วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

“เมืองมาน” ด่านใต้เมืองนครแพร่

ภูเดช แสนสา 1

าณาบริเวณพื้นที่จังหวัดแพร่ในปัจจุบัน อดีตเคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณจำนวนหลายเมืองได้แก่ เมืองแพร่ (อำเภอเมือง อำเภอร้องกวาง อำเภอหนองม่วงไข่), เมืองสอง (อำเภอสอง), เมืองลอง (อำเภอลอง อำเภอวังชิ้น และบางส่วนของอำเภอเด่นชัย), เมืองตรอกสลอบ (อำเภอวังชิ้น), เมืองช้างสาร (เมืองสวก, บางส่วนของตำบลต้าผามอกและบางส่วนของตำบลบ้านปิน อำเภอลอง), เมืองต้า (ตำบลเวียงต้าและตำบลต้าผามอก อำเภอลอง), เมืองสะเอียบ (ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง) และรวมถึง “เมืองมาน” หรือ “เมืองแสนหลวง” ที่ผู้เขียนกำลังจะกล่าวต่อไปนี้


ภาพจาก คุณมิซึโฮะ อิเคดะ นักศึกษาปริญญาเอก  ภาควิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเซดะ ประเทศญี่ปุ่น

เมืองมาน เป็นเมืองที่อยู่ทางทิศใต้ของเมืองนครแพร่ อาณาเขตของเมืองมานในอดีตครอบคลุมบริเวณอำเภอสูงเม่นและบางส่วนอำเภอเด่นชัย มีน้ำแม่มานเป็นแม่น้ำสายสำคัญไหลมาจากดอยพญาผ่อผ่านเมืองมานไปลงแม่น้ำยมที่บ้านร่องแดง (ตำบลน้ำชำ อำเภอสูงเม่น) จึงนำชื่อแม่น้ำมาตั้งเป็นชื่อเมือง ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏมีการศึกษาเรื่องเมืองมานอย่างเป็นรูปธรรม ผู้เขียนจึงได้รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับเมืองมานเท่าที่ปรากฏในขณะนี้ ประมวลภาพของความเป็นเมืองมานมานำเสนอเป็นเบื้องต้น เพื่อให้คนในพื้นที่หรือผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้าร่วมกันต่อไป


จากหลักฐานการปรากฏขึ้นของเมืองมานเก่าที่สุดคือ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ สมัยพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ.๑๘๒๒ - ๑๘๔๒) ยุคแคว้นสุโขทัยมีอาณาเขตกว้างขวางที่สุด กล่าวถึงอาณาเขตแคว้นสุโขทัยว่ามา
...รอดเมืองแพร่ เมืองม่าน เมืองน..(น่าน) เมืองพลัว(ปัว)...2 
เมืองม่าน” ที่จารึกชื่อคู่กับเมืองแพร่สันนิษฐานว่าก็คือเมืองมาน เหมือนเมืองพัว(ปัว)ที่จารึกชื่อคู่กับเมืองน่าน หากเชื่อว่าศิลาจารึกหลักนี้จารึกร่วมสมัยก็เป็นหลักฐานว่าอย่างช้าต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมืองมานได้สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นแล้ว แต่ทว่าที่น่าสังเกตก็คือเมืองมานกลับไม่ปรากฏชื่อในตำนานใดๆ ของล้านนาหรือเอกสารของที่ไหนอีกเลย จนกระทั่งมาปรากฏอีกครั้งช่วงหลังพ.ศ.๒๓๓๐ ดังนั้นผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเมืองมานเป็น ๒ กรณี 

กรณีแรกหากศิลาจารึกเป็นของที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย เมืองมานจึงเป็นเมืองที่เคยเรียกในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๙ แล้วลืมเลือนไป จนมาปรากฏเรียกอีกครั้งในสมัยหลัง พ.ศ.๒๓๓๐ 

หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือชื่อเมืองมานเพิ่งเรียกขานภายหลังเมื่อมีชาวเชียงแสนอพยพมาอยู่บริเวณนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๐ หลังจากนั้นจารึกหลักที่ ๑ ก็ทำการจารึกขึ้น (ในรัชกาลที่ ๔) โดยนำเอาชื่อเมืองมานที่รับรู้กันในช่วงนี้จารึกในศิลาจารึกคู่กับชื่อเมืองแพร่ ซึ่งยุคนี้เมืองนครแพร่ก็คือหัวเมืองประเทศราชของสยามในราชวงศ์จักรีนั่นเอง และน่าสังเกตอีกว่าหากเมืองมานเป็นเมืองที่มีมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย แปลกว่า ทำไมไม่มีการสร้างเวียง(คูน้ำคันดิน)ปรากฏอยู่เลย ทั้งที่เป็นเมืองหน้าด่านหรือเมืองกันชนระหว่างเมืองแพร่กับเมืองสุโขทัย ต่างจากเมืองโบราณในพื้นที่ใกล้เคียงกับเมืองมานที่ร่วมยุคสมัยแคว้นสุโขทัยคือเมืองลองและเมืองตรอกสลอบต่างก็มีการสร้างเวียงขึ้น หรือแม้แต่เมืองแพร่เองก็มีการสร้างเวียงขึ้นเช่นกัน

หลักฐานอีกชิ้นที่ปรากฏชื่อเมืองมานคือ ตำนานวัดหลวงเมืองมาน หรือ ตำนานวัดพระหลวง จากคำศัพท์ที่ปรากฏในตำนานทำให้ทราบว่า เป็นตำนานที่แต่งขึ้นภายหลังการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามานานพอสมควร โดยบันทึกตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาและบันทึกเพิ่มเติมเรื่อยมาจนถึงหลัง พ.ศ.๒๕๐๐ ตำนานวัดหลวงเมืองมานทำให้ทราบว่าเริ่มมีชาวเมืองเชียงแสน นำโดยครูบานาย จากสบจัน ครูบากวาว และครูบาสุทธะ ได้นำชาวเมืองเชียงแสนอพยพเข้ามาอยู่บริเวณพื้นที่นี้ซึ่งเป็นที่รกร้าง พร้อมกับทำการบูรณะพระประธานของวิหารและพระธาตุที่มีมาแต่เดิมเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๐ 

วัดหลวงเมืองมาน หรือ วัดพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ 
(ที่มา : วัดพระหลวง, ถ่าย พ.ศ.๒๔๖๐) 

ตำนานวัดหลวงเมืองมาน เดิมเมืองเชียงแสนแตกครั้งที่ ๓ จุลสกราชได้ ๑๑๔๙ ปีเมืองเม็ด พุทธสาสนาล่วงแล้วได้ ๒๓๓๐ พระวัสสา มีครูบานาย สบชัน ๑ ครูบากวาว ๒ ครูบาสุธะ (สุทธะ) ๓ ครูบา ๓ ตนนี้พ่ายแต่เชียงแสนลงมา มีสัทธาติดตามลงมา ได้มาภักตั้งอยู่สุงเหม้นก่อนแล้ว จิ่งได้มาตัดฟันป่าไม้อันเปนป่าใหญ่โตที่วัดหลวงอยู่เดี่ยวนี้ อันเปนวัดห่างเก่าแก่มานมนาน จิ่งตั้งบ้านแลตั้งวัดขึ้นเปน ๓ หัววัดไม่ได้รวมกันอยู่ คือ ครูบานาย สบชัน ตั้งอยู่แห่ง ๑ ครูบากวาวตั้งอยู่แห่ง ๑ ครูบาสุธะตั้งอยู่แห่ง ๑ เปน ๓ คณะอยู่ เท่าอยู่ในเขตอารามอันเดียวกัน ครูบา ๓ องค์นี้ท่านได้ส้างพระวิหารขึ้น ๑ หลัง แล้วส้างโบสถ์ขึ้น ๑ หลังเปนที่รุ่งเรืองขึ้น ส่วนพุทธรูปตนหลวงนั้นแลเจดีย์แลสิมมานั้นเปนของเก่าบูราณมาแต่เดิม ทำบุญแลกินทานแล้วซ้ำก่อกำแพงแถม ๒ ด้านหน้าหลังบอรมวณแล้ว ใส่นามวัดชื่อว่าวัดหลวงเมืองมาน...”3

จากตำนานวัดหลวงเมืองมานสอดรับกับตำนานคำมะเก่าเมืองเชียงแสน ที่ระบุว่า เชียงแสนแตกในปีนี้ เพราะเจ้าผู้ครองนครแพร่และเจ้ากอง เจ้าฟ้าเมืองยอง ได้เข้าตีเมืองเชียงแสน ที่ตั้งมั่นของพม่า แล้วได้กวาดตอนผู้คนออกจากเมืองเชียงแสน ชาวเมืองเชียงแสนส่วนหนึ่งจึงถูกนำเข้ามาอยู่ในเมืองนครแพร่ โดยเจ้าผู้ครองนครแพร่ทรงให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณพื้นที่ร้างในส่วนตอนใต้ของเมือง ตำนานคำมะเก่าเมืองเชียงแสนได้กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ว่า

“...สักกราชได้ ๑๑๔๙ ตัว ปีเมืองเม็ด (พ.ศ.๒๓๓๐) เสิก็เมืองลคอน เมืองใต้มาแวดเชียงแสนที่นี้ เดือน ๘ ออก ๙ ฅ่ำ วัน ๔ พระญาแพล่ฟื้นไขปะตูท่าม่านแล้ว กวาดเอาฅนครัวออกไปหาทัพชาวละคอรป่าซางมากนัก เวียง(เชียงแสน)แตก เจ้าฟ้าเมืองยองก็กวาดเอาฅนครัวเชียงแสนไปอยู่ปากของพายหน้าพุ้นแล เดือน ๑๐ ออก ๑๐ ฅ่ำ ทัพลคอนแลป่าซางหนีเสียเวียงแล เชียงแสนแตกปางพระญาแพล่กับเจ้ากอง เมืองยอง ฟื้นนี้...” 4

วัดพระหลวงช่วงที่มีการก่อสร้างวิหารหลังใหม่
(ที่มา : วัดพระหลวง)
จากการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวเชียงแสน ใน พ.ศ.๒๓๓๐ โดยเจ้าผู้ครองนครแพร่นำมาไว้ในบริเวณตอนใต้ของเมืองนครแพร่ สันนิษฐานว่า ยุคนี้เองที่มีการสถาปนาบริเวณพื้นที่นี้ขึ้นเป็น “เมือง” จากเดิมบริเวณนี้อาจเป็นเพียงชุมชนหมู่บ้านที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายมีผู้คนเบาบาง และบางชุมชนก็เป็นชุมชนร้าง ตามรูปแบบนิยมของเจ้าผู้ครองนครยุคจารีต ที่เมื่อมีการกวาดต้อนหรืออพยพผู้คนต่างเมืองเข้ามาก็จะยกขึ้นเป็นเมืองให้ปกครองดูแลกันเอง เช่น เมืองยอง (ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน) ขึ้นกับเจ้าผู้ครองนครลำพูน, เมืองพยาก (ใกล้กับอำเภองาว จังหวัดลำปาง) ขึ้นกับเจ้าผู้ครองนครลำปาง ส่วนเจ้าเมืองที่ปกครองเมืองมาน สันนิษฐานว่าคือ กลุ่มผู้ปกครองเดิมที่มาจากเมืองเชียงแสน แล้วขึ้นตรงต่อเจ้าผู้ครองนครแพร่ โดยชาวเชียงแสนกลุ่มหลักมาจากชุมชนเดิมบริเวณวัดพระหลวง (ปัจจุบันเรียกว่าวัดเจดีย์หลวง อยู่ใกล้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน) เมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นวัดหลวงศูนย์กลางของเมืองเชียงแสนในอดีต ดังตำนานพื้นเมืองเชียงแสนกล่าวว่า



“...(พญาแสนภู)ท่านมาเลงหันยังวัดพระหลวงนั้นเปนวัดเค้าเมืองที่นี้ เปนที่ประจุธาตุดูกอกพระพุทธเจ้ามาแต่ก่อน ท่านก็บังเกิดยังเจตนาสัทธาแล สักกราชได้ ๖๕๒ ตัว ปีกดยี (พ.ศ.๑๘๓๓) ...ท่านก็มาสร้างวิหารวัดพระหลวง...”5
เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้จึงทำการบูรณะวัดร้างให้เป็นวัดศูนย์กลางของเมืองมาน และตั้งชื่อวัดที่เป็นศูนย์กลางของเมืองว่า “วัดหลวงเมืองมาน” หรือเรียกว่า “วัดพระหลวง” “บ้านพระหลวง” (ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่) ตามชื่อของวัดและชุมชนเดิมที่เมืองเชียงแสน และภายหลังมีการกวาดต้อนชาวเชียงแสนกลุ่มใหญ่เข้ามาบริเวณนี้อีกครั้งใน พ.ศ.๒๓๔๗ ดังพื้นเมืองเชียงแสนกล่าวว่า

“...(พ.ศ.๒๓๔๗) เดือน ๙ ปฐม ออก ๘ ฅ่ำ วัน ๕ ไทรวายสัน ยามสายฟ้ายก เมืองเชียงแสนแตกเสี้ยงปางสุด...นาขวาลูกเมียไพร่ไททังมวลลงไปเชียงใหม่ ลคอร แพล่ น่าน นับเสี้ยง ยังฅ้างแต่น้ำกับดินแล...” 6

เมื่อมีชาวเมืองเชียงแสนเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้นภายหลังเมืองมาน จึงถูกเรียกอีกนามว่า “เมืองแสนหลวง” หรือก็คือ “เมืองเชียงแสนหลวง” บ่งบอกว่า ชาวเมืองมาจากเมืองเชียงแสนหรือเมืองเชียงแสนหลวงนั่นเอง เมืองนี้ได้มีการจารึกรายชื่อเมืองไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๘ ว่าเป็นหนึ่งในสองหัวเมืองขึ้นของเมืองนครแพร่ในสมัยเจ้าหลวงอินทวิไชยราชา เจ้าผู้ครองนครแพร่ (พ.ศ.๒๓๕๙ – ๒๔๑๔)

“...เมืองแพร่ เจ้าเมืองชื่อพญาแพร่ราชวงศาประเทศราช ขึ้นกรมมหาดไทย
เมืองสอง ๑
เมืองแสนหลวง ๑ อยู่หนใต้เมืองแพร่ ขึ้นแพร่ ๒
...”7

ส่วนเจ้าเมืองมานหรือเจ้าเมืองแสนหลวงไม่ปรากฏนาม แต่จากการสำรวจจารึกฐานพระเจ้าไม้วัดพระหลวงทำให้ทราบนามของกลุ่มผู้ปกครองบริเวณนี้หลายตำแหน่ง มีทั้งระดับชั้น “พญา” “แสน” และ “ท้าว” เช่น พญาสิทธิมงคล (ภริยาชื่อนางพกและนางวันดี) แสนพรหม (ภริยาชื่อนางคำเอ้ย) แสนมโน ท้าวสิทธิยศ (ภริยาชื่อนางขิ) และท้าวเกสนา (ภริยาชื่อนางแก้ว) เป็นต้น ชาวเมืองเชียงแสนกลุ่มนี้มีทั้งชาวไทยวนและชาวไทลื้อ ดังปรากฏคำจารึกฐานพระเจ้าไม้วัดพระหลวง ที่ผู้เขียนสำรวจพบมีคำนำหน้าชื่อว่า “ใหม่” ที่ใช้เรียกผู้ผ่านการบวชสามเณรของชาวไทลื้อ (“น้อย” ในกลุ่มไทยวน) เช่น ใหม่สิทธิ (พ.ศ.๒๓๖๒) ใหม่อัพภิ (พ.ศ.๒๓๖๙) และใหม่ยาวิไชย เป็นต้น 

“...๑๑๘๑ ตัว (พ.ศ.๒๓๖๒)...เจ้าตนหน้อยอริยะแลพ่อชื่อใหม่สิทธิ แม่ชื่อว่านางเพงแลพี่น้องชู่ฅน...” 8 “...๑๑๘๘ ตัว(พ.ศ.๒๓๖๙)...เดือนเจียงเพง...ใหม่อัพภิ...”9 “สกราชได้ ๑๒๐๙ ตัว(พ.ศ.๒๓๙๐) ปีเมืองเม็ด ปถมมูลสัทธาน้อยอุปละ ก็บังเกิดสัทธาญาณโยดยิ่งจิ่งจักได้จ้างส้างแปลงยังพุทธรูปองค์ ๑ มาพุทธาภิเสกใจ เพื่อจักอุทิสะไปหาพ่อผู้ ๑ อันจุติไปสู่ปรโลกพายหน้าชื่อว่าปู่ใหม่ยาวิไชย...” 10

ประเพณีกินข้าวสลากวัดพระหลวงในอดีต (ที่มา : วัดพระหลวง)

ผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานในเมืองมานมีทั้งที่เข้ามาใหม่จากเมืองเชียงแสน และเคลื่อนย้ายที่ทำกินจากในตัวเมืองนครแพร่หรือคนดั้งเดิมที่กระจายตัวอยู่เบาบางบริเวณนี้ ขณะที่ชาวเชียงแสนในเมืองมานและชาวเมืองนครแพร่ ภายหลังก็ได้กระจายตัวออกไปหาพื้นที่ทำกินในบริเวณเมืองลับแล (อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์) ที่อยู่เขตติดต่อกัน โดยเมืองมานหรือเมืองแสนหลวงที่ตั้งขึ้นในยุคนี้ เจ้าผู้ครองนครแพร่ทรงสถาปนาขึ้นเพื่อให้เป็นหัวเมืองหน้าด่านด้านทิศใต้ของเมืองนครแพร่ ดังปรากฏในจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานของวัดดอนแท่น (ตำบลดอนมูล อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่) กล่าวว่า

“...ปลางเมื่อปฏิบัตวัดดอนแท่น เมืองมานด่านใต้ ชื่อข้าไธ้ว่ารัสสะภิกขุไชยมงคล เป็นเจ้าอธิการ...”11 (พ.ศ.๒๔๖๒) “...ปลางข้าอยู่ปฏิบัตครูบาเจ้าคันธาวงส์ วัดสรีดอนแท่น เมืองมานใต้ ชื่อข้าไธ้ตน หน้อยสามเณรอาธะ วังฅำ เขียนไว้ค้ำชูสาสนา...”12 (พ.ศ.๒๔๖๗)

สอดรับกับหลักฐานการบันทึกของสยามช่วงทศวรรษ พ.ศ.๒๔๑๐ ที่บันทึกว่ามี “ด่านทรงเมรุ” หรือ “ด่านสุงเหม้น” (สูงเม่น) ตั้งอยู่บริเวณเมืองมานเพื่อป้องกันคนหลบหนี “ด่านทรงเมรุ, เป็นชื่อด่านเมืองแพร่, เขาตั้งไว้ในดง สำรับดูแลผู้คนซึ่งจะหนีไปเปนต้น”13 นอกจากเป็นหน้าด่านด้านใต้ของเมืองนครแพร่ บริเวณเมืองมานยังเป็นเส้นทางและชุมทางการค้าสำคัญของเมืองนครแพร่หรือหัวเมืองใกล้เคียงในอดีต ดังปรากฏบันทึกมีการใช้เส้นทางนี้เดินทางค้าขายและหยุดพักของพ่อค้าวัวต่าง ม้าต่าง และล่อ(ฬ่อ)ต่างของพ่อค้าแขก จีน พม่า และฮ่อ (จีนยูนนาน) ว่า 

สกราชได้ ๑๒๕๘ ตัว(พ.ศ.๒๔๓๙) ปีรวายสัน..ชูชกะ จบับลวงฅำ ธัมม์วัดนาลาวแก้วกว้าง เปนที่จอดยั้งฝูงหมู่กูลวา ฝูงฅนขายครัวเช็กจีนม่านห้อแลนายเฮย14 

และตามเส้นที่สัญจรเลียบน้ำแม่มานก็ปรากฏชื่อหมู่บ้านว่าบ้านท่าช้าง บ้านท่าล้อ และบ้านท่าม้าอีกด้วย 

เมืองมานยังมีความสัมพันธ์กับเมืองนครแพร่อีกประการหนึ่งคือ ชื่อประตูด้านทิศใต้ของเวียงแพร่ที่ชื่อว่า “ประตูมาร” เคยมีการอธิบายว่า มาจากเป็นเส้นทางไปสู่ฌาปนสถาน(ป่าช้าประตูมาร) และเคยเป็นประตูไปสู่ลานประหารนักโทษ เมื่อประหารแล้วก็ทิ้งศพไว้ให้แร้งจิกกิน จึงเป็นประตู “ผี” หรือ “มาร” (พญามาร) หรือบ้างก็กล่าวว่ามาจาก “แม่มาน” (หญิงมีครรภ์) ที่ทำความผิดแล้วถูกนำมาประหารชีวิตบริเวณนี้ แล้วแต่การลากความอธิบายที่เกิดขึ้นในภายหลัง แต่ตามความคิดของผู้เขียนขอเสนอว่าชื่อ “ประตูมารมาจากชื่อของเมืองมานนี้เอง คือเป็นประตูที่เป็นเส้นทางออกจากเวียงแพร่ (เขตคูน้ำคันดินล้อมรอบ) มุ่งไปสู่เมืองมาน ซึ่งเป็นด่านใต้ของเมืองนครแพร่ ดังนั้นจึงควรเขียนว่า “ประตูมาน” เหมือนชื่อ “เมืองมาน” และ “น้ำแม่มาน” ซึ่งการเรียกชื่อประตูตามชื่อเมืองหรือสถานที่ที่เส้นทางนั้นมุ่งจะไปถึงปรากฏทุกหัวเมืองในล้านนา เช่น “ประตูลี้” ประตูด้านทิศใต้ของเวียงลำพูนเป็นประตูที่มุ่งไปสู่ “เมืองลี้” ดังตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า 

“...สก ๙๐๗ ตัว (พ.ศ.๒๐๘๘)...หมื่นสุกโขทัยขี่ช้างเข้าปะตูลี้เถิงที่เรือนหมื่นหนัง ...พระญาใต้หนีเมือทางเมืองลี้ ม่วงป้อม เถิงหัวหาด...”15


หรือเวียงเชียงใหม่ก็มีประตูด้านทิศตะวันตกชื่อว่า “ประตูสวนดอก” คือเป็นประตูที่เป็นเส้นทางออกไปสู่ “เวียงสวนดอก” เป็นต้น

เรื่องราวของ “เมืองมาน” หรือ “เมืองแสนหลวง” หัวเมืองหน้าด่านด้านทิศใต้ของเมืองนครแพร่ที่ผู้เขียนได้เปิดประเด็นขึ้นมาสั้นๆนี้ นอกจากประวัติศาสตร์ความเป็นมาแล้ว ยังมีความหน้าสนใจและน่าศึกษาค้นคว้าอีกมากมายหลากหลายเรื่อง ทั้งทางด้านโบราณคดี สถาปัตยกรรมศิลปกรรม เศรษฐกิจการค้า วรรณกรรม ตลอดจนถึงคติความเชื่อและวิถีชีวิตของผู้คน เนื่องจากหากศึกษาอย่างครอบคลุมแล้วก็จะเห็นความเป็นเมืองของเมืองมานได้อย่างมีชีวิตชีวา 

พร้อมกับช่วยเติมเต็มภาพประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่และของอาณาจักรล้านนาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย..

........................................


เชิงอรรถ

1 หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา (ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
2 คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมฯ, ประชุมศิลาจารึกสุโขทัย,(ม.ป.ท. : ม.ป.พ.,ม.ป.ป.), หน้า ๒๖.
3 ภูเดช แสนสา(ปริวรรต), ตำนานวัดหลวงเมืองมาน ฉบับวัดพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่, (เอกสารอัดสำเนา, พ.ศ.๒๕๕๕), หน้า ๑.
4 สรัสวดี อ๋องสกุล(ปริวรรต), พื้นเมืองเชียงแสน, (กรุงเทพฯ : อมรินทร์, ๒๕๔๖), หน้า ๒๔๓ – ๒๔๔.
5 สรัสวดี อ๋องสกุล(ปริวรรต), พื้นเมืองเชียงแสน, (อ้างแล้ว), หน้า ๗๘.
6 สรัสวดี อ๋องสกุล(ปริวรรต), พื้นเมืองเชียงแสน, (อ้างแล้ว), หน้า ๒๕๕.
7 กรมศิลปากร, ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน,(พระนคร : เจริญธรรม, ๒๕๐๖), หน้า ๒๐๘.
8 ภูเดช แสนสา(อ่าน), จารึกฐานพระเจ้าไม้วัดพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่, วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๓
9 ภูเดช แสนสา(อ่าน), จารึกฐานพระเจ้าไม้วัดพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่, วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๓
10 ภูเดช แสนสา(อ่าน), จารึกฐานพระเจ้าไม้วัดพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่, วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๓
11 ภูเดช แสนสา(อ่าน), กุมารบัน ฉบับพันนาเชียงรุ่ง จ.ศ.๑๒๘๑ ฉบับวัดดอนแท่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ 
12 ภูเดช แสนสา(อ่าน), ภูริทัต ผูก ๒ จ.ศ.๑๒๘๖ ฉบับวัดดอนแท่น ตำบลดอนมูล อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ 
13 แดนบีช แบรดเลย์, อักขราภิธานศรับท์,(กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๑๔), หน้า ๒๑๘.(พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกพ.ศ.๒๔๑๖)
14 ภูเดช แสนสา(อ่าน), ชูชกะ ฉบับลวงคำ จ.ศ.๑๒๕๘ วัดนาลาว(ช่องลม) ตำบลหัวฝาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่(ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดแม่ลานเหนือ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่) 
15 ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี, (เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง.๒๕๓๘), หน้า ๘๙.



Shrae