THAILAND
0799092
วันนี้
เมื่อวานนี้
อาทิตย์นี้
อาทิตย์ที่แล้ว
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ตลอดวันนี้
4354
5957
11444
778587
25002
27806
799092

ไอพีของคุณ: 192.168.102.1
2024-05-15:34
Visitors Counter

JBGMusic

Tumpratun 

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน

 

ประวัติ/ความเป็นมา

          สืบเนื่องจาก เมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเขาปลาร้าเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2536 เพื่อทอดพระเนตรภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งกรมศิลปากรสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 3,000 - 5,000 ปี และทรงมีรับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสำรวจเพื่อที่จะอนุรักษ์ภาพเขียนสี พันธุ์ไม้ พร้อมทั้งอนุรักษ์สัตว์ป่าให้คงอยู่ตลอดไป กรมป่าไม้จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้ามาทำ  การสำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ครอบคลุมพื้นที่เขาหินปูนเนื้อที่ประมาณ 13,052 ไร่ ประกอบด้วยภูเขา จำนวน 7 ลูก คือ เขาฆ้องชัย เขาน้ำโจน เขาน้อย เขาห้วยโศก เขาปลาร้า เขาบริวาร และเขาโยคาวจร ซึ่งมี พันธุ์ไม้ที่สำคัญ และสัตว์ป่าหายากโดยเฉพาะเลียงผา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนอาศัยอยู่ และในวันที่ 2 ตุลาคม    พ.ศ. 2543 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเยี่ยมชมเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน (หุบป่าตาด) อีกครั้ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุนได้รับประกาศจัดตั้งเป็นเขตห้ามล่าฯ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม   พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

image001

สถานที่ตั้งและอาณาเขต

          สถานที่ตั้ง

          เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาฆ้องชัย หมู่ที่ 1 ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ติดทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3438 หนองฉาง-ลานสัก หลักกิโลเมตรที่ 26-27 พิกัด 47P 0564025E 1706812N

          อาณาเขตติดต่อ ดังนี้

          ทิศเหนือ          จรด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3438 ตำบลทุ่งนางาม

          ทิศใต้             จรด ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าห้วยทับเสลา – ป่าห้วยคอกควาย

          ทิศตะวันออก     จรด ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาบางแกรก – ป่าทุ่งโพ

          ทิศตะวันตก      จรด ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าห้วยทับเสลา – ป่าห้วยคอกควาย

จำนวนพื้นที่

          1.พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จำนวน  13,052  ไร่

          2.พื้นที่ควบคุมเตรียมการผนวกเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จำนวน 4,790 ไร่

ลักษณะภูมิประเทศ

          เป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากที่ลาดเชิงเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ และเป็นเขตแดนระหว่างไทย-พม่า ซึ่งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และจังหวัดตาก บริเวณพื้นที่ภูเขาปลาร้า และเขาฆ้องชัย ลักษณะภูมิประเทศในบริเวณนี้มีภูเขาที่มีลักษณะเป็นภูเขาโดด หรือภูเขาที่เกิดขึ้นเดี่ยวๆ จำนวนทั้งหมด 14 ลูก ซึ่งมีเขาหินปูนที่สำคัญ 2 ลูก ประกอบด้วย

          เขาปลาร้า เป็นภูเขาที่มีความสูงของยอดสูงสุดประมาณ ๕๙๗ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากสภาพที่เป็นเขาหินปูนทำให้มีความลาดชันของพื้นที่โดยเฉลี่ยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้พื้นที่โดยรอบของภูเขามีหน้าผาสูงชัน มีความสวยงาม ลักษณะของภูเขาวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ ๘ กิโลเมตร และกว้างประมาณ ๓ กิโลเมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๒๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๕,๐๐๐ ไร่

image003

          เขาฆ้องชัย มีความสูงจากจุดสูงสุดประมาณ ๓๕๓ เมตร จากระดับน้ำทะเล ปานกลาง จากที่เป็นภูเขาหินปูน ทำให้พื้นที่โดยรอบของภูเขาฆ้องชัยมีหน้าผาสูงชัน มีความลาดชันโดยเฉลี่ยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ วางตัวของภูเขานี้ในแนวเหนือ-ใต้ เช่นเดียวกับเขาปลาร้า โดยมีความยาวประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร และกว้างประมาณ ๒ กิโลเมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๗ ตารางกิโลเมตร หรือ ๔,๓๗๕ ไร่ พื้นที่โดยรอบของพื้นที่ภูเขาดังกล่าวเป็นที่ราบที่มีความลาดชันอัตรา ๑ : ๑๐๐ นอกจากนั้น ในพื้นที่บริเวณนี้มีลำน้ำสองสาย ได้แก่ ห้วยทับเสลา ซึ่งไหลผ่านทางเหนือของเขาปลาร้าและเขาฆ้องชัย และห้วยขุนแก้วหรือห้วยคอกควายซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของภูเขาทั้งสองดังกล่าว และลำน้ำทั้งสองได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการสร้างเขื่อนได้แก่ เขื่อนทับเสลาและเขื่อนขุนแก้ว

image005

ลักษณะภูมิอากาศ

          เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ประกอบด้วย ๓ ฤดูกาลในรอบปี ได้แก่ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน

          ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคม จนถึงเดือน ตุลาคม โดยจะมีฝนตกชุกมากที่สุดในเดือน กันยายน   ซึ่งจะมีสภาพอากาศเป็นฤดูฝนกึ่งร้อนชื้นปนอยู่ด้วย

          ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ถึงเดือน มกราคม เป็นช่วงที่มีความหนาวเย็นเป็นระยะในพื้นที่

          ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือน เมษายน โดยเดือน เมษายน มีความร้อนจัดมากกว่าทุกเดือน

ลักษณะทางธรณีวิทยาและปฐพีวิทยา

          ลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่เป็นภูเขาหินปูนที่เกิดในยุค Permian จากลักษณะทางเคมีของหินปูนก่อให้เกิดถ้ำจำนวนหลายแห่ง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ถ้ำที่สำคัญของเขาปลาร้า และเขาบริวาร ประกอบด้วย ถ้ำลม ถ้ำเพชร ถ้ำทอง และถ้ำป่าตาด ส่วนบริเวณเขาฆ้องชัย ประกอบไปด้วย  ถ้ำพรสวรรค์ ถ้ำน้ำทิพย์ ถ้ำค้างคาว และยังมีถ้ำอื่นๆ อีกหลายแห่งที่ยังมิได้สำรวจและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว นอกจากถ้ำดังกล่าวแล้ว บริเวณโดยรอบภูเขาเป็นหน้าผาสูงชัน มีความสูงอยู่ระหว่าง 200-300 เมตร ทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีทิวทัศน์ที่สวยงามแก่ผู้พบเห็น

ทรัพยากรป่าไม้

          ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จำแนกชนิดป่าไม้ออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้

          1. ป่าดิบแล้ง ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของยอดเขาหินปูนและที่ราบบนภูเขา เนื้อที่ประมาณ  

               5,220.8 ไร่ หรือ 40 % ของพื้นที่

          2. ป่าเบญจพรรณ ครอบคลุมพื้นที่ชายเขาหินปูนและไหล่เขาเป็นส่วนใหญ่ เนื้อที่ประมาณ  

               7,318.2 ไร่ หรือ 60 % ของพื้นที่

ทรัพยากรสัตว์ป่า

ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน มีการจำแนกชนิดสัตว์ป่าที่พบ และชนิดสัตว์ป่าที่สำคัญ ที่มีการสำรวจเป็นเบื้องต้นแล้วตามรายงานประกอบการสำรวจจัดตั้งพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ประกอบด้วย

          1. จำพวกนก                                 จำนวน  89  ชนิด

          2. จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม             จำนวน  25  ชนิด

          3. จำพวกเลื้อยคลาน                    จำนวน  29  ชนิด

          4. จำพวกสะเทินน้ำสะเทินบก      จำนวน    8  ชนิด

image007     image009

จุดเด่นภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

          - ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์เขาปลาร้า ตั้งอยู่บริเวณยอดเขาปลาร้า บ้านชายเขา หมู่ที่ 3 ตำบล   ทุ่งนางาม อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี นายบุญธรรมและนายสงวน อินทประเทศ ชาวบ้านตำบลทุ่งโพ อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี เป็นผู้ขึ้นไปพบภาพบนผาหินของถ้ำประทุน ในคราวที่ขึ้นไปหาของป่าและล่าสัตว์ ได้เห็นภาพเขียนด้วยสีแดงอยู่บนผนังถ้ำ คิดว่าพวกล่าสัตว์คงขึ้นมาเขียนทิ้งไว้ ต่อมาได้นำข่าวนี้ไปบอกกับข้าราชการอำเภอหนองฉาง ข่าวนี้แพร่ออกไปยัง คุณพลาดิสัย และอาจารย์พิศิษฐ์ สุริยกานต์ อาจารย์โรงเรียนอุทัยวิทยาคม จึงพากันขึ้นไปดูแล้วเขียนเรื่องเผยแพร่ลงในหนังสือวารสารประชาศึกษา ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 สิงหาคม 2521 ในเวลาเดียวกันอาจารย์วิทยา อินทโกศัย นักโบราณคดีกรมศิลปากรพร้อมด้วยคณะสำรวจหลักฐานทางโบราณคดีในเขตจังหวัดอุทัยธานี ได้เข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่ของทางราชการว่ามีการพบเห็นหลักฐานทางโบราณคดีบ้างหรือไม่ จนได้ทราบเรื่องการพบภาพเขียนบนผนังถ้ำประทุนบนเขาปลาร้าจากนายบุญธรรมเอง และ  นำทางขึ้นไปดู ต่อจากนั้นก็ส่งรายงานมายังกองโบราณคดีและได้มีการเผยแพร่ทางหน้าหนังสือพิมพ์ จากนั้นก็มีครูอาจารย์และข้าราชการพากันขึ้นไปชมอยู่เนืองๆ จนมีผู้พบขวานหินขัด 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งสมบูรณ์แต่อีกชิ้นหนึ่งมีเพียงครึ่งเดียว และเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินอีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันหลักฐานที่พบเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี

image011

 image012

image013

 

 

 

 

 

      image018

 

 

 

 

 

              - หุบป่าตาด ถูกค้นพบครั้งแรกโดยพระครูสันติธรรมโกศล เจ้าอาวาสวัดถ้ำทอง เมื่อปี พ.ศ.2522 เป็นส่วนหนึ่งของเขาห้วยโศก ซึ่งเป็นเขาบริวารของเขาปลาร้ามีลักษณะพิเศษเป็นถ้ำมาก่อน แต่เมื่อหลังคาถ้ำยุบตัวลงจึงกลายเป็นหุบหรือหลุมกลางภูเขา มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ มีลักษณะป่าคล้ายป่าดึกดำบรรพ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีทางออกเพียงทางเดียวและเป็นช่องแคบๆ จึงทำให้บริเวณนี้เป็นระบบนิเวศค่อนค้างปิด มีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี มีต้นตาดขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้ที่น่าสนใจ เช่น ขนุนดิน ม้ากระทืบโรง รวมทั้งสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น เลียงผา เต่าเหลือง นกหลายชนิด และสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบใหม่ของโลก คือ กิ้งกือมังกรสีชมพู พร้อมทั้งมีหินงอกหินย้อยที่ตามผนังถ้ำและอุโมงค์ถ้ำ พบเห็นทั่วไปภายในหุบป่าตาด ในปี พ.ศ.2547 หุบป่าตาด ได้รับคัดเลือกให้เป็น Unseen Thailand

image023      image021

image019

image025

                - ถ้ำค้างคาวเขาฆ้องชัย ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เป็นภูเขาหินปูนที่เกิดในยุค Permian อายุประมาณ 230 ล้านปี มีเนื้อที่ประมาณ 3.4 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,081.25 ไร่ ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 353 เมตร ลักษณะตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไปเป็นหน้าผาสูงชันตลอด รอบเขามีถ้ำที่สำคัญได้แก่ ถ้ำเขาฆ้องชัย ถ้ำพรสวรรค์ ถ้ำน้ำทิพย์ ถ้ำน้ำลอด และถ้ำค้างคาว เวลาออกหากินของค้างคาว ประมาณ 17.30 น. และกลับเข้าถ้ำ ประมาณ 05.30 น.

image027

 image029

 

credit : thaipbs

LineHorizonGif

 

logo banner head tabsalao huayrabam

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ

 

                ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควาย มีพื้นที่ตั้งอยู่ในท้องที่ ตำบลระบำ อำเภอลานสัก โดยได้รับการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,122 (พ.ศ.2528) ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 102 ตอนที่ 137 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2528 โดยมีเหตุผลในการประกาศเพื่อรักษาป่าไม้ของป่า และทรัพยากรธรรมชาติอื่นไว้ มีเนื้อที่ประมาณ 649,500 ไร่ ทั้งนี้พื้นที่ที่จะประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ จำนวน 16,207 ไร่ หรือ 25.93 ตารงกิโมเมตร พื้นที่ส่วนหนึ่งครอบคลุมพื้นที่อ่างเก็บน้ำทับเสลา ท้องที่ ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี มีอาณาเขต ดังนี้

                 1. ทิศเหนือ ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และหมู่บ้านไผ่งาม หมู่ที่ 10 ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี  

                 2. ทิศใต้ ติดสวนป่าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ห้วยระบำ และบ้านโป่งมะค่า หมู่ที่ 7
ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

                 3. ทิศตะวันออก ติดขอบลำน้ำห้วยทับเสลา และบ้านบึงเจริญ หมู่ที่ 9 ตำบลระบำ อำเภอ    ลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

                 4. ทิศตะวันตก ติดเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

maps

4. ลักษณะภูมิประเทศ

             พื้นที่สำรวจเพื่อกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายหรือพื้นที่คุ้มครองอื่นๆ เป็นพื้นที่แนวกันชนที่ติดต่อกับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งยังคงมีสภาพเป็นป่าสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขาสลับกับพื้นที่เนินเขา มีลักษณะลาดเทจากทิศตะวันตกลงมาทางทิศตะวันออก มีระดับความสูงตั้งแต่ 170-1,390 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ส่วนนี้ง่ายต่อการกร่อนของดิน สภาพป่าเป็นป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาระดับต่ำ ลำห้วยสำคัญได้แก่ ลำห้วยทับเสลา มีความยาวในส่วนที่ติดกับพื้นที่ประมาณ 40 กิโลเมตร   ลำห้วยระบำ มีความยาวในส่วนที่ติดกับพื้นที่ประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งทั้ง 2 ลำห้วย ระบายน้ำลงสู่อ่างเก็บน้ำทับเสลาและลงสู่แม่น้ำสะแกกรัง

5. ลักษณะภูมิอากาศ

         โดยสภาพรวมพื้นที่บริเวณนี้ อยู่ในแนวเชื่อมต่อระหว่างภูมิอากาศในแถบร้อน (Tropical climate) กับภูมิอากาศในแถบกึ่งร้อน (Subtropical climate) จึงแบ่งช่วงฤดูกาลเป็นช่วงใหญ่ๆ 2 ช่วง คือ ฤดูแล้ง ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนเมษายน รวม 6 เดือน ช่วงฤดูที่มีอากาศหนาว จะมีระยะเวลาที่สั้นมาก ไม่เกินเดือนครึ่ง อยู่ระหว่างเดือนธันวาคม ถึงเดือนมกราคมเท่านั้น โดยในเดือนมกราคมเป็นเดือนที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ซึ่งในบางปีมักเป็นช่วงที่เริ่มต้นของการเกิดไฟป่า ทำให้มีหมอกควันไฟอยู่ทั่วบริเวณ   ที่เกิดไฟ

6. ลักษณะทางอุทกวิทยา

               แหล่งที่มาของฝนสู่พื้นที่ มีทั้งหมด 3 แหล่ง คือ ฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ฝนจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน (Typhoon) และฝนจากร่องความกดอากาศ (Depression)

             ฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ลักษณะฝนจะไม่รุนแรงนัก แต่จะกระจายเกือบตลอดช่วงฤดูกาล เนื่องจากทิศทางของฝนต้องผ่านทิวเขาสูงและป่าทึบในเทือกเขาถนนธงชัยและเทือกเขาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงเป็นพื้นที่อับฝน (Rain shadow)

               ฝนจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน (Typhoon) ที่เกิดจากทะเลจีนใต้เป็นฝนที่มีความสำคัญกับพื้นที่เป็นอย่างมาก สามารถทำให้เกิดฝนตกหนักและเกิดในวงกว้าง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง ต้นไม้ใหญ่
หักโค่น ถนนหนทางเสียหายและแผ่นดินสไลด์ตัวได้

               ฝนจากร่องความกดอากาศ (Typhoon) ก่อตัวขึ้นที่อ่าวไทยพัดผ่านกรุงเทพมหานคร ขึ้นเหนือ ทำให้มีฝนตกปริมาณไม่มากนัก

            จากการรวบรวมข้อมูลปริมาณน้ำฝนของหน่วยพิทักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่จะประกาศเป็นเขตห้ามล่าที่จะประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ พบปริมาณน้ำฝนในช่วงปี 2556-2561 เฉลี่ย 1,764.57 มิลลิเมตรต่อปี ปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดอยู่ในช่วงปลายปีและต้นปี และปริมาณน้ำฝนมากที่สุดอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงตุลาคม

7. ชนิดดินและหิน

           ดินในพื้นที่ค่อนข้างมีความผันแปรมาก ส่วนใหญ่เป็นดินที่เกิดในที่สูงชัน อันเป็นผลมาจากการสลายตัวของหินเทอมิเดียท หรือหินกรด (Intermediate or acid rocks) ดินที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ดินเรด-เยลโล โพดโซลิก (Red-Yello Podzolic Soils) เป็นดินที่ค่อนข้างชื้นการก่อชั้นของดินไม่ค่อยสมบูรณ์ และแปรผันตามสังคมพืชคลุมดิน คือดินป่าเต็งรังส่วนใหญ่เป็นดินทรายร่วน ดินทรายร่วนปนทราย ไปจนถึงดินทรายจัด ดินต้นค่อนข้างเป็นกรด (PH 4.3-6.9) มีธาตุอาหารของพืชน้อย ดินในป่าผสมผลัดใบเป็นดินร่วนปนทราย จนถึงดินร่วนเหนียวปนทราย ดินตื้นและเก็บความชื้นไม่ดี ค่อนข้างเป็นกรดจัด (PH 4.3-6.9) มีธาตุอาหารพื้นน้อย จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่าดินในพื้นที่จะประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ ไม่เหมาะที่จะเป็นดินเพื่อการเกษตรกรรม ทั้งนี้เพราะดินโดยทั่วไปมีธาตุอาหารน้อยเก็บความชื้นได้ไม่ดี เมื่อมีการทำลายป่าลงผิวดินจะถูกกัดเซาะอย่างรวดเร็ว และแผ่นดินเคลื่อนเกิดขึ้นได้ง่ายจึงควรเก็บไว้เป็นป่าไม้และแหล่งอนุรักษ์สัตว์ป่า

8. ลักษณะชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ

             ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่สำรวจ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำท่าจีน และลุ่มน้ำแม่กลองโดยพื้นที่สำรวจมีลักษณะชั้นคุณภาพลุ่มน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1A และ 1B เป็นพื้นที่ภายในลุ่มน้ำที่ต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ ห้ามมีการใช้ประโยชน์อย่างอื่น เนื่องจากมีลักษณะและสมบัติที่อาจมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ง่ายและรุนแรงไม่ว่าพื้นที่จะมีป่าหรือไม่มีป่าปกคลุมก็ตาม

10. ด้านทรัพยากรป่าไม้

              การสำรวจทรัพยากรป่าไม้บริเวณพื้นที่จัดตั้งเป็นเขาห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ พบสังคมพืช 3 ประเภท ได้แก่ สังคมป่าผสมผลัดใบ สังคมป่าเต็งรัง และสังคมป่าดิบแล้ง รายละเอียด แต่ละระบบนิเวศ ดังนี้

              1. สังคมป่าผสมผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ (Mixed deciduous forest) เป็นสังคมพืชที่พบมากที่สุดในพื้นที่ ตั้งแต่ที่ราบเชิงเขาจนถึงยอดเขา เรือนยอดป่าสูง 10-25 เมตร มีไผ่ชนิดต่างๆ การสำรวจพบไม้ยืนต้น ได้แก่ ประดูป่า แดง มะค่าโมง ชิงชัน แคหัวหมู คำหมอกหลวง  คำหมอกน้อย มะกอก พฤกษ์ ขว้าว กระทุ่มเนิน กระบก ขี้อาย ฉนวน กางขี้มอด ตะคร้ำ ราชพฤกษ์ หว้า สวอง ไทร ผ่าเสี้ยน กาสามปีก โมกมัน โมกหลวง ปรู ตะแบกกราย แคหางค่าง เป็นต้น

              2. สังคมป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) โดยทั่วไปจะมีความหนาแน่นของต้นไม้ในป่าน้อยกว่าป่าผสมผลัดใบ เพราะดินตื้นกักเก็บน้ำได้น้อย มีหินบนผิวดินมาก ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง ปัจจัยสำคัญที่สุดที่กำหนดการคงอยู่ของป่าเต็งรังคือ ไฟป่าซึ่งมักเกิดขึ้นระหว่างเดือนธันวาคม ถึงเดือนมีนาคมเนื่องจากไฟเป็นตัวจัดการโครงสร้างป่าและคัดเลือกพันธุ์ไม้ ต้นฤดูแล้งใบไม้ในป่าเต็งรังจะพร้อมใจกันผลัดใบเป็นสีแดง เหลือง ส้ม อย่างสวยงาม แล้วจะสลัดใบทิ้งทั้งหมดเพื่อเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี หลังจากไฟผ่านไป พื้นป่าจะโล่งเตียน แต่เมื่อได้รับน้ำฝน ป่าเต็งรังก็จะกลับเขียวสดอีกครั้งด้วยหญ้าระบัด ดึงดูดสัตว์กินพืชหลายชนิดเข้ามาสู่ป่าเต็งรัง อาทิ วัวแดง กวางป่า เก้ง กระทิง กระต่ายป่า ความร้อนจากไฟยังช่วยไล่แมลงบนพื้นดินหรือใต้เปลือกไม้ ให้เผลตัวออกมา กลายเป็นอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของเหล่านกกินแมลงนานาชนิดอีกด้วย ปัจจุบัน ป่าเต็งรังในประเทศไทยมีความเสื่อมโทรมลงมาก เพราะการตัดไม้ที่มีคุณค่าทางออกไปใช้งาน สัตว์เลี่ยงพวกวัวควาย เข้าไปหากินในป่าเหยียบย่ำทำลายพันธุ์ไม้ต่างๆ รวมทั้งผลกระทบจากไฟป่าที่เกิดขึ้นมักรุนแรงเกินกว่าป่าจะฟื้นตัวได้ทัน การสำรวจพบไม้ยืนต้น ได้แก่ เต็ง รัง ยางเหียง ยางพลวง พะยอม ยางกราด รกฟ้า ตะแบกเลือด สมอไทย เป็นต้น

              3. สังคมป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen or Semi Evergreen Forest) ป่าดิบแล้งพบกระจายทั่วไปตามที่ราบเชิงเขา ไหล่เขา และหุบเขาที่ชุ่มชื้นจนถึงพื้นที่ระดับความสูงไม่เกิน 950 เมตร การสำรวจพบไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางนา ตะเคียนทอง ยมหอม ตะเคียนหิน ตาเสือ กัดลิ้น มะไฟป่า คอแลน เป็นต้น

11. ทรัพยากรสัตว์ป่า

               1. สัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม จากการสำรวจพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ลิงวอก หมาใน หมาจิ้งจอก หมูป่า หมาไม้ หมูหริ่ง หมีควาย ชะมดแผงหางปล้อง กวาง เสือลายเมฆ เสือดาว เสือโคร่ง เสือดำ ช้างป่า วัวแดง เม่น กระทิง อีเห็นข้างลาย เป็นต้น

               2. สัตว์จำพวกนก จากการสำรวจพบนก เช่น เหยี่ยวรุ้ง เหยี่ยวทุ่ง นกเค้าเหยี่ยว นกเค้ากู่
นกแก๊ก นกหัวขวาน นกอีวายตั๊กแตน นกเด้าดิน นกเด้าลม นกอุ้มบาตร นกกระรางหัวหงอก นกกระรางหัวขวาน นกโพระดกธรรมดา นกตีทอง นกปรอดสวน นกขุนแผน นกโพระดกหน้าผากดำ ไก่ป่า ไก่ฟ้าหลังเทา นกยูง เป็นต้น

               3. สัตว์จำพวกเลื้อยคลาน จากการสำรวจพบสัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตุ๊กแกบ้าน จิ้งเหลนภูเขา-อินเดีย จิ้งเหลนดินจุดดำ จิ้งเหลนห้วยท้องแดง แย้ กิ้งก่าเขาหนามยาว เต่าหก เต่าหกเหลือง ตุ๊กแกบินหาง-หยัก ตะกวด ตะพาบแก้มแดง งูหางมะพร้าว งูจงอาง งูเหลือม เป็นต้น

               4. สัตว์จำพวกสะเทินน้ำสะเทินบก จากการสำรวจพบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น จงโคร่ง กบทูต กบหนอง คางคกแคระ คางคกบ้าน ปาดแคระ อึ่งอ่างบ้าน อึ่งขาคำ เป็นต้น

LineHorizonGif

Khaosanamprieng


1 1

          เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง ในท้องที่ตำบลโกสัมพี ตำบลเพชรชมภู ตำบลลานดอกไม้ตก กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร ตำบลทรงธรรม ตำบลนครชุม ตำบลท่าขุนราม และตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เนื้อที่ประมาณ 101 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 63,125 ไร่ พื้นที่รับผิดชอบอยู่ในแผนที่สภาพภูมิประเทศ มาตราส่วน 1:50,000 หมายเลขระวาง 4841 , 4842

สภาพภูมิประเทศ:เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาต่อเนื่องกันตามแนวเหนือ-ใต้ สูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 120-852 เมตร ประกอบด้วยยอดเขาสนามเพรียง เขาสน เขาคันนา เขาเจดีย์ เขาตองควง เขากิ่วยาง และยอดเขาที่สูงที่สุด คือ ยอดเขาสน สูงจากระดับน้ำทะเล 852 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของคลองวังชมภู คลองคะยาง คลองแตงโม คลองไคร้ คลองไหล่ประดา คลองห้วยโป่ง คลองลึก คลองเมือง ห้วยอ้ายเบี้ย ห้วยกุ่ม ห้วยปลาก้าง รอบๆเขตเป็นพื้นที่ราบและเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และมีประชากรอาศัยอยู่กระจัดกระจายรอบพื้นที่เขต

ทิศเหนือ จด หมู่บ้านทุ่งธารทอง หมู่16 ตำบลโกสัมพี กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร
ทิศใต้ จด หมู่บ้านศรีไกลาศ ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
ทิศตะวันออก จด บ้านมอเสือดุ ตำบลเพชรชมภู กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร
ทิศตะวันตก จด ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองวังเจ้า และป่าคลองสวนหมาก ตำบลโกสัมพี กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร

ทรัพยากรป่าไม้:

1. ป่าเต็งรัง

2. ป่าผสมผลัดใบ

3. ป่าดิบแล้ง

4. ป่าเต็งรังผสมสน

ทรัพยากรสัตว์ป่า:

1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ดังนี้ หมูป่า เลียงผา หมาจิ้งจอก แมวป่า เสือดาว เสือไฟ หมูหริ่ง อีเห็น พังพอน ชะมด ลิง บ่าง เม่นค้างคาว กระรอก กระแต กระต่ายป่า อ้น ตุ่น และลิ่น

2. สัตว์ปีก ดังนี้ ไก่ป่า เหยี่ยว นกกระทา นกคุ่ม นกเปล้า นกเขา นกบั้งรอก นกกระปูด นกตบยุง นกแสก นกจาบคา นกตะขาบ นกกะรางหัวขวาน นกโพระดก นกหัวขวาน นกกางเขน นกปรอด นกแซงแซว นกขุนแผน นกกะรางหัวหงอก นกกินปลี นกขมิ้น นกกาเหว่า นกเขียวคราม นกเอี้ยง นกนางแอ่น นกเค้าแมว นกขุนทอง นกกระติ๊ด นกกระจาบ นกกระจิบ นกกระจาบ นกระวังไพร นกเขาเขียว นกเขาใหญ่ นกเขาชวา นกกวัก       

3. สัตว์เลื้อยคลาน ดังนี้ งู ตะกวด กิ้งก่า ตุ๊กแก เต่า แย้ เหี้ย จิ้งเหลน งูเขียวหัวจิ้งจก ตะขาบ งูเหลือม งูหลาม งูสิง งูเห่า งูจงอาง งูดิน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มี กบ คางคก อึ่งอ่าง เขียด

เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาสนามเพรียง สภาพพื้นที่เหมาะสมสำหรับเป็นห้องเรียนธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงจึงจัดทำ เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาสนามเพรียง โดยมีจุดพัก 15 จุดศึกษา ระยะทางประมาณ  1.5 กิโลเมตร  ซึ่งมีคู่มือประกอบการศึกษาด้วย สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง 

1 4

1 6


LineHorizonGif

BungBoRaPhetch


ประวัติความเป็นมา  

          บึงบอระเพ็ดเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยนกน้ำนานาชนิด แต่เมื่อมีการล่าทำลายในรูปแบบของเกมส์กีฬา และการมีอาชีพดักนกขาย จึงทำให้ปริมาณนกลดลงอย่างน่าวิตก งานจัดการสัตว์ป่า กองบำรุง กรมป่าไม้ จึงได้รวบรวมข้อมูลรายงานต่อกรมป่าไม้ เพื่อให้ดำเนินการประกาศกำหนดให้บริเวณบึงบอระเพ็ดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2518
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา:15/7/2518

พื้นที่

66,250  ไร่

ภูมิประเทศ: เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด มีลักษณะเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีน้ำเก็บกักตลอดปี สามารถเก็บกัดน้ำไว้ได้ระดับมาตราฐานที่กำหนด คือ 23.80 เมตร ร.ท.ก. บริเวณขอบบึงบอระเพ็ด เป็นที่ราบมีบ้านเรือนราษฎรปลูกล้อมรอบเป็นระยะ ๆ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ น้ำจะท่วมในฤดูน้ำหลาก (กันยายน-มกราคม) จึงทำให้อาณาเขตของบึงกว้างออกไปอีกในช่วงเวลาดังกล่าว รอบบึงมีพันธุ์ไม้น้ำขึ้นอยู่ทั่วไป บางตอนมีซากพันธุ์ไม้ทับถมเป็นผืนใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งที่นกจะทำรังและวางไข่ ความลึกโดยเฉลี่ยของน้ำประมาณ 3 เมตร

ภูมิอากาศ: ลักษณะอากาศทั่ว ๆ ไป คล้ายคลึงกับทางภาคกลาง ยกเว้นฤดูร้อนอากาศมักร้อนจัด บางปีร้อนถึง 40 องศาเซลเซียส สำหรับในตัวบึงบอระเพ็ด และประมาณเดือนกันยายน-มกราคม ปริมาณน้ำในบึงจะล้นหลากเกินกว่าระดับเขื่อน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมได้

ทรัพยากรป่าไม้: บึงบอระเพ็ดมีเกาะเล็ก ๆ อยู่ในบึงประมาณ 10 เกาะ มีเนื้อที่ประมาณ 900 ไร่ เป็นเกาะที่เกิดจากการทับถมรวมตัวของพืชน้ำจำพวกสนุ่น (อ้อชนิดหนึ่ง) เอื้อง หญ้าไผ่ กกขนาก เอื้องเพ็ดม้า หญ้าไทร ฯลฯ พืชน้ำที่พบตามชายฝั่งส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับพวกตามเกาะ มีเพิ่มเติมบางชนิด เช่น อ้อกระโจง บัวสาย บัวหลวง บอน จอกหูหนู ผักตบชวา ฯลฯ พันธุ์พืชที่สำรวจพบขณะนี้มีประมาณ 100 ชนิด 

ทรัพยากรสัตว์ป่า:  บีงบอระเพ็ดเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงในด้านความอุดมสมบูรณ์ของนกนานาชนิด ทั้งที่หากินในน้ำและบนบก อาศัยทำรังและวางไข่ตามชายฝั่ง หรือตามกลุ่มพืชน้ำ มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ รวมนับร้อยชนิด ชนิดที่สำคัญได้แก่ นกยาง นกนางแอ่น นกจาบคาเล็ก นกเป็ดน้ำ นกกาน้ำ นกเอี้ยง นกอัญชัญ นกปากซ่อม นกกวัก นกกาบบัว นกเขา นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร นกกระเรียน ฯลฯ นอกจากนี้อาณาเขตของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ยังครอบคลุมถึงบริเวณวัดเกรียงไกร (วัดใหญ่-คงคาราม) และสำนักสงฆ์จอมดอยเขาพนมเศษ ซึ่งทั้ง 2 แห่ง มีลิงแสมแห่งละประมาณ 1,000 ตัว อาศัยอยู่ในป่าใกล้วัด

1 10

ลักษณะของชุมชนในพื้นที่:  เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด มีพื้นที่ครอบคลุม 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์

การคมนาคม: โดยรถยนต์ ไปตามทางหลวงสายนครสวรรค์-ท่าตะโก ระยะทาง 13 กิโลเมตร ก็จะถึงทางแยกด้านซ้ายมือไปตามทางบ้านหัวดง อีกประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตห้ามล่าสัตวืป่าบึงบอระเพ็ด


 

Houikhakeng


1 1

          เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในอดีตนั้นพื้นที่ป่าบริเวณนี้ (ปี พ.ศ.2498) บางส่วนมีการให้สัมปทานการทำไม้แก่บริษัทไม้อัดไทย แต่เนื่องจากรัฐบาลโดยกรมป่าไม้เห็นว่าพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนของห้วยขาแข้ง และห้วยทับเสลา มีสภาพป่าสมบูรณ์และสัตว์ป่าชุกชุม ประกอบกับเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าที่หายากหลายชนิด เช่น สมเสร็จ เลียงผา เก้งหม้อ ควายป่า ละองหรือละมั่ง และแมวลายหินอ่อน ควรจะรักษาพื้นที่ไว้เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า นอกจากนี้พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยขาแข้งและห้วยเสลาตอนบน ยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการเกษตรและเศรษฐกิจด้านอื่นด้วย รัฐบาลจึงได้ดำเนินการผลักดันจนสามารถประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อ พ.ศ. 2515 ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 201 และประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 89 ตอนที่ 132 เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2515 เป็นแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ในขณะนั้นมีพื้นที่ รับผิดชอบประมาณ 1,019,379 ไร่ (1,631 ตารางกิโลเมตร) และได้มีการประกาศผนวกพื้นที่เพิ่มเติมในปี พ.ศ.2529 อีก 589,775 ไร่ ทำให้มีเนื้อที่เป็น 1,609,150 ไร่ (23,574.64 ตารางกิโลเมตร) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 103 ตอนที่ 87 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2529 และได้ผนวกพื้นที่ในส่วนตอนเหนือและฝั่งตะวันออกเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ.2535 ครอบคลุมพื้นที่ตำบลระบำ ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต ตำบลคอกควาย ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และบางส่วนครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ละมุ้ง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก จากการที่ได้ผนวกพื้นที่เพิ่มเติม ครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ติดกันที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของควายป่า สัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งของประเทศไทย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 109 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2535 ทำให้มีพื้นที่รวมในปัจจุบัน 1,737,587ไร่ (2,780 ตารางกิโลเมตร)

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา:30/12/2535

HKK1

พื้นที่:1,737,587  ไร่

ภูมิประเทศ:เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นที่ส่วนหนึ่งของเทือกเขาธงชัย ประกอบด้วยสันเขาน้อยใหญ่ หลายสันด้วยกัน โดยเฉพาะทางตอนเหนือของพื้นที่ สภาพภูมิประเทศลาดเทไปทางตอนใต้และมีที่ราบไม่กว้างขวางมากนักริมสองฝั่งลำห้วยขาแข้ง มียอดเขาที่สำคัญได้แก่ ยอดเขาปลายห้วยขาแข้ง (สูง 1,678 เมตร) ยอดเขาใหญ่ (สูง 1,554 เมตร) ยอดเขาน้ำเย็น (สูง 1,530 เมตร) ยอดเขาเขียว (สูง 1,347 เมตร) ยอดเขาปลายห้วยน้ำเย็น (สูง 1,224 เมตร) ยอดเขาปลายห้วยไทรใหญ่ (สูง 1,253 เมตร) ฯลฯ มีลำห้วยที่สำคัญ ได้แก่ ห้วยขาแข้ง มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง นอกจากห้วยหลักดังกล่าวแล้วยังมีห้วยแยกขนาดเล็กอีกมากมาย แยกขึ้นรับน้ำจากทุกส่วนของพื้นที่หลายสายทำให้มีน้ำไหลตลอดปี ลักษณะลุ่มน้ำแบ่งออกเป็น 6 ส่วนด้วยกันคือ ลุ่มน้ำห้วยขาแข้ง ลุ่มน้ำห้วยทับเสลา ลุ่มน้ำห้วยระบำ ลุ่มน้ำห้วยสองทาง ลุ่มน้ำห้วยองค์ทั่ง และลุ่มน้ำห้วยวิง เนื่องจากมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยขาแข้ง ตั้งแต่เหนือสุดและทางฝั่งตะวันตกเป็นสันปันน้ำของลุ่มน้ำห้วยขาแข้ง เป็นสาขาหนึ่งที่ไหลลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์ จึงมีลักษณะเหมือนกำแพงภูเขาที่สูงชัน ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ทอดยาวจากเหนือจดใต้ ยาวประมาณ 100 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีเขาสูงอีกหลายเทือกทางฝั่งตะวันออกของพื้นที่ อันเป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยหลายสายที่ไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมในท้องที่อำเภอลานสัก อำเภอหนองฉาง อำเภอหนองขาหย่าง และอำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี ไหลรวมลงแม่น้ำสะแกกรังลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ห้วยทับเสลา ห้วยคอกควาย ห้วยน้ำวิ่ง จุดที่สูงสุดของพื้นที่คือ ยอดเขาปลายห้วยขาแข้ง อยู่ในจังหวัดตากที่อยู่ทางตอนเหนือ มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,687 เมตร ส่วนใหญ่เป็น ภูเขาบางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขา ไม่มีทุ่งหญ้าขนาดใหญ่

ภูมิอากาศ:โดยสภาพรวมพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อยู่ในแนวเชื่อมต่อระหว่างภูมิอากาศในแถบร้อน (Tropical climate) กับภูมิอากาศในแถบกึ่งร้อน (Subtropical climate) จึงแบ่งช่วงฤดูกาลเป็นช่วงใหญ่ๆ เป็น 2 ช่วง คือ ฤดูแล้ง ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเมษายน รวม 6 เดือน โดยเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนมากที่สุดและฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม รวม 6 เดือน ช่วงฤดูที่มีอากาศหนาวจะมีระยะเวลาที่สั้นมากไม่เกินเดือนครึ่ง อยู่ระหว่างเดือนธันวาคม ถึงเดือนมกราคมเท่านั้น โดยในเดือนมกราคมเป็นเดือนที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ซึ่งในบางปีมักจะเป็นช่วงที่เริ่มต้นของการเกิดไฟป่า ทำให้มีหมอกควันไฟทั่วบริเวณที่เกิดไฟไหม้ความแปรผันของอุณหภูมิอยู่ในช่วง 6 องศาเซลเซียส ถึง 38 องศาเซลเซียส มีอุณหภูมิสูงสุด 39 องศาเซลเซียส ในที่ราบและต่ำสุด 0 องศาเซลเซียส บริเวณยอดเขา อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 24.4 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์โดยเฉลี่ยประมาณ 65 - 70 % ในฤดูหนาว ส่วนในฤดูฝนจะมีความชื้นสัมพัทธ์สูงมาก เนื่องจากการคายน้ำของใบพืชและดินที่ชื้นจัด ปริมาณน้ำฝนมีค่าเฉลี่ยประมาณ 1,552 มิลลิเมตร ต่อปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมมีปริมาณฝนมากที่สุดเฉลี่ยสูงถึง 370.33 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดในเดือนมกราคม แหล่งที่มาของฝนสู่พื้นที่จาก 3 แหล่ง คือ ฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ฝนจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน[ Typhoon ] และฝนจากร่องความกดอากาศ [Depression ]

ธรณีวิทยา:หินอันเป็นต้นกำเนิดของดินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ส่วนใหญ่เป็นหินอัคนี เกิดในยุคคาร์โบนิเฟอรัส หินอันเป็นต้นกำเนิดดังกล่าวพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ท้องห้วย ยอดเขา และพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะทุกแห่ง

ทรัพยากรป่าไม้:พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งรวมของพรรณไม้ถึง 3 ภูมิพฤกษ์ คือ ภูมิพฤกษ์ Indo - China ภูมิพฤกษ์ Indo - Malaya ภูมิพฤกษ์ Indo - Burma สังคมพืชเด่นของพื้นที่ได้แก่ สังคมป่าผลัดใบ สังคมป่าดงดิบเขา สังคมป่าดงดิบชื้น สังคมป่าดงดิบแล้ง สังคมป่าเต็งรัง และสังคมป่าไผ่ นอกจากสังคมหลังดังกล่าวแล้วยังมีสังคมพืชย่อยที่น่าสนใจอีกหลายชนิด เช่น สังคมผาหิน กลุ่มไม้สนเขา สังคมดอนทรายริมลำน้ำ และสังคมป่าแคระที่ผ่านการทำลายมาก่อนลักษณะที่สำคัญของแต่ละสังคมพืชมีดังนี้ สังคมป่าดงดิบเขา [Hill Evergreen Forest Community] เป็นสังคมพืชที่กระจายในระดับสูง พบในพื้นที่ที่มีความสูง 1,000 - 1,554 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป เช่น บริเวณยอดเขาปลายห้วยขาแข้ง บริเวณเทือกเขาเขียว เทือกเขาใหญ่และเทือกเขาน้ำเย็น ป่าชนิดนี้มีอยู่ประมาณ 235,156.25 ไร่ (376.25 ตารางกิโลเมตร) ปัจจัยอันเป็นตัวกำหนดสังคม [Limiting factors] ได้แก่ ความหนาวเย็นและความชื้นอันเนื่องมาจากความสูง อุณหภูมิจึงค่อนข้างต่ำตลอดปี ปกติอุณหภูมิจะไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส โครงสร้างทางด้านตั้งของป่าดงดิบเขา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แปรผันไปตามลักษณะภูมิประเทศ บริเวณยอดเขาสูงที่รับลมจัดมีไม้ใหญ่ขึ้นห่างๆ ลักษณะของความสูงไม่เกิน 10 เมตร พื้นป่ามีหญ้าและพืชล้มลุกปกคลุมหนาแน่นบริเวณหุบเขาที่มีดินลึก โครงสร้างประกอบด้วยสี่ชั้นเรือนยอด ชั้นบนสุดอาจสูงถึง 35 เมตร พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ วงศ์ไม้ก่อ เช่น ก่อเดือย ก่อหนาม ก่อนก ก่อใบเลื่อม ฯลฯ ชั้นรองสูงประมาณ 15 - 20 เมตร พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ มะนาวควาย เหมือดเขา พลองดง ปอขี้แรด ฯลฯ ชั้นไม้พุ่มสูงไม่เกิน 7 เมตร และชั้นคลุมดินสูงประมาณ 1 เมตร ซึ่งการแยกชั้นค่อนข้างเด่นชัดเฉพาะชั้นคลุมดินเท่านั้น สังคมป่าดงดิบชื้น [Moist Evergreen Forest Community] เป็นสังคมที่พบในบริเวณที่มีความชื้นสูง ปัจจัยที่สำคัญที่เป็นตัวกำหนดสังคมป่าชนิดนี้คือ ความชื้นในดินและอุณหภูมิที่ค่อนข้างร้อน ดินจะต้องเก็บความชื้นได้พอสำหรับการคงใบของพรรณไม้ตลอดปี ด้วยเหตุนี้สังคมป่าดงดิบชื้นจึงพบเฉพาะในลุ่มห้วยหรือที่ราบริมลำน้ำสายใหญ่ๆ ระดับดินตื้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบในหุบห้วยแถบเทือกเขาด้านตะวันออกและด้านเหนือของพื้นดิน ส่วนใหญ่เป็นดินทรายร่วนหรือดินเหนียวปนทรายร่วน เนื่องจากป่าชนิดนี้ชอบอุณหภูมิค่อนข้างร้อน จึงมีการกระจายอยู่ในช่วงความสูงไม่เกิน 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ป่าดงดิบชื้นเป็นป่าที่ไม่ผลัดใบในฤดูแล้ง อาจพบไม้ผลัดใบปรากฏบ้างแต่ปริมาณน้อย ไม้สำคัญที่เป็นไม้ดัชนีของสังคมได้แก่ ยางนา ยางกล่อม ตะเคียนทอง มะหาด กระบาก กระทุ่ม ลำพูนป่า และพวกปาล์ม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีไม้วัยรุ่นของพรรณไม้ชั้นเรือนยอดผสมจนแน่นทึบ เถาวัลย์ขนาดใหญ่พบได้ทั่วไป พื้นป่าค่อนข้างรกทึบด้วยพรรณไม้ล้มลุกที่ต้องการแสงน้อย สังคมป่าดงดิบแล้ง [Dry Evergreen Forest] พบกระจายในระดับเดียวกันกับป่าดงดิบชื้นแต่ขึ้นอยู่ในดินที่มีความชื้นน้อยกว่า เช่น บนสันเขาหรือหุบห้วยแห้งที่มีน้ำเฉพาะฤดูฝน ดินค่อนข้างลึกเป็นดินร่วนปนทราย ทรายร่วนหรือดินทรายร่วนปนดินเหนียวพบในระดับความสูง 400 - 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล พื้นที่ทั้งหมดของป่าชนิดนี้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีอยู่ประมาณ 88,593.75 ไร่ (461.75 ตารางกิโลเมตร) ทางเทือกเขาด้านตะวันออก ทางเหนือ และทางตะวันตกของพื้นที่ ดินมีความเป็นกรดระดับปานกลาง ลักษณะโครงสร้างของสังคมประกอบด้วย เรือนยอดสูงประมาณ 40 เมตร เรือนยอดชั้นรองแบ่งแยกได้ไม่เด่นชัดนัก มีไม้ในป่าผลัดใบขึ้นผสมอยู่ค่อนข้างมาก ไม้หลักที่ใช้แยกในสังคมนี้ได้แก่ ยางแดง สะเดาปัก ยางโอน บางพื้นที่อาจพบยางนาและตะเคียนทอง ขึ้นผสมอยู่ด้วย ไม้ชั้นรองที่ใช้ในการจำแนกได้แก่ ค้างคาวกัดลิ้น ลำใยป่า กระเบากลัก มะไฟป่า สะทิบและคอแลน ในบริเวณที่โล่งอันเนื่องจากไม้ล้มจะพบกล้วยป่าขึ้นอย่างหนาแน่นผสมกับหญ้าและเฟิร์น โดยเฉพาะหญ้ายายเภา บริเวณริมห้วยชิดขอบน้ำจะมีผักกูด ผักหนาม และกอไคร้น้ำ ขึ้นค่อนข้างหนาแน่น ป่าดิบแล้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นที่รวมของกล้วยไม้หลายชนิด สังคมป่าผสมผลัดใบ [Mixed Deciduous Forest] มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 731,937.50 ไร่ พบในบริเวณสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 450 - 900 เมตร ปัจจัยกำหนดที่สำคัญได้แก่ ความลึกของดิน ช่วงความแห้งแล้งและระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล พืชพรรณไม้เกือบทั้งหมดในสังคมจะปลดใบทิ้งในช่วงเดือนธันวาคม และออกใบใหม่ในช่วงเดือนเมษายน พรรณไม้เด่นได้แก่ มะค่าโมง สมพง อินทนิลบก ก้านเหลือง เสลา คูณ เป็นต้น และมีป่าไผ่ขึ้นผสมอยู่ด้วย เนื่องจากป่าชนิดนี้ค่อนข้างโปร่งจึงมีเถาวัลย์ขนาดใหญ่ขึ้นผสมอยู่มาก ในฤดูฝนพื้นป่าจะหนาแน่นไปด้วยลูกไม้และพืชล้มลุกผสมกับไม้พุ่มเตี้ย มีหญ้าปรากฏทั่วๆ ไปอย่างน้อย 11 ชนิด สังคมป่าเต็งรัง [Deciduous Dipterocarp Forest] ป่าชนิดนี้มีอยู่ประมาณ 214,531.25 ไร่ (343.25 ตารางกิโลเมตร) พบในพื้นที่แห้งแล้ง ดินเก็บความชื้นได้ไม่นาน จึงปรากฏในที่ดินทรายจัด ดินตื้นและมีหินผสมอยู่มาก มีปรากฏอยู่ในระดับความสูงตั้งแต่ 200 - 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ไม้เด่นของสังคมได้แก่ เต็ง รัง ยางเหียง ยางพลวง ยางกราด พุดป่า ตานกกรด และผักหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสังคมพืชในชั้นของการทดแทนที่ปรากฏอยู่หลายสังคมด้วยกัน เช่น สังคมผาหิน สังคม ไร่ร้าง และสังคมดอนทรายริมลำห้วย

ทรัพยากรสัตว์ป่า:ห้วยขาแข้งตั้งอยู่ในเขตที่เป็นรอยต่อของเขตภูมิศาสตร์ 4 ภูมิภาคของเอเชีย คือ ภูมิภาคซีโน -หิมาลายัน อินโด -เบอร์มิส อินโด -จีน และซุนดาอิค จึงเป็นศูนย์รวมของพรรณพืชและพันธุ์สัตว์ ทั้งถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารจึงมีความหลากหลาย จากการสำรวจและรวบรวมจากข้อมูล สามารถแบ่งสัตว์ป่าเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จากการสำรวจและการตรวจเอกสารต่างๆ พบว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอยู่ถึง 130 ชนิดพันธุ์ ซึ่งในจำนวนนี้จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อยู่ถึง 6 ชนิด ได้แก่ ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมเสร็จ เลียงผา เก้งหม้อ และแมวลายหินอ่อน นอกเหนือจากสัตว์ป่าสงวนทั้ง 6 ชนิด แล้วยังมีสัตว์ป่าคุ้มครองอื่นๆ และชนิดพันธุ์ซึ่งบางชนิดนั้นเป็นที่ยอมรับกันในระดับโลกว่าเป็นสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ แต่ยังปรากฏค่อนข้างมากในพื้นที่แห่งนี้ ได้แก่ เสือโคร่ง ลิงอ้ายเงี๊ยะ ซึ่งพบในบริเวณป่าดิบเขาเท่านั้น นอกจากนี้ยังมี ลิงวอก หมาไน ชะมดแผงสันหางดำ เสือลายเมฆ เสือดาว ช้างป่า วัวแดง กระทิง และลิ่น สัตว์ปีกหรือนก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จัดได้ว่าเป็นแหล่งที่พบนกมากแห่งหนึ่งทางภาคพื้นเอเชีย จากการสำรวจและรวบรวมเอกสารพบว่ามีอยู่ถึง 360 ชนิดพันธุ์ ซึ่งมากกว่าหนึ่งในสามของนกทั้งหมดที่ค้นพบแล้วในประเทศไทย ในจำนวนนกที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อนกป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ หลายชนิดจัดได้ว่าเป็นนกที่ถูกบีบคั้นจากมนุษย์จนกลายเป็นนกที่กำลังจะสูญพันธุ์ เช่น นกปากห่าง เหยี่ยวรุ้ง เหยี่ยวทุ่ง พญาแร้ง นกเค้าเหยี่ยว นกเค้ากู่ นกเงือกกรามช้าง นกเงือกคอแดง นกแก๊ก นกกก นกหัวขวาน เป็นต้น ส่วนนกยูงจัดว่าเป็นสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จัดได้ว่าเป็นแหล่งพักของนกที่โยกย้ายถิ่นหลายชนิดด้วยกัน ในช่วงที่เขตอบอุ่นและเขตหนาวในซีกโลกเหนือเป็นฤดูหนาวนับจากเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมีนาคม นกเล็กๆ หลายชนิดได้โยกย้ายถิ่นลงมาหากินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ ที่สำรวจพบมีดังนี้ นกอุ้มบาตร นกเด้าลม นกอีวาบตั๊กแตน นกเด้าดิน เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีพื้นที่กว้างใหญ่และมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ โดยรอบ และลักษณะภูมิประเทศที่มีความแตกต่างกันภายในพื้นที่ทำให้เป็นที่รวมของสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิด จากการสำรวจที่ผ่านมาพบแล้ว 81 ชนิด เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน 3 ชนิด ได้แก่ เต่าห้วยดำ ตุ๊กแกทะวาย และจิ้งเหลนภูเขาอินเดีย สำหรับสัตว์เลื้อยคลานที่หายากและชนิดที่ถูกทำลายจนกำลังจะกลายเป็นสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ไป แต่พบในท้องที่ได้แก่ กิ้งก่าเขาหนามยาว กิ้งก่าหัวสีฟ้า เต่าหก เต่าเดือย กิ้งก่าแก้ว ตุ๊กแกบินหางหยัก ตะกวด และตะพาบแก้มแดง นอกจากนี้ยังมีสัตว์จำพวกงู ได้แก่ งูหางมะพร้าว งูจงอาง งูเหลือม ซึ่งสัตว์ป่าเหล่านี้จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จากการสำรวจและรวบรวม พบว่ามีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำนวน 37 ชนิด ซึ่งมีหลายชนิดที่สำคัญและกำลังถูกทำลายจนกลายเป็นสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ ได้แก่ จงโคร่งและกบทูด นอกจากนี้ยังมีชนิดที่สำคัญ ที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อีกสองชนิดได้แก่ คางคกแคระและคางคกหัวเรือย ปลาน้ำจืด จากการสำรวจปรากฎว่าพื้นที่แห่งนี้มีปลาน้ำจืดอยู่ถึง 105 ชนิด โดยมีชนิดที่ยังไม่มีรายงานพบในประเทศไทยอยู่ 9 ชนิด ปลาหลายชนิดจัดเป็นปลาที่หายากในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ปลาฉลาด ปลาเค้า ปลาเลียหิน จากการสำรวจมีชนิดพันธุ์ปลาอย่างน้อย 8 ชนิด เป็นปลาชนิดใหม่ในลุ่มน้ำแม่กลอง ได้แก่ ปลาในสกุล Acantopsis 1 ชนิด Cavasius อีกหนึ่งชนิด และอาจมีเพิ่มอีก 7 ชนิด

ลักษณะของชุมชนในพื้นที่:รูปร่างของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีลักษณะค่อนข้างยาวจากเหนือจดใต้ ตลอดพื้นที่ลุ่มน้ำของลำห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นตำบลระบำ ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต ตำบลคอกควาย ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และบางส่วนของจังหวัดตาก ในท้องที่ตำบลแม่ละมุ้ง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีแนวเขตติดกับแนวเขตจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี อาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือ จดแนวเขตจังหวัดนครสวรรค์ เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุ้มผาง และป่าสงวนแห่งชาติห้วยทับเสลา ทิศตะวันออก จดป่าสงวนแห่งชาติห้วยคอกควาย ป่าห้วยทับเสลา และพื้นที่ทำกินบางส่วน ทิศตะวันตก จดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าสงวนแห่งชาติเขาน้ำโจน ทิศใต้ จดแนวเขตจังหวัดกาญจนบุรี เป็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์ และแนวเขตจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแนวเขตพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติพุเตย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ที่เป็นผืนป่าเดียวกันในส่วนผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย

การคมนาคม:ตั้งต้นจากจังหวัดอุทัยธานีผ่านอำเภอหนองฉางและอำเภอลานสัก ถึงหลัก กม.53 มีทางแยกทางซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 14 กม จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รวมระยะทางจากจังหวัดอุทัยธานีประมาณ 90 กิโลเมตร

ที่ตั้ง:ทิศเหนือ จดแนวเขตจังหวัดนครสวรรค์ เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุ้มผาง และป่าสงวนแห่งชาติห้วยทับเสลา

สถานที่ติดต่อ:สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตู้ ปณ. 7 อ. ลานสัก จ. อุทัยธานี 61160 หมายเลขโทรศัพท์ 085-7258433, 087-8400316 เวลา 08.00-16.30 น.

seub 3


เพลง คนขาแข้ง คำร้อง/ทำนอง วิมล กองแก ตำแหน่ง นักวิชาการป่าไม้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

LineHorizonGif