้งประเทศเจอเพียงแค่สองที่เท่านั้น  จากทริปนี้ผมได้หมายกล้วยไม้ที่เป็นรายงานวิจัยที่จำแนกชนิดของกล้วยไม้ในป่าหินงามไว้ถึง 37 ชนิดด้วยกัน  งานเข้าแล้วครับทีนี้







0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก