ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นความร้อนต้องมารวมตัวอยู่ในศูนย์ความเย็นที่พอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน เนื่องจากพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกแทบไม่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ Maranie Staab/Bloomberg via Getty Images

            หมู่บ้านลิตตัน (Lytton) รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา คือชุมชนเงียบสงบที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่ามกลางขุนเขา ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวมีอากาศกำลังสบายอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ราว 16.4 องศาเซลเซียส แต่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนเหตุการณ์กลับพลิกผันโดยมีรายงานว่าอุณหภูมิที่ชุมชนแห่งนี้พุ่งขึ้นเป็น 47.9 องศาเซลเซียส ทุบสถิติร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในประเทศแคนาดา

ส่วนสภาพอากาศดังกล่าวร้อนแค่ไหน ผู้เขียนว่าไม่มีคนไทยคนไหนที่สามารถตอบได้เพราะสถิติที่ร้อนที่สุดของไทยอยู่ที่ 44.6 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559 ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เอาเป็นว่าตอนนี้ชาวแคนาดาบางส่วนต้องเผชิญกับอากาศร้อนแบบ ‘พี่ๆ’ ของเมืองไทย

แต่ลิตตันไม่ใช่เมืองเดียวที่เจอกับวิกฤติคลื่นความร้อน เพราะภัยพิบัติดังกล่าวกินพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาและฝั่งตะวันตกของแคนาดา สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงไม่ว่าจะเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในแวนคูเวอร์ที่ต้องเคลื่อนย้ายเพราะสู่กับความร้อนไม่ไหว หรือระบบขนส่งสาธารณะที่หยุดให้บริการชั่วคราวในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา

สิ่งที่น่าประหลาดใจไม่ใช่แค่ความร้อนครั้งนี้ได้ทุบสถิติเดิม แต่อุณหภูมิยังเพิ่มขึ้นแบบชนะอย่างขาดลอย เช่นที่รัฐโอเรกอนมีอุณหภูมิสูงถึง 46.6 องศาเซลเซียสขึ้นทำเนียบหนึ่งในอีกหลายเมืองที่อุณหภูมิปัจจุบันสูงกว่าอุณหภูมิที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์มากถึง 5 องศาเซลเซียส

นอกจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดาแล้ว คลื่นความร้อนยังคงแผ่อิทธิพลในสหภาพยุโรปและไซบีเรีย

คลื่นความร้อนคือภัยเงียบที่มักถูกมองข้าม เพราะภัยธรรมชาติจากความร้อนไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายสะเทือนขวัญอย่างสึนามิ โคลนถล่ม น้ำท่วม หรือพายุไต้ฝุ่น ปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะในระหว่างปี 2541 ถึง 2560 มีประชากรโลกอย่างน้อย 166,000 คนเสียชีวิตจากคลื่นความร้อน โดยวิกฤติครั้งสำคัญคือคลื่นความร้อนเมื่อปี 2546 ที่ทำให้ชาวยุโรปเสียชีวิตไปกว่า 70,000 ราย นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยาสหรัฐยังระบุว่าคลื่นความร้อนเป็นภัยพิบัติที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดหากเทียบกับภัยพิบัติประเภทอื่น

ผลกระทบจากคลื่นความร้อนอาจรุนแรงกว่าที่หลายคนคิด นอกจากความร้อนดังกล่าวจะถือเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขแล้ว ยังทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นและกระทบต่อโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานโดยสาเหตุของการเกิดคลื่นความร้อนรุนแรงและบ่อยครั้งส่วนหนึ่งเกิดจากวิกฤติภูมิอากาศเพราะการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษย์

รู้จักคลื่นความร้อน

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) กำหนดนิยามของคลื่นความร้อนไว้ว่าอุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน ปรากฎการณ์คลื่นความร้อนจะเกิดจากระบบความกดอากาศสูง หรือที่รู้จักในชื่อแอนติไซโคลน (anticyclone) ทำให้เกิดการสะสมแรงกดบนชั้นบรรยากาศเหนือพื้นที่หนึ่งซึ่งส่งผลให้กระแสลมไหลเวียนลงและทำหน้าที่เสมือนฝาของโดมความร้อน กักเก็บความร้อนที่สะสมอยู่ที่พื้นราบ ระบบความกดอากาศสูงยังผลักกระแสลมเย็นและเมฆออกไปทำให้แสงอาทิตย์สาดมายังพื้นโลกได้โดยไม่มีอะไรสกัดกั้น

ความร้อนจากดวงอาทิตย์จะค่อยๆ สะสมในพื้นดิน ทราย คอนกรีต และยางมะตอยโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนของฝั่งซีกโลกเหนือที่จะแกนโลกเอนไปรับแสงอาทิตย์จนทำให้เวลาในช่วงกลางวันยาวนานและอากาศอบอุ่นขึ้น เมื่อความร้อนถูกสะสมและไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้ อุณหภูมิก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คลื่นความร้อนพบได้มากในพื้นที่แห้งแล้ง เช่น ทะเลทราย รวมถึงพื้นที่สูงซึ่งมักอยู่ภายใต้ระบบความกดอากาศสูงเป็นประจำ แต่ความชื้นจากพื้นดินจะช่วยบรรเทาความร้อนลงเสมือนที่เราขับเหงื่อออกเพื่อให้ร่างกายเย็นลง เมื่อน้ำที่พื้นราบมีไม่เพียงพอ อากาศก็จะแบกรับความร้อนส่วนเกินเหล่านั้นแทน

            พื้นที่เมืองจะยิ่งทำให้ภาวะอากาศร้อนเลวร้ายลง ทั้งถนน ลานจอดรถ และอาคารที่มาทดแทนพื้นที่ธรรมชาติต่างก็เป็นวัสดุที่ดูดซับความร้อนได้ดีและเก็บกักความชื้นได้น้อย เราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่าเกาะความร้อนเมือง (urban heat island) ทำให้เมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิสหรือดัลลัสอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่รอบๆ ราว 7 องศาเซลเซียส

นักวิทยาศาสตร์พบว่าการเกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้งนั้นมีสาเหตุมาจากการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์ โดยมีการศึกษาระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มแนวโน้มการเกิดคลื่นความร้อนบนพื้นทวีปราว 5 เท่า เพิ่มแนวโน้มการเกิดคลื่นความร้อนในมหาสมุทร 20 เท่า งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งยังระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเพิ่มโอกาสที่จะเกิดคลื่นความร้อนในทวีปไซบีเรียมากถึง 600 เท่า

คลื่นความร้อนส่งผลอย่างไร

คลื่นความร้อนส่งผลอย่างรุนแรงต่อประชาชนผู้อยู่อาศัย อากาศที่ร้อนทำให้เกิดโรคเพลียแดดและโรคลมแดดเนื่องจากร่างกายไม่สามารถทนความร้อนได้ นอกจากนี้ความร้อนยังทำให้ร่างกายขาดน้ำ เกิดภาวะหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (acute cerebrovascular accidents) และอาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันอีกด้วย อันตรายจะมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง กลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กซึ่งจะเผชิญความเสี่ยงมากกว่า

ประเทศเขตร้อนอาจไม่ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนรุนแรงนักอย่างที่เราเข้าใจ เนื่องจากอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นในระดับที่น้อยกว่าพื้นที่เขตหนาวหรือเขตอบอุ่น อีกทั้งประชาชนในประเทศโซนอากาศหนาวและอบอุ่นมีประสบการณ์น้อยกว่าในการเผชิญความร้อนสูงทำให้ขาดแคลนอุปกรณ์สำคัญอย่างเครื่องปรับอากาศซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในเขตเส้นศูนย์สูตร เมื่อเกิดคลื่นความร้อนเฉียบพลัน ภาครัฐจึงต้องจัดหาพื้นที่พักที่ติดเครื่องปรับอากาศเพื่อเป็นที่หลบภัยของประชาชน

คลื่นความร้อนยังส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ยากจนมากกว่าที่อยู่อาศัยของคนร่ำรวย เนื่องจากชุมชนคนจนนั้นมีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่าและคนจนไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้ออุปกรณ์เพื่อรับมือกับภัยพิบัติคลื่นความร้อนที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง รัฐจึงต้องทำหน้าที่ออกแบบนโยบายเพื่อรับมือคลื่นความร้อนด้วยการเพิ่มพื้นที่ในร่ม สวนน้ำ หรือจุดปล่อยละอองน้ำเพื่อลดความร้อนในเมือง พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ความเย็น (cooling centers) สำหรับประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ทำความเย็นได้ ที่สำคัญคือการดูแลสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งน้ำประปาและไฟฟ้าซึ่งระบบเหล่านี้ก็อาจล่มเพราะคลื่นความร้อนได้เช่นกัน

วิกฤติคลื่นความร้อนยังส่งผลต่อผลิตภาพของภาคการเกษตร ผลิตภาพของคนทำงานทั้งกลางแจ้งและในสำนักงาน อีกทั้งเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะในมหาสมุทร ในอนาคตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ปรากฎการณ์คลื่นความร้อนทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ต่อให้เราสามารถลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิจนเหลือศูนย์ภายในกลางคริสต์ศตวรรษนี้ แต่อุณหภูมิก็จะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกหลายสิบปี นี่คือข้อเท็จจริงที่ทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมมาตรการเพื่อรับมือ ‘ความร้อนสุดขั้ว’ ที่จะมาทุบสถิติเดิมจนคนรุ่นหลังมองย้อนกลับมาว่าปีนี้กลายเป็นปีที่เย็นสบาย

เอกสารประกอบการเขียน

Why is a heatwave broiling parts of America and Canada?

The danger posed by heatwaves deserves to be taken more seriously

How heat waves form, and how climate change makes them worse