เริ่มต้นปลูกกล้วยไม้



สวัสดีครับ เพื่อน ๆ ผู้หลงไหลรักกล้วยไม้ทุกท่าน วันนี้เรามาเดินก้าวหัดเลี้ยงไปพร้อม ๆ กันกับผมนะครับ ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้เป็นผู้รู้และไม่ได้เป็นเซียน บทความนี้เขียนแชร์ประสบการณ์เล่าให้ฟังกันนะครับ หลายท่านที่ได้เคยลองเลี้ยงกล้วยไม้แล้วบางคนอาจจะบอกว่าเลี้ยงยาก แต่บางคนก็บอกว่าเลี้ยงง่าย เอ๊ะ ! สรุปแล้ว กล้วยไม้เค้าเลี้ยงยากหรือว่าเลี้ยงง่ายกันแน่น๊ะ ในบทความนี้ผมจะพาทุกคนเดินไปดูเรื่องราวการเลี้ยงกล้วยไม้ที่น่าสนใจกันครับ เลื่อนเม้าตามลงมาเลย!

เรื่องน่ารู้กับการหัดเลี้ยงกล้วยไม้
คิดว่าเพื่อน ๆ ทุกคนคนทราบมาเป็นอย่างดีแล้วว่า ในโลกของเรามีกล้วยไม้นับหมื่นชนิด และทุกชนิดก็ขึ้นกระจายพันธุ์ไปทั่วโลก น่าทึ่งจริง ๆ นะครับที่กล้วยไม้เป็นพืชที่ยึดอาณาเขตการกระจายพันธุ์ได้มากมายตั้งขนาดนี้ ให้เทียบละก็ คงเหมือนมนุษย์นั่นแหละครับ แต่ ! แต่ทว่า กล้วยไม้ ไม่เหมือนมนุษย์ตรงที่ว่า เค้าไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อต้องเปลี่ยนที่อยู่อาศัย เพราะเหตุนี้นี่เอง เราจึงเลี้ยงกล้วยไม้ในเขตร้อนในเมืองหนาวไม่ได้ และเลี้ยงกล้วยไม้เขตหนาวในเมืองร้อนไม่ได้ ครับ !
     ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่เราจะเลี้ยงกล้วยไม้แต่ละชนิดนั้น เราต้องศึกษาให้ดีก่อนว่า เรากำลังจะเลี้ยงพันธุ์อะไร และสายพันธุ์นั้น เลี้ยงที่บ้านของเราได้ไหม ผมคิดว่าหลายท่านคงมีประสบการณ์เช่นเดียวกับผม ครั้งหนึ่งผมได้หลงผิดซื้อ กล้วยไม้ที่มีชื่อว่า มณีไตรรงค์ มาเลี้ยง ซึ่งแน่นอนว่าความประทับใจครั้งแรกนั้น ดอกของเค้าช่างสวยถูกใจนัก ณ เวลานั้นไม่ต้องคิดอะไรมาก ขอแค่สวยน่าเลี้ยงก็ควักเงินจ่ายไปเสียแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป พบว่าเริ่มแตกหน่อ ให้ดอกแล้วก็ปราบปลื่มใจ เหมือนกับว่าเราสามารถเลี้ยงเค้าได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปราว ๆ ปี - ถึง ปีครึ่ง ผมเริ่มสังเกตุเห็นว่า ลำของเค้าเริ่มผอมอ่อนแอ และดูเหมือนใกล้จะจากลา นั่นเป็นสาเหตุที่ผมเริ่มหาข้อมูลเพื่อจะเลี้ยงกล้วยไม้ต้นนี้ให้รอด ข้อมูลที่พบ เอื้องมณีไตรรงค์ ขึ้นอยู่ที่ความสูง พันกว่าเมตร-สองพันกว่า ๆ จากระดับน้ำทะเล ถึงกับช๊อค เพราะที่บ้านผมสูงจากระดับน้ำทะเลแค่ สามร้อยหน่อย ๆ (เชียงใหม่สูงจากระดับน้ำทะเล 310 เมตร) แน่นอนว่ากล้วยไม้ต้น นี้ ถ้าไม่ติดแอร์เลี้ยง ตายแน่นอน ผมจึงทำใจ และเฝ้ารอดูวันที่เค้าจากไปอย่างสงบสุข นั่นเป็นเหตุสะเทือนขวัญอย่างหนึ่งของผมเลยก็ว่าได้ ...

ภาพ เอื้องมณีไตรรงค์ (Dendrobium wardianum)

ข้อสรุปเบื้องต้น เลี้ยงกล้วยไม้อย่างไรให้รอด
1. เราต้องศึกษามาก่อนว่า ชนิดนั้น เลี้ยงที่บ้านเราได้ไหม (กล้วยไม้ตามร้านที่เล็งไว้ไม่หนีไปไหนหรอกครับ)
2. เราต้องรู้ว่า ชนิดที่เราจะซื้อ ชอบแสงน้อย หรือ ชอบแสงมาก ๆ เช่น เอื่องมอนไข่ที่ดูผิวเผินเหมือนจะชอบร่ม แต่จริง ๆ ชอบแสงเยอะ ๆ ไปซะงั้น
3. กล้วยไม้ที่เราจะปลูกนั้น ปลูกยังไง ห้อยหัวลงหรือเปล่า ลำตั้งขี้นหรือเปล่า หรือทำมุมฉากกับพื้นโลกเป็นแนวระนาบ หรือใช้ดินปลูก กันแน่นะ !
4. อย่าดูแต่รูปลักษณ์ ให้เข้าใจข้างในของเค้าด้วย ครับ !
5. ไม่รู้สายพันธุ์แน่ชัด หาคำตอบไม่เจอ ผมทำเว็บบอร์ดขึ้นมาเพื่อ สนทนาเรื่องกล้วยไม้โดยเฉพาะ ลองแวะไปเที่ยวคุยกันได้ครับที่

ถ้าเราศึกษามาแม่นแล้ว เราก็ผ่านด่านอรหันต์ด่านแรกแล้วละครับ นอกจากจะเลี้ยงไม่ตายแล้ว เผลอ ๆ จะแตกกออลังการให้ทึ่งอีกก็เป็นได้ เอาละต่อไปเรามาลุยด่านที่สองกันต่อดีกว่า ด่านต่อมาที่เราจะพบคือ "ตรรหาและความอยาก" ครับ แน่นอน เมื่อเรา เริ่มเลี้ยงกล้วยไม้เป็นแล้ว มันมักจะมีอะไรมาสะกิดใจให้อยากหาอะไรที่เสี่ยง ๆ มาเลี้ยงอีก อย่างไม้ขวดไม้นิ้วเนี่ย ตัวดีเลย ยิ่งต้นสวย ๆ สายพันธุ์ดี ๆ มันช่างน่าเก็บมาสะสมไว้ในรังนัก ว่าแล้วก็สอยซะ แต่เลี้ยงไปเลี้ยงมา อ้าว ใบร่วง ต้นเหี่ยว รากใหม่ไม่เดิน ทำไมละ ก็ศึกษามาดีแล้วนี่ !
     บางครั้ง เราศึกษามาดีแล้วแต่บางทีก็เจอกล้วยไม้หมกเม็ดครับอย่างซื้อต้นที่ติดโรคมา หรือไปเจอกับชนิดที่พิเศษกว่าชาวบ้าน เช่น กล้วยไม้ที่เป็นชนิดที่เลี้ยงง่าย แต่ดันมีสีแปลกไปจากชาวบ้าน พวกกล้วยไม้ที่มี ลักษณะพิเศษเหล่านี้มักจะเลี้ยงยากขึ้นเป็นเท่าตัวครับ ยิ่งแปลก ยิ่งเลี้ยงยาก และยิ่งเป็นลูกผสมที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้นั่นยิ่งตัวดีเลยครับ แทนที่จะเลี้ยงสบาย ๆ แต่กลายเป็นว่าหนักกว่าซื้อกล้วยไม้สูงสองพันเมตรมาเลี้ยงเสียอีก แต่บางชนิดแปลกแต่เลี้ยงง่ายก็มีครับ

ข้อสรุปที่สอง หลักการเลือกซื้อกล้วยไม้
1. พึงพิจารณาทรงต้นให้ดี ถ้ามีอะไรดำ ๆ ถามผู้ขายทันที ว่ามันคืออะไร เกิดเป็นราจะปวดใจภายหลังครับ
2. ถ้ากล้วยไม้ดูไม่แข็งแรง โทรม ก็อย่าได้ควักเงินซื้อครับ ถึงแม้ต้นนั้นจะสวยถึงขนาดติดรางวัลเพียงไดก็ตาม
3. ไม้ขวด พึงพิจารณารากและทรงต้นในขวด ถ้าเล็กแคระแกรนรากน้อย + กับความมั่นใจในฝีมือ x ประสบการณ์ หารด้วย 100 เข้าไปแล้ว ถ้าได้น้อยกว่า 50% จงอย่าซื้อครับ เพราะคุณอาจจะพลั้งมือทำลูกไม้ตายยกขวดได้
4. ไม้นิ้ว เลือกต้นที่อวบอั๋นน่ากินเข้าไว้ อย่าเลือกต้นที่ผอมดูขี้โรคเชียวครับ
5. ไม้รุ่นและไม้พร้อมดอก พิจาณาอย่าให้บังเกิดราที่โค้นหรือใบจะดีเยี่ยม
6. ไม้ในเนต เนื่องจากเลือกต้นไม่ได้ จงเลือกซื้อกับเว็บใหญ่ มั่นใจเชื่อถือได้ ระวังมิจฉาชีพหลอกลวงใช้ภาพประกอบสวยแต่ได้อะไรไม่รู้มาเลี้ยงแทนนะครับ

หลายคนอาจติดคาใจเรื่องที่จะรู้ได้อย่างไรว่าไม้ขวดเบอร์ไหนสวยไม่สวย อันนี้ต้องพิจารณากันเองครับ บางครั้งพ่อแม่กล้วยไม้ได้รางวัลมากมายลูกไม้ที่ได้ไม่สวยเลยก็มี บางครั้งไม่มีรางวัลประดับเลยลูกไม้สวยสุดยอดก็มี เนื่องจากกล้วยไม้ที่เพาะ เป็นไม้เมล็ดจึงไม่อาจคาดเดาได้ว่าลูกไม้จะสวยหรือไม่ แต่ ลูกไม้ที่เกิดจากพ่อแม่พันธุ์ที่สวยเด่นอยู่แล้วนั้น เปอร์เซนที่จะได้ลูกไม้สวยนั้นก็ย่อมมีมากกว่าการนำกล้วยไม้ที่ไม่ได้คัดสรรค์มาผสมมั่ว ๆ อย่างแน่นอนครับ ดังนั้นการเลือกซื้อไม้ขวด ไม้นิ้ว ถ้าอยากได้กล้วยไม้ที่น่าพึงพอใจ เราควรสืบหาประวัติผู้ทำกล้วยไม้ชุดนั้นให้ดีเสียก่อน ถ้าเป็นไปได้การมีภาพของพ่อแม่พันธุ์ยืนยันย่อมดีกว่าครับ เพราะสะดวกแก่การตัดสินใจของเราครับ แน่นอนว่าชื่อเสียงและประสบการณ์ของผู้ผสมกล้วยไม้เองก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ถ้าพิจารณาประกอบกันหลาย ๆ อย่างแล้ว เช่น กล้วยไม้ A มีภาพพ่อแม่ยืนยัน ที่เราเห็นนั้นสวยมากดูแล้วน่าซื้อ ประกอบกับ ผู้ผสมกล้วยไม้ A มีฝีมือลือชื่อ ลูกกล้วยไม้ ต้นนี้ก็ย่อมน่าซื้อและน่าเก็บเป็นธรรมดาครับ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับใจของเราเองทั้งหมดครับ






เครื่องปลูกกล้วยไม้ / วัสดุปลูกกล้วยไม้ / ภาชนะปลูกกล้วยไม้

     เครื่องปลูกกล้วยไม้นั้นมีเยอะมาก ๆ ครับ ซึ่งการใช้นั้นจะขึ้นอยู่กับกรณีด้วย เช่นอยากให้โปร่งก็ใช้ของที่ระบายน้ำดีถ้า อยากให้ชื้น ก็ต้องหาอะไรที่ระบายน้ำดีและสะสมความชื้นได้ดีไปพร้อม ๆ กัน โดยหลักๆแล้ว การปลูกกล้วยไม้เราจะเน้น เครื่องปลูกที่ระบายน้ำได้ดี มีความโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อุ้มน้ำจนเกินไป หากเครื่องปลูกของกล้วย ไม้อุ้มน้ำมาก ๆ แล้ว ผลที่ตามมาคือ กล้วยไม้จะเน่า และตายในที่สุดครับเรามาดูกันเลยดีกว่าว่าเราใช้อะไรปลูกกล้วยไม้ได้บ้าง

กาบมะพร้าวสับ

- วัสดุปลูกพื้นบ้านหาง่าย เหมาะสำหรับกล้วยไม้ทุกประเภท เสียอย่างเดียว ผุไว **คำเตือน ควรแช่น้ำและเปลื่ยนถ่ายน้ำหลายๆครั้งจนน้ำใส ก่อนใช้งาน มิฉะนั้นยางมะพร้าวจะชงักการเติบโตกล้วยไม้ของท่าน !

ถ่าน

- วัสดุปลูก หาง่าย ไม่อุ้มน้ำมาก ใช้ได้นาน เหมาะสำรับกล้วยไม้ทุกชนิด ก่อนนำมาใช้ให้ใช้กรรไกรตัดกิ่งหรือมีด สับให้มีขนาดเท่า ๆ กัน จะให้ดีควรตัดให้สวย ๆ เป็นก้อนสี่เหลี่ยมเหมือนลูกเต๋าจะดีมาก

โฟม

-วัสดุเหลือใช้หาได้ง่ายในท้องถิ่น หากขัดให้เป็นเม็ดเล็ก ๆ จะใช้ผสมกับเครื่องปลูกรองเท้านารีได้ หากตัดเป็น ก้อนสี่เหลี่ยมดังภาพ จะนำไปรองตะกร้าไม้นิ้วป้องกันรากพันตะกร้า และช่วงระบายอากาศในภาชนะให้โปร่งได้ดี หรือจะใช้หนีบ ไม้นิ้วก็ได้ ข้อดี ทนสุด ๆ ข้อเสีย ไม้ที่หนับโฟมจะผอม เพราะไม่ค่อยชื้นเอาเสียเลย อาจจะใช้สแฟ้กนั่มมอสหนีบแวมเพิ่มเข้าไปเวลาปลูกไม้นิ้วเพื่อช่วยเพิ่มความชื้นได้

สเฟกนั่มมอส

- วัสดุราคาตามเกรด ใช้ปลูกไม้กล้วยไม้นิ้วเป็นส่วนใหญ่ บางทีก็เอาไปใช้ผสมเป็นเครื่องปลูกรองเท้านารี วิธีใช้ แช่น้ำล้างเศษฝุ่นก่อนแล้วก็นำไปปลูกได้เลย ข้อดี อุ้มความชื้นได้เยี่ยมมาก ลูกไม้อ้วนสวย ข้อเสีย ผุไว และอุ้มน้ำมากเกินไปหาก รดน้ำมาก

รากชายผ้าสีดา / กระเช้าสีดาแห้ง

- วัสดุปลูกที่เลี้ยงกล้วยไม้ได้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยื่ง สกุลหวายไทยได้เยี่ยมยอดที่สุด รักษาความชื้นและความโปร่งได้ดี วิธีนำมาใช้ ให้แช่น้ำล้างฝุนล้างไข่แมลงก่อน แล้วจึงหั่นมาใช้เป็นส่วน ๆ หากใส่ลงกระเช้า ระวัง อย่าใส่หนา ไม่งั้นอาจมีวัชพืชขึ้นมากมาย และรากกล้วยไม้อาจจะเน่าเพราะแน่นเกิน !

ออสมันดา

-เป็นรากของเฟินออสมันดา ปัจจุบันมีราคาแพงมากจึงหันมาใช้โฟมแทน ออสมันดามักใช้หนีบนิ้วลูกไม้นิ้ว เพราะโปร่งและเก็บความชื้นได้ปานกลางไม่แห้งเกินและแฉะเกิน ไม่แนะนำให้หามาใช้ เพราะแพงและหายาก(และต้องตัดทำลายต้นเพื่อเอารากมาขาย)หาอย่างอื่นแทนดีกว่า

พีทมอส

- นิยมใช้เป็นส่วนผสมเป็นเครื่อง ปลูกรองเท้านารีและกล้วยไม้ดินได้ หลายชนิดเนื่องจากให้ความชื้นได้ดี และ บางทีก็เอาไปผสมเป็นเครื่องปลูกหม้อข้าวหม้อแกงลิงด้วย และไม้ใบไม้กระถางต่างๆเช่นเฟินได้อีกด้วย !!

ขุยมะพร้าว

- นิยมใช้ผสมเป็นเครื่องปลูกรองเท้าแทนพีทมอส เนื่องจากพีทมอสมีราคาแพง ก่อนนำมาใช้ต้องแช่และถ่ายน้ำบ่อยๆก่อน หลายๆครั้งจนน้ำที่แช่ใส เพื่อเจือจางยางสีน้ำตาลในขุยมะพร้าว(สารเทนนิน)ก่อน

กรวดหยาบ

- ใช้ผสมกับเครื่องปลูกรองเท้านารีเพื่อให้เครื่องปลูกโปร่งขึ้น และใช้โรยกลบหน้ากระถางรองเท้านารีเพื่อไม่ให้ผิว เครื่องปลูกถูกน้ำชะล้างออกไปได้โดยง่าย ช่วยทำให้ความชื้นอยู่ได้นานข้อดีหาง่าย มีทั่วไป ข้อเสีย อาจเป็นที่อยู่ของแมลงเช่น มดได้

ทรายหยาบ

- ใช้ผสมเป็นเครื่องปลูกรองเท้านารี ช่วยให้เครื่องปลูกโปร่งมากขึ้น ระบายน้ำดีเก็บความชื้นได้มากขึ้น วิธีใช้ อย่าผสมมาก เพราะจะหนักและอุ้มน้ำมากเกินไป เอาพอหยาบ ๆ ก็เพียงพอแล้วครับ

ไฮโดรตรอน

- เป็นเม็ดดินเผา มักใช้ปลูกรองเท้านารี ใช้เป้นส่วนผสมหลักของเครื่องปลูก มี ราคาสูง ใช้กรวดหยาบแทน แต่ไฮโดรตรอนมีข้อดีกว่าหลาย ๆ อย่างคือ สะอาด โปร่ง น้ำหนักเบา และใช้ได้นาน ไม่ต้องเสียเวลาผสมเครื่องปลูกเอง มีข้อเสียบาง คือเมื่อใช้งานไปนานๆ มักเกิดราขาวและ พวกมดเล็กๆชอบเข้าไปทำรัง เพราะเม็ดไฮโดรตรอน โปร่งและเย็น

หินภูเขาไฟ

- ใช้ผสมเป็นเครื่องปลูกรองเท้านารี มีหลายขนาด ใช้ตามความเหมาะสม หินภูเขาไฟเป็นวัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาค่อนข้างสูง ใช้ปลูกอะไรก็งามครับ หินภูเขาไฟมีองค์ประกอบของแร่ธาตุสูงไม่เป็นอันตรายกับต้นไม้ น้ำหนักเบาและลอยน้ำได้

ออสโมซิส

- เครื่องปลูกอีกชนิดที่หาได้ตามร้านค้าทั่วไป หาง่ายแถมฟรีถ้าเป็นเศษของเก่า หากนำมาซอยดั่งภาพจะใช้เป็นเครื่องปลูกรองเท้านารีครับ ช่วยเพิ่มความชื้นได้ดี แถมทนกว่าวัสดุที่เป็นกาบมะพร้าวเยอะ

แกลบเผา

- ใช้ผสมเป็นเครื่องปลูกรองเท้านารี และ กล้วยไม้ดิน รวมไปถึงไม้ดอกไม้ประดับทุกชนิดทำให้เครื่องปลูกโปร่ง พอเวลาผ่านไปยังย่อยสลายเป็นธาตุอาหารได้อีกด้วย ราคาถูกหาซื้อได้ตามร้านค้าเกษตรทั่วไป

รากไม้แปรรูป / ขอนไม้

- ภาชนะปลูกกล้วยไม้เลียนแบบธรรมชาติ โยกย้ายได้สะดวก ข้อดี ดูเป็นธรรมชาติกว่าใส่กระเช้าแขวน

ขอนไม้แบบแผ่นแบน

- แผ่นไม้ นำมาปลูกกล้วยไม้ได้ แต่ไม่สวย เพราะแบน ดูไม่เป็นธรรมชาตินัก เอามาตอกตะปู ทำเป็นกระเช้าไม้ดีกว่าครับ

ขอนไม้แบบมีรอยหยัก

- ปลูกกล้วยไม้ได้หลายสกุล โดยเฉพาะกล้วยไม้รากอากาศต่างๆเช่นสกุลเข็ม หรือ แวนด้า ครับ เมื่อปลูกรวมๆกันหลายต้นในขอนไม้ จะสวยงามมากตอนมีดอก และรอยหยักบนพื้นผิวไม้ทำให้รากกล้วยไม้เกาะได้โดยง่าย ไม่ลื่นหลุดเวลาเจอฝนตกหนัก ๆ สวยกระทัดรัดเหมาะสำหรับคนชอบไม้แบบมีลวดลายครับ แต่มีข้อเสียคือ เป็นวัสดุจากป่า ต้องตัดทำลายกิ่งไม้ต้นไม้ และ เมื่อใช้ไปนานๆ1-2ปี เปลือกไม้ด้าน นอกจะผุ ร่อนออกมาเป็นแผ่น ทำให้ต้นกล้วยไม้หลุดร่วงจากขอนไม้ที่แขวนได้

กระถางนิ้ว

- ใช้อนุบาลกล้วยไม้หลังจากออกจากขวดได้พักหนึ่งแล้ว เราเรียกกล้วยไม้ที่อยู่ในกระถางชนิดนี้ว่า กล้วยไม้นิ้วครับ

กระถางพลาสติกก้นลึก

- นิยมใช้ปลูกหวาย และกล้วยไม้ที่เหมาะสมแล้วแต่เห็นควรพิจารณาครับ ไม่แนะนำให้ใช้ปลูกพวกแวนด้า ช้าง หรือชนิดใกล้เคียงเพราะดูไม่สวย หากต้นกล้วยไม้โตแล้วกระถางอาจพลิกกลับหัวกลับหางได้นะครับ ความสมดุลจะเสียตอนกล้วยไม้โต

กระถาง 4 นิ้ว และ ขนาดทรงอื่น ๆ

- ขนาด 4 นิ้ว นิยมปลูกกล้วยไม้สกุลแวนดา เข็ม ช้าง สิงโต และอื่น ๆ มากมายแล้วแต่ความเหมาะสม ส่วนขนาดใหญ่ ๆ มักปลูกจำพวกแกรมาโตครับ หรือพวกซิมบิเดียมรากอากาศเช่น กะเรกะร่อนเป็นต้น

กระเช้าไม้สัก / กระเช้าไม้

- ภาชนะปลูกกล้วยไม้ที่นิยมมาก มีความสวยงาม จะคงทนก็เฉพาะกระเช้าที่ทำมาจากไม้สักเท่านั้น ปัจจุบันไม้อะไรก็เอามาทำก็เลยทนบ้างไม่ทนบ้างปน ๆ กันไป ข้อเสียของมันคือ พอผ่านไประยะหนึ่ง จะเริ่มผุและพังในที่สุด

กระถางดินเผา

- ภาชนะยอดนิยมอีกแบบ รักษาความชื้นได้เยี่ยม แบบก้นลึกใช้ปลูกหวายสายน้ำครั่งแบบใหญ่ ๆ ปากกว้าง เอาไว้ปลูกรองเท้านารี ที่เหลือแล้วแต่ประยุกต์
     ทั้งหมดนี้ก็เป็นเครื่องปลูกหลัก ๆ เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นครับ หลาย ๆ ท่านอาจจะประยุกต์ด้วยการปลูกในตะกร้าบ้าง ในฝาครอบพัดลมบ้าง ซึ่งก็ใช้ได้ทั้งนั้น แต่ในการปลูกกล้วยไม้แต่ละชนิดนั้นเราควร คำนึงถึงชนิดที่เราปลูกเพื่อความเหมาะสมกับภาชะที่ปลูกด้วย ภาชนะปลูกกล้วยไม้จะแตกต่างจากการปลูกต้นไม้ทั่วไปคือมีข้อห้ามว่า ห้ามเผื่อขนาดของกระถาง ถ้าเราเผื่อไว้ว่า อีกหน่อยกล้วยไม้คงโต ซื้อครั้งเดียวใหญ่เลยดีกว่านั้น คิดผิดแล้วครับ เพราะกระถางที่โตกว่ากล้วยไม้ จะเป็นภาชนะที่อุ้มความชื้นมากเกินไปมีผลทำให้กล้วยไม้เน่าตาย หรือติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายครับ ดังนั้น เราควรหาภาชนะปลูกที่เหมาะสมกับขนาดของต้น กล้วยไม้นะครับ





แสงกับกล้วยไม้

กล้วยไม้ ถึงแม้จะได้รับให้เป็นพืชที่มีวิวัฒนาการสูงที่สุดบนโลกใบนี้แต่มันก็ยังจำเป็นต้องใช้แสงในการดำรงชีพอยู่ดี ในสภาพธรรมชาติ เรามักพบเห็นกล้วยไม้ขึ้นอยู่ตามคาคบไม้สูง หรือตามกิ่งไม้ บ้างก็ขึ้นอยู่บนโขดหิน บางชนิดก็อาจขึ้นบนพื้นดิน แม้แต่ในน้ำกล้วยไม้บางชนิดก็สามารถปักหลักจุ่มรากลงไปได้ และยิ่งบริเวณไดก็ตามที่มีแสงทอดผ่านและมีอุณหภูมิมิความชื้นพอเหมาะ บริเวณนั้นมักเป็นพื้นที่ที่มีกล้วยไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น
     ในป่าเขาลำเนาไพที่ผมได้เดินสำรวจนั้น มีสิ่งหนึ่งที่สังเกตุได้คือกล้วยไม้มักจะขึ้นอยู่บนเปลือกไม้ด้านทิศตะวันออก และหากมองกลับไปอีกด้านก็จะไม่พบกล้วยไม้ขึ้นอยู่เลย...

     สิ่งนี้ทำให้ผมสันนิฐานได้ว่า กล้วยไม้ที่เติบโตทางด้านฝากตะวันออกอาจจะได้รับไอแสงแดดอุ่น ๆ ในยามเช้าเมล็ดจึงเติบโตและงอกได้ดี ในขณะที่บางส่วนของเมล็ดที่ปลิวไปพบกับสภาพแสงที่แรงจัดในช่วงบ่ายเป็นไปได้ว่าอาจทำให้เมล็ดถูกเผาสุกไป จึงไม่งอกเป็นต้น ในขณะต้นที่เริ่มงอกแล้วในฟากตะวันออกจะเริ่มเติบโตผลิใบ และในช่วงกลางวันนี้เอง ทิศทางแสงที่ส่องตรงมายังฟากฟ้าอาจถูกใบไม้จากต้นไม้ใหญ่บดบังทำให้กล้วยไม้ได้รับแสงเพียงรำไร แสงแดดที่ร้อนระอุนี้จึงไม่แผดเผาลูกไม้จนไหม้เกรียม กล้วยไม้ที่อยู่รอดเหล่านี้จึงสามารถเติบโตและขยายพันธุ์ต่อไป


*****กล้วยไม้ที่ได้รับแสงในปริมาณที่เหมาะและพอเพียงจะให้ดอกได้ง่ายกว่า กล้วยไม้ที่อยู่ในที่ร่มทึบ หลาย ๆ คนที่กำลัง ฝึกเลี้ยงกล้วยไม้มักพบกับปัญหากล้วยไม้ไม่ออกดอก ให้ลองคำนึงถึงเรื่องแสงดูว่ากล้วยไม้ที่เราเลี้ยงนั้น ได้รับแสงที่ พอเพียงต่อเขาแล้วหรือยัง *ข้อสังเกตุ กล้วยไม้ที่ได้รับแสงอย่างพอเหมาะจะมีลำต้นอวบ ใบหนาอวบ ให้ดอกเก่ง ลำต้นยืดยาวโตเร็ว ในขณะ กล้วยไม้ที่ได้รับแสงน้อยจะมีลักษณะโทรม ทรงใบตก ไม่ตั้งหงายขึ้น ลำต้นเริ่มโค้งงอ ซึ่งทิ้งไว้นาน ๆ อาจตาย ในที่สุด หรือถูกโรคกล้วยไม้ต่าง ๆ รุมเร้าจนตายได้ เป็นต้น


      ในการปลูก เลี้ยง เราสามารถ จัดแจง และปรับสภาพแวดล้อมต่างๆให้ เหมาะสมต่อ การ เจริญของกล้วยไม้ได้ ในเรื่องแสง นับว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เหมาะสมกับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ มาก ได้เปรียบ กว่า ทางยุโรปหรือ ทาง ประเทศในเขตหนาว ซึ่งสภาพแวดล้อมไม่ค่อยเอื้ออำนวย ต่อการ เลี้ยงกล้วยไม้ ทำให้ในต่างประเทศเหล่านั้นไม่สามารถปลูกกล้วยไม้ไว้ภายนอก อาคาร กลางแจ้งได้ ต้องอาศัยทำโรงเรือน กระจกปกป้องอากาศหนาว และพึ่งพาเครื่องมือ และอุปกรณ์ในการให้แสง และความชื้นเช่นหลอดไฟ และมิเตอร์ต่างๆสำรับให้หมอก ซึ่งรวมๆล้วนเป็นต้นทุนที่สูง แต่กลับกันต่างประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นนี้สามารถเลี้ยงกล้วยไม้ที่ชอบอากาศเย็นได้ดี ซึ่งก็เป็นข้อดีข้อเสียแลกสลับกันครับ

หลักการของการให้แสงกับกล้วยไม้

๏ ให้แสงอย่างพอเพียงมากที่สุด ยึดหลัก "เท่าที่ต้นกล้วยไม้ทนได้" ยิ่งชั่วโมงที่กล้วยไม้ได้รับแสงมากเท่าใด นั่นหมายถึงว่า กล้วยไม้ยิ่งได้มีการปรุงอาหารกักเก็บไว้ได้มากขึ้นเท่านั้น
*****ในอดีต การพรางแสงกล้วยไม้ทำโดยใช้ทางมะพร้าวในการพรางแสง แต่ทว่าทางมะพร้าวนั้นผุอย่างรวดเร็ว ซ้ำยังเป็นที่อยู่ของแมลงศัตรูกล้วยไม้ ภายหลังจึงเปลี่ยนมาใช้ไม้ระแนงแทน โดยใช้วัสดุเป็นไม้เนื้อแข็ง ตอกระแนงห่างกันเป็นซี่ วางห่างกันเป็นช่อง ๆ เพื่อให้ความเข้มของแสงลดลงและเงาของไม้ระแนงจะเฉียงไปเรื่อย ๆ ตามองศาของแสงกล้วยไม้จึงไม่ถูกแดดเผาเป็นเวลานาน ๆ ต่อมาซาแรนพลาสติกถือกำเนิดขึ้น มันเป็นวัสดุที่มีอายุการใช้งานนาน น้ำหนักเบา ใช้งานง่ายพรางแดดได้ดี แสงที่กระจายตัวสม่ำเสมอ และดูดซับความร้อนได้มาก ทำให้กล้วยไม้ได้รับแสงเต็มที่ การพรางแสงให้กับกล้วยไม้ที่เหมาะสมกับกล้วยไม้ ส่วนใหญ่ ทั่ว ๆ ไปใช้การพรางด้วยซาแรน ในโรงเรือนประมาณ ๕o-๗o% เมื่อใช้งานไปนาน ๆ ๕ ปี ขึ้นไปควรตรวจดูแสงในโรงเรือนเพราะซาแรนจะบางลงทำให้แสงมากขึ้น อาจเป็นอันตรายกับกล้วยไม้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่


ภาพโรงเรือนไม้ระแนงที่สวนชิเนนทร


*** หมายเหตุ ***ซาแรนพลางแสง ๔๐% หมายถึง แสงลอดผ่านได้ ๖๐% ที่เหลือ ๔๐% แสงลอดผ่านไม่ได้
     สำรับการ ปลูกเลี้ยงเล็กๆน้อยๆ ตามบ้านหรือแม้แต่ตามคอนโด เราสามารถหาทำเลที่ได้รับแดดรำไร ช่วงเช้าก่อนเที่ยง ไว้สำรับแขวนปลูกกล้วยไม้ได้ส่วนใหญ่ตามบ้านมักจะปลูกไว้ในสวนหน้าบ้าน หรือข้างบ้านซึ่งน่าจะได้รับแสงและลมได้ดีกว่า บริเวณที่อับลม อาจทำโรงกล้วยไม้เล็กๆหรือแขวนตามใต้ ร่มไม้ยืนต้น แต่ เราควร ตัด ริด กิ่งก้านของต้นไม้นั้นเป็นระยะๆ เพื่อให้แสงลอดลงมาถึงกล้วยไม้ ถ้าร่มทึบมากไปจะทำให้กล้วยไม้ลำลูกกล้วยผอมยาว ออกดอกยาก ใบและหน่อใหม่ยาว มีสีเขียวเข้ม และต้นอ่อนแอต่อโรคแมลงได้ง่าย ซึ่งตรงกันข้าม กับกล้วยไม้ที่ได้รับ แสงแดดมากไป อาการจะมีใบสีเหลืองจัด จนกระทั่งใบไหม้เป็นวงสีดำๆ รากจะไม่ค่อยออก ลำลูกกล้วยแคระแกรน ผอมเป็นร่องๆ และไม่นานต้นก็โทรมตายในที่สุด
ดังนั้น ก่อนเลี้ยงกล้วยไม้ชนิดใด ควรศึกษาให้ทราบเสียก่อนว่าชนิดที่จะเลี้ยงนั้นชอบแสงมากหรือน้อย เมื่อทราบดีแล้ว การปลูกเลี้ยงให้สวยงามให้เป็นไปดั่งที่คาดคิดก็ไม่ยากอีกต่อไปครับ
แต่ก็มีกล้วยไม้บางชนิดที่ชอบแสงแดดจัด บางชนิดสามารถยืนต้นกลางแจ้งผลิดอกบานสะพรั่งได้อย่างไม่สะทกสะท้าน เช่นพันธุ์กล้วยไม้ดังต่อไปนี้
๏ เอื้องโมก และลูกผสมเอื้องโมกต่างๆ:( Papilionanthe teres )
๏ ทาโพรบาเนีย สปาตูลาต้า( Taprobanea spatulata)= กล้วยไม้จากศรีลังกา*
๏ แมลงปอ (Aracnis spp.)
๏ รีแนนเทอร่า (Reanthera spp.)
๏ เอื้องช้างน้าว (Dendrobium pulchellum)
๏ เอื้องแปรงสีฟัน(Dendrobium secundum)
๏ เอื้องผึ้ง (Dendrobium lindleyi)
๏ เอื้องผึ้งจิ๋ว(Dendrobium jenkinsii)= กล้วยไม้จาก อินเดีย-พม่า *
๏ เข็มแสด (Ascocentrum miniatum)
๏ กุหลาบแดง (Aerides crassifolia)
๏ เอื้องสีเที่ยง ,กระเจี้ยง (Epigenium amplum)
๏ ลุยเซีย บางชนิด (Luisia spp.)
๏ ม้าวิ่ง และ แดงอุบล( Doritis pulcherrima)
๏ ว่านเพรชหึง(Grammatophyllum speciosum)
๏ เอื้องไผ่ (Arundina graminifolia)
๏ เอื้อง เกศาพระเจ้า,จุกพรามณ์ (Acriopsis indica)
๏ เหลืองพิสมร ( Spathoglottis affinis)= กล้วยไม้ดิน* กลุ่มเอื้องดินใบหมาก
๏ สิงโตเสมอหิน (Bulbophyllum blepharistes)
๏ เอื้องเทียนใบหมาก ( Coelogyne trinervis)
๏ เอื้องเขาเยือง ( Liusia recurva)
๏ เอื้องเสือโคร่ง ( Staurochilus fasciatus)
๏ เขาพระวิหาร ( Hygrochilus lissochiloides)= ชื่อสกุลเดิม Vandopsis lissochiloides
๏ เอื้องเก้ากิ่ว(Dendrobium nobile)
๏ เหลืองจันทรบูรณ์ (Dendrobium friedericksianum)
๏ หวายตะวันตก ( Dendrobium fytchianum ) *กล้วยไม้จากพม่า
๏ เอื้องแววมยุรา(Dendrobium fimbriatum)
๏ เอื้องผาเวียง (Dendrobium albosaguinium)
๏ กาเรการ่อน(Cymbidium aloifolium:, Cymbidium bicolor)
๏ เอื้องทอง( Dendrobium ellipsophyllum)
๏ เอื้องตะขาบ (Dendrobium acinaciforme)
๏ เอื้องตะขาบขุนตาน(Dendrobium indivisum)
๏ เอื้องคำปอน( Dendrobium dixanthum)
๏ เอื้องข้าวเหนียวลิงลำสั้น (Dendrobium delacourii)
๏ เอื้องเงินขาว (Dendrobium draconis)
๏ เอื้องครั่งแสด ( Dendrobium unicum)
๏ เอื้องเก้ากิ่วแม่สะเรียง ,ตอติเล (Dendrobium tortile)
๏ เอื้องนิ่มบางชนิดเช่น เอื้องตาลหิน และ เอื้องนิ้วนาง (Eria discolor),(Eria panea)
ฯลฯ
***บางชนิดชอบแสงจัด แต่อยู่อากาศเย็น หากนำมาเลี้ยงบนพื้นราบ ถึงให้แสงมากแต่อากาศร้อนก็ไม่รอดเหมือนกัน นะครับ เช่น เข็มชมพู ที่พบบนดอยอินทนน์ ชอบแดดจัด แต่ก็ชอบอากาศเย็น เมื่อนำลงมาเลี้ยงด้านล่าง ในสภาพแสง จัดก็พบว่า ถูกเผาตายในที่สุด แต่หากให้อยู่ร่ม ก็จะเน่าตายครับ



น้ำกับกล้วยไม้



น้ำ คือสิ่งที่มีมวลประกอบมากที่สุดบนโลกใบนี้ แน่นอนว่ามันเป็นศูนย์กลางของสิ่งมีชีวิตเลยก็ว่าได้ ในธรรมชาติ เราพบว่ามีแหล่งที่มาของน้ำมากมายไม่เว้นแต่น้ำที่ถูกกลั่นกรองโดยน้ำมือมนุษย์ แล้วน้ำชนิดไดกันละที่เหมาะสมกับกล้วยไม้มากที่สุด ลองมาดูกันกันครับ

1. น้ำฝน แน่นอนว่าไม่มีใครไม่รู้จักน้ำฝน แหล่งที่มาของมันคือความรู้วิทยา ศาสตร์เบื้องต้นที่เราได้เรียนกันสมัยวัยประถมนั่นเอง ว่ากันว่าน้ำฝนคือสิ่ง มหัศจรรย์ที่สุดที่ธรรมชาติได้สร้างขึ้น แน่นอนมันมีบทบาทต่อกล้วยไม้ อย่างมหาศาล หากคุณเป็นคนช่างสังเกตละก็ ในช่วงฤดูฝนคุณจะพบว่ากล้วยไม้ นั้นเจริญเติบโตได้ดีกว่าฤดูอื่นเป็นไหน ๆ ในช่วงฤดูนี้เองที่รากของกล้วยไม้จะมี เจลใสห่อหุ้มอยู่ ด้วยเจลนี้ มันทำให้ปลายรากของกล้วยไม้เจริญเติบโตได้อย่าง รวดเร็ว ทั้งนี้เป็นเพราะว่าในน้ำฝนมีธาตุในโตรเจนอยู่มาก ทำให้ส่งผลเป็นปัจจัย บวก เกี่ยวกับระบบการดูดซึมและถ่ายเวียน ของเหลว ภายในเซลของพืช โดย เฉพาะพืชอิงอาศัยอย่างกล้วยไม้

     ในอดีตนั้นมักพบว่า บ้านเรือนต่าง ๆ ที่เลี้ยงกล้วยไม้จะใช้น้ำฝนในการรดน้ำกล้วยไม้เป็นหลัก แต่ในเมืองมักพบว่าน้ำฝนมีฤทธิ์เป็นกรดสูงซึ่งมีผลอันตรายต่อกล้วยไม้

2. น้ำท่า คือน้ำ ที่เกิดจากฝนที่ตกลงมา แล้วไหลรวมอยู่ตามแหล่งน้ำใต้ดิน หรือน้ำผิวดิน เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ บ่อน้ำ ต่างๆ รวมถึงน้ำประปาด้วยในที่นี้ ถือว่าเป็นน้ำที่มีความสะอาดอยู่พอควร แบ่งย่อยออก ไปได้อีกตามด้านล่างนี้

2.1 น้ำในแม่น้ำ บรรดา แม่น้ำใหญ่ๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแคว แม่น้ำโขง และอื่นๆ แม่น้ำต่างๆเหล่านี้ต้นน้ำ และแหล่งที่อยู่ห่างไกลชุมชนย่อมมีความสะอาดปราศจากสิ่งสกปรกเจือปน แต่ความขุ่นของน้ำย่อมมีเป็นธรรมดา เนื่องจาก ตะกอนโคลนตมตามผิวดินที่แม่น่ำไหลผ่าน หากเราจะนำมาใช้ก็ต้องทำให้ตกตะกอนเสียก่อน อาจใช้วิธี กรองแบบต่าง ๆ หรือทิ้งไว้ให้ตกตะกอนก่อนนำมาใช้ หรือแบบโบราณหน่อย ก็ใช้สารส้มแกว่งทิ้งไว้ข้ามคืนแล้ว จึง ค่อยนำมาใช้ สวนใหญ่ที่นำน้ำจาก แม่น้ำมาใช้รดกล้วยไม้ เช่น สวนกล้วยไม้ที่จังหวัด กำแพงเพรช (KPN)เป็นสวน อยู่ใกล้ แม่น้ำปิง เป็นต้น

2.2 น้ำคลอง ถ้าเป็นคลองใหญ่ๆ ที่ไม่มีความสกปรก หรืออยู่ใกล้แหล่งโรงงานที่ระบายน้ำเสียลงคลอง ก็ไม่มีปัญหา อะไร การปฏิบัติ ก็กรองก่อน เหมือนการใช้น้ำจากแม่น้ำ
     สำรับผู้ปลูกเลี้ยงที่อยู่ในกรุงเทพ ชั้นนอก ที่เป็นแหล่งปลูกกล้วยไม้ มากมาย เช่นที่ เขต ภาษีเจริญ ตลิ่งชัน หนองแขม ราษฏร์บรูณะ และบางขุนเทียน ที่เคยใช้น้ำจากคลอง ภาษีเจริญ คลองบางกอกน้อย คลอง บางหลวง คลองราชมนตรี คลองทวีวัฒนา และคลองซอยเล็กๆที่แยกจากคลองใหญ่เหล่านี้ ที่กล่าวมาหลายแหล่งใช้รด กล้วยไม้ไม่ได้แล้ว เพราะมีของเสียจากโรงงาน และชุมชนที่หนาแน่นขึ้น


2.3น้ำบ่อ ตามธรรมชาติ หรือ บ่อขุด บางแห่งน้ำนั้นอาจดูใสดี แต่ อาจมีตะกอน สนิมเหล็ก เจือปนในน้ำ วิธีสังเกตุคือดูบริเวณขอบบ่อ จะมีคราบตะกอนสีสนิมอม ส้ม หรือใช้วิธีตักนำใส่ขวดหรือแก้วทิ้งไว้ ไม่นานหากพบเยื่อบางๆ สีน้ำตาลอมส้ม แสดงว่ามีสนิมเหล็กเจือปนในแหล่งน้ำ น้ำลักษณะนี้แก้ไขยาก หรืออาจแก้ไม่ได้ เลย ไม่เหมาะที่จะนำมารดกล้วยไม้ น้ำบ่อ บางแห่งนอกจากสนิมเหล็ก แล้ว อาจมี หินปูนซึ่ง เป็นตะกอน ของแคลเซียม ที่เจอปนอยู่ในแหล่งน้ำบางแหล่ง พบมาก ทาง ภาคเหนือที่มีแหล่งน้ำใต้ดินไหลผ่านชั้นหินปูนตามเทือกเขาบางแห่ง น้ำที่มีหินปูนจะสังเกตุ เห็นคราบตระกรันหินปูนสีขาวขุ่นๆ จับตามขอบบ่อหรือ ภาชนะ และอาจมีฝ้าขาวๆลอยที่ผิวหน้าของน้ำเป็นทั้งน้ำหินปูนและ
น้ำสนิมเหล็กเป็นตัวการอันตรายที่ทำให้กล้วยไม้ทรุดโทรม และตายไปในที่สุดแหล่งน้ำแบบนี้ แม้ จะผ่านระบบกรอง ก็ยังอาจมีปัญหากับกล้วยไม้ได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้แหล่งน้ำแบบนี้ กับกล้วยไม้

2.4 น้ำประปา เป็นแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีรองมาจากน้ำฝน มีมาจากแหล่งใหญ่ ๆ ๒ แหล่ง คือประปาที่มาจากน้ำผิว ดิน เช่นเม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ และประปาที่มาจากน้ำบาดาล ถ้าเป็น น้ำประปาบาดาล ให้ระวังเรื่องน้ำสนิมเหล็ก กับหินปูน เพราะถึงแม้จะเจือปนเป็นปริมาณน้อย ก็ยังก็ให้ เกิดผลกับกล้วยไม้ได้อยู่ดี สำรับเรื่องคลอรีนมีหลายคนกังวลว่าจะเป็นอันตรายกับกล้วยไม้ ไม่ต้องเป็นกังวลมาก ครับ เพราะสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เราใช้ฉีดพ้นกล้วยไม้บางชนิดยังมีคลอรีนผสมอยู่มากกว่าน้ำประปาเสียอีก ข้อแนะนำเมื่อจะใช้น้ำประปารดกล้วยไม้ เพียงตวงน้ำประปาพักทิ้งไว้ในภาชนะขนาดใหญ่ รอข้ามวันข้ามคืน จนคลอรีนระเหยออกไปจนน้ำไม่มีกลิ่นคลอรีนแล้ว จึงนำมาใช้รดกล้วยไม้ได้แล้วครับ








ปุ๋ยกับกล้วยไม้


นอกเหนือจากน้ำแล้วกล้วยไม้จำเป็นต้องอาศัยแร่ธาตุและสารอาหารต่าง ๆ เพื่อช่วยในการเจริญเติบโต ปุ๋ยจึง เป็นสิ่งจำเป็นที่จะเป็นส่วนช่วยทำให้กล้วยไม้งอกงาม ปุ๋ยมีประโยชน์ต่อกล้วยไม้ หลายอย่าง เช่น
- ช่วยทำให้กล้วยไม้ แข็งแรงทนต่อโรคและแมลงที่มารบกวน
- ช่วยทำให้กล้วยไม้ดอกใหญ่และมีสีสดขึ้น !
- ช่วยให้ฝักกล้วยไม้สมบูรณ์มีเมล็ดที่แข็งแรง เมื่อนำไปเพาะก็จะงอกงามมาก
- ช่วยทำให้หน่อ ตา ราก เจริญเติบโตเร็ว ทำให้ส่วนขยายพันธุ์ มีปริมาณมากขึ้น
     ปุ๋ยกล้วยไม้ส่วนใหญ่เป็นอนินทรีย์สาร มีส่วนผสมของแร่ธาตุต่างๆที่พืชต้องการ หลักๆมี ๑๖ ชนิด บางชนิดกล้วย ไม้ต้องการมาก บางชนิดก็ต้องการน้อย เราสามารถแบ่ง ออกเป็นสองพวก คือ
๑) แร่ธาตุที่ป็นพวกธาตุอาหารหลัก ประกอบด้วย ธาตุ ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) โปแทสเซียม(K)
๒) แร่ธาตุที่ป็นพวก ธาตุอาหารรอง ประกอบด้วย ธาตุ แคลเซียม แม็กนีเซียม กำมะถัน ทองแดง สังกะสี เหล็ก คลอรีน แมงกานีส โบรอน โมลิบดินั่ม
*** นอกจากนี้ยังมี อ๊อกซิเจน โฮโดรเจนและก๊าซ คาร์บอนไดอ๊อกไซน์ ซึ่งได้จากอากาศและน้ำนั่นเองครับ
     เช่นเดียวกับมนุษย์เรา กล้วยไม้เองก็ต้องการธาตุอาหารหลักเช่นเดียวกับคนที่ต้องการโปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน และอื่น ๆ ทีนี้เราลองมาดูกันดีกว่าว่าธาตุอาหารหลักของกล้วยไม้มีอะไร กันบ้าง ?
ธาตุอาหารหลัก (N P K) เป็นธาตุที่กล้วยไม้ต้องการใช้มากกว่าธาตุอื่นๆ ซึ่งถ้าขาดธาตุใดธาตุหนึ่งไป กล้วยไม้จะ แสดงอาการให้เห็นได้ชัด ปุ๋ยเคมีต่างๆที่มีขายทั่วไป จึงประกอบด้วยธาตุหลักทั้ง๓นี้เป็นส่วนสำคัญ ในปุ๋ยแต่ละสูตร จะมีอัตราส่วนผสมธาตุอาหารมากน้อยไม่เท่ากัน โดย ใช้ ตัวเลขสามตัวระบุเป็นสำคัญ เช่น ปุ๋ยสูตร ๒๑-๒๑-๒๑ หรือที่เรียกว่าสูตรเสมอ ตัวเลข สามตัว ตัวแรกจะเป็นเปอร์เซ็นต์ ของธาตุ ไนโตรเจน / ตัวที่ สอง จะเป็นเปอร์เซนต์ ของธาตุฟอสฟอรัส / ตัวเลขที่สาม จะเป็นเปอร์เซนต์ ของธาตุ โปแทสเซียม ฉะนั้น ในสูตร ๒๑-๒๑-๒๑ จะมีธาตุหลักดังนี้
ไนโตรเจน (N) ๒๑ ส่วนต่อ ร้อย
ฟอฟฟอรัส (P) ๒๑ ส่วนต่อ ร้อย
โปแทสซียม (K) ๒๑ ส่วนต่อ ร้อย
รวม ๖๓ ส่วนต่อร้อย
หมายความว่า ปุ๋ยผสมที่มีน้ำหนัก ๑oo กิโลกรัม มีธาตุหลักที่จำเป็นต่อกล้วยไม้ ๖๓ ก.ก. ที่เหลือ ๓๗ ก.ก. เป็นพวก ธาตุอาหารรองอื่นๆอย่างละเล็กละน้อย และอินเนิร์ด(เป็นส่วนประกอบให้ปุ๋ยมีมวลทางปริมาตรและน้ำหนัก หรือ บางครั้งเรียกง่ายๆว่ากากของเนื้อปุ๋ย)
**ส่วนอัตราส่วนของปุ๋ยที่ขายทั่วๆไปที่นิยมใช้กับกล้วยไม้ เช่น ๑o-๕๒-๑๗ (สูตรตัวกลางสูง/บำรุงดอก+ลำ ต้น/ราก) สูตร ๑๖-๒๑-๒๗ (ตัวกลางตัวท้ายสูงช่วยยืดช่อดอก+สีดอก)

ธาตุอาหารแต่ละธาตุนั้นมีบทบาทอย่างไร ?
ธาตุไนโตรเจน ช่วยสร้างความเจริญเติบโตทางใบ ทำให้กล้วยไม้ มีใบสีเขียวและใหญ่งาม ทั้งนี้เพราะไนโตรเจน เป็นส่วนประกอบสำคัญในโปรตีนของต้นไม้ แต่หากได้รับมากเกินไป จะทำให้กล้วยไม้เจริญแต่ทางใบอย่าง เดียว ยอดอ่อนสีเขียวจัด แต่ลำต้นอ่อนแอไม่มีแรงต้านทานโรค มักเกิดโรคง่าย โดยเฉพะโรคเน่ายอด ลำต้นไม่แข็ง แรงหักง่าย ไม่ค่อยออกดอกเพราะงามแต่ใบ แต่ทางตรงกันข้ามถ้าขาดธาตุนี้แล้ว จะทำใหใบเล็กซีดไม่มีสีเขียว ต้นแกรน

ธาตุฟอสฟอรัส เป็นธาตุที่ช่วยให้ลำต้น แข็งแรง รากเจริญเร็ว และทำให้เกิดรากมาก ช่วยการแตกหน่อ ทำให้ ได้ดอกที่สมบูรณ์ มีผลดีในการผสมเกสร ทำให้เมล็ดแข็งแรง ถ้าขาดธาตุนี้ ต้นกล้วยไม้จะแคระแกรน มีรากน้อย หน่อใหม่ไม่สมบูรณ์ เล็กลีบ ออกดอกช้า แต่ถ้ากล้วยไม้ได้รับะตุนี้มากเกินไป จะทำให้ใบเล็กหดสั้น ลำต้นหดสั้นการ เจริญเติบโตผิดปรกติ

ธาตุโปแทสเซียม เป็นธาตุที่ช่วยการเจริญเติบโตของหน่อและยอด ช่วยในการสะสมอาหารในลำต้น ในระยะที่ กล้วยไม้พักตัว ถ้าขาดธาตุนี้จะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ลำต้นแคระแกรน แต่ถ้าได้รับมากเกินไปจะทำให้ลำ ต้นสั้น ข้อ ปล้องถี่ผิดปรกติ ใบแข็งแกร็น ใบหด ปลายใบแก่จะกลายเป็นสีน้ำตาลไหม้เกรียม ปลายใบอ่อนออกมามัก จะเหี่ยว

**ดังนั้นหากต้องการบำรุงกล้วยไม้ส่วนได ก็ให้เลือกสูตรปุ๋ยที่มีธาตุนั้น ๆ สูง เช่น ต้องการให้ลูกไม้โตเร็ว ก็ให้ใช้ หน้า สูง คือ ตัว P ต้องมีเลขมากที่สุด เช่นปุ๋ยสูตร ๓๐-๒๐-๑๐ เป็นต้นครับ

ต่อมาเรามาดูธาตุประกอบกันบ้างนะครับ ธาตุประกอบ เป็นธาตุที่กล้วยไม้ต้องการจำนวนน้อย แต่มีความสำคัญ และจำเป็นในการช่วยให้กล้วยไม้ เจริญ เติบโต ธาตุเหล่านี้ได้แก่
ธาตุอาหารรอง
     ธาตุอาหารรองเป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการใช้เป็นปริมาณเพียง เล็กน้อยเท่านั้น แต่ขาดไม่ได้เพราะมีความจำ เป็นต่อการเจริญของพิชธาตุเหล่านี้ได้แก่ แคลเซียม แม็กนีเซียม เหล็ก ทองแดง สังกะสี กำมะถัน แมงกานีส โปรอน โมลิบดินั่ม
     ธาตุประกอบเหล่านี้ มีบาง ธาตุที่กล้วยไม้ ต้องการมากเหมือนกัน เช่น แคลเซียม เป็นธาตุที่ช่วยให้รากแข็งแรง แมกนีเซียม เป็นธาตุที่ช่วยคุมการเจริญของต้นให้ เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ธาตุเหล็ก เป็นส่วนสำคัญในการสร้างคลอโรฟิล ที่ทำให้ต้นไม้มีสีเขียว สำรับ อ๊อกซิเจน และไฮโดรเจน กล้วยไม้ได้อย่างพอเพียงอยู่แล้วจากน้ำและอากาศ การให้ปุ๋ย
ปุ๋ยโดยส่วนใหญ่ มี ๓ประเภท
- ปุ๋ยเกร็ด ละลายน้ำ เป็นเกร็ดผงคล้ายน้ำตาลทรายใช้ช้อนตวงตามอัตราส่วน แล้วนำไปผสมน้ำ เพื่อทำละลายให้ ธาตุอาหารละลายออกมาให้พืชสามารถนำไปใช้ได้โดยง่าย วิธ๊ใช้ส่วนใหญ่จะมีอัตราการใช้อยู่ข้างกล่อง หรือขวดที่ บรรจุ แต่บางครั้งสำรับกล้วยไม้ อาจใช้ปุ๋ย เจือจางกว่าที่ระบุข้างภาชนะบรรจุ ได้ ๑ ส่วน โดยรดอาทิตย์ละครั้งสลับ กับการใช้สารกำจัดโรคแมลง เหตุที่ไม่ควรใช้ปุ๋ยเข้มข้นเกินไปสำรับกล้วยไม้ คือเมื่อปุ๋ย แห้งตกค้างอยู่ในเครื่องปลูก หรือภาชนะ อาจทำให้เกิดการตกค้างของคราบเกลือ หรือสารที่ เป็นอันตรายกับรากกล้วยไม้หากสารเคมีเหล่านั้น สะสมเป็นเวลานาน

- ปุ๋ยเม็ด ละลายช้า ส่วนมาก เม็ดสีเหลืองๆ สะดวกใช้ง่าย เพียงแค่โรยที่โคนต้นกล้วยไม้ จำนวนไม่มากเกินไป (๕-๖ เม็ด หรือ เพียงหยิบมือเดียว) เม็ดปุ๋ย เมื่อสัมผัสความชื้นหลังจาก เรารดน้ำ แล้ว ก็จะปลดปปล่อยะษตุอาหาร ออก มา ช้า ๆเป็นเวลานาน โดยปรกติเมื่อโรยปุ๋ยเม็ด ๑ครั้ง จะอยู่ได้ ๒-๓ เดือนจน ปุ๋ยเม้ดหมดสภาพคือ เวลาบีบดู จะ กรอบ เหลือแต่เปลือก เพระเนื้อปุ๋ยในเม็ดหมดแล้ว แต่ทางที่ดี ควรใช้เสริมกับปุ๋ยเกร็ด ฉีดพ่น ควบคู่กันไปด้วย จะได้ ผลดียิ่งขึ้น

- ปุ๋ยน้ำ เป็นปุ๋ยที่การนำ ธาตุอาหารต่างๆมาละลายน้ำเป็นสารละลายเข้มข้น เมื่อเวลาจะใช้ ก็ตวงด้วยภาชนะให้ได้ ปริมาตร ตามที่กำหนด แล้ว นำมาเทละลายผสมกับน้ำ อีกทีก๋อนนำไปฉีดพ่นกล้วยไม้ เช่น ปู๋ยน้ำเข้มข้น ๑ ลิตร ต่อ น้ำ ๒oo ลิตรเป็นต้น ปุ๋ยน้ำเป็นปุ๋ยที่กล้วยไม้สามารถนำไปใช้ได้หมดและไม่มีสารตกค้างในเครื่องปลูก

***น้ำที่ใช้ผสมปุ๋ยก็สามารถใช้น้ำประปา น้ำฝน หรือน้ำปรกติที่เราใช้รดกล้วยไม้อยู่แล้วทุกวัน นำมาใช้ได้แต่ควร ระวังน้ำประปาบาดาล น้ำจากแหล่งที่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม หรือ น้ำจากแหล่งใต้ดิน บางแหล่งที่มีหินปูน หรือ สนิมเหล็ก ปนอยู่ เพราะอาจมีค่าความป็นกรดด่างที่ไม่เหมาะสม หรือมีตะกอนแร่ธาตุ ละลายอยู่ เมื่อผสมปุ๋ยแล้ว อาจทำให้ตกตะกอน หรือเกิดสารประกอบ ที่เป็นอันตรายกับกล้วยไม้

ข้อสังเกตุ เล็กๆ น้อยๆ
      ปุ๋ยที่ดีเมื่อผสมน้ำ แล้วควรจะละลาย หมด ไม่มีตะกอน ตกค้าง หากเป็นปุ๋ยปลอมจะละลายไม่หมดและมีตะกอน ปุ๋ยที่เก่าจนหมดสภาพไม่สามารถใช้งานได้แล้วนั้น จากเกร็ด จะละลายเละกลายเป็นน้ำแทน
       เมือผสมปุ๋ยในน้ำขณะกวนๆ อยู่ อาจสังเกตุว่าน้ำปุ๋ยนั้นจะเย็นมากและข้างๆ มีหยดน้ำเกาะ อยู่ อาจเป็นเพราะ ปุ๋ยเหล่านั้น มีส่วนผสมของ ยูเรียเป็นส่วนประกอบเป็นตัวหลักของธาตุไนโตรเจน
**มีบางชนิด อาจใช้แอมโมเนียไนเตรต เป็นตัวหลักแทนยูเรียซึ่งมีผู้รู้บอกว่าใช้ดีกว่าปุ๋ยที่มียูเรียเป็นตัวผสม เพราะ จะไม่ทำให้ใบอ่อนขยายตัวเร็วเกินไป หากใบอ่อนขยายตัวเร็วไปนั้น จะทำให้ปลายยอดใบอ่อนแอ และเน่า ง่าย ส่วนยี้ห้ออะไรนั้น ต้องไปสอบถามทางร้าน ที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเองแล้วกันครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับความรู้ดีที่แบ่งปัน ผมหาความรู้มานาน เพิ่งเห็นบทความนี้แหละครับทีครบเครื่องครอบคลุม ยอดเยี่ยมมากเลยครัย

    ตอบลบ