วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยา


แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

1. กว๊านพะเยา


“กว๊านพะเยา” หรือ “หัวใจของเมืองพะเยา” อยู่ในเขตอำเภอเมืองพะเยา เป็นทะเลสาบน้ำจืด ใหญ่เป็นอันดับ 1 ในภาคเหนือ และ อันดับ 4 ของประเทศไทย (รองจากบึงบอระเพ็ด, หนองหาน และบึงละหาน)คำว่า "กว๊าน" ตามภาษาพื้นเมืองหมายถึง "บึง" เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ใจกลางเมืองพะเยา มีทิวเขาเป็นฉากหลัง เกิดจากน้ำที่ไหลมาจากห้วยต่างๆ 18 สาย มีปริมาณน้ำเฉลี่ยปีละ 29.40 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพันธ์ปลาน้ำจืดกว่า 48 ชนิด มีเนื้อที่ 12,831 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาต่างๆ ประกอบกับ ทัศนียภาพโดยรอบกว๊านพะเยามีความสวยงามประทับใจแก่ผู้พบเห็น จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติอีกทั้งบริเวณริมกว๊านพะเยามีร้านอาหารและสวนสาธารณะให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้พักผ่อนหย่อนใจ เนื่องจากกว๊านพะเยาในอดีตแต่เดิมเคยเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำมีสายน้ำอิงไหลพาดผ่านคดเคี้ยวทอดเป็นแนวยาวไปตลอด จากทิศเหนือจรดขอบกว๊านฯ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประกอบกับมีหนองน้ำน้อยใหญ่หลายแห่งและร่องน้ำหลายสายที่ไหลลงมาจากขุนเขาดอยหลวงแล้วเชื่อมติดต่อถึงกัน ทำให้พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากจึงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่เป็นชุมชนนานนับตั้งแต่โบราณ

2. อุทยานแห่งชาติดอยหลวง


อุทยานแห่งชาติดอยหลวง มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแม่สรวย อำเภอพาน อำเภอเวียงป่าเป้า
จังหวัดเชียงราย อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง และอำเภอแม่ใจ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เป็นอุทยานแห่งชาติที่ได้ยกฐานะมาจากวนอุทยานน้ำตกจำปาทอง วนอุทยานน้ำตกผาเกล็ดนาค วนอุทยานน้ำตกปูแกง และวนอุทยานน้ำตกวังแก้ว รวม 4 แห่ง ที่มีพื้นที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน มีสภาพธรรมชาติและจุดเด่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่งของภาคเหนือ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,170 ตารางกิโลเมตร หรือ 731,250 ไร่ อุทยานแห่งชาติดอยหลวงได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2533

3. น้ำตกจำปาทอง


น้ำตกจำปาทอง เป็นน้ำตกที่พบเห็นในสภาพป่าดิบชื้นทั่ว ๆ ไป มีลักษณะเป็นน้ำตกสูงชัน
น้ำใสสะอาด น้ำตกลงมาเป็นสายคล้ายงาช้าง หัวช้างบ้าง ซึ่งราษฎรในท้องถิ่นก็ตั้งชื่อชั้นของน้ำตกที่เห็นตามลักษณะของน้ำตกที่ปรากฏให้เห็น การเดินทางมีถนนลาดยาง แยกจากถนนสายเชียงราย - พะเยา ตรงหลักกิโลเมตรที่ 7 ก่อนจะถึงตัวจังหวัดพะเยาเดินทางเข้าไปอีกประมาณ 16 กิโลเมตร ก็ถึงบริเวณน้ำตก

4. อ่างเก็บน้ำห้วยชมพู– ผาเทวดา


อ่างเก็บน้ำห้วยชมพู– ผาเทวดา มีกิจกรรมที่นิยมในการท่องเที่ยว คือ เดินป่าและโรยตัวหน้าผาเทวดา
เดิมเรียกว่า “หน้าผากิ่งป่าแฝด” แต่ภายหลังเรียกว่า “หน้าผาเทวดา” บริเวณนี้มีถ้ำน้อยใหญ่อยู่กว่าสิบแห่ง ควรแวะพักผ่อนเตรียมความพร้อมของร่างกายค้างคืนที่โฮมเสตย์บ้านสันโค้งก่อน เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเดินป่า ปีนผาเทวดา ตั้งแต่การโรยตัว ณ จุดโรยตัวโดยจะต้องนั่งรถขับเคลื่อนสี่ล้อไปถึงจนสุดของถนน พร้อมเดินเท้า ประมาณ 3 กิโลเมตร เส้นทางค่อนข้างลำบากและท้าทาย ใช้ระยะเวลาการเดินประมาณ 3 ชั่วโมง เหมาะแก่นักผจญภัย ส่วนอุปกรณ์สำหรับโรยตัว ถุงมือ หมวก ตะขอเหล็กล็อค ฯล โดยทาง อบต.สันโค้ง ได้จัดเตรียมให้บริการอย่างครบครัน โดยจะจัดให้มีการโรยตัวที่ความสูง 25 เมตร, 50 เมตร และ 110 เมตร พร้อมเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญคอยให้การแนะนำ การโรยตัวและดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่ชอบธรรมชาติและรักความตื่นเต้น ระหว่างทางที่เดินไปกลับหน้าผาเทวดานั้น จะเดินทางผ่านถ้ำฝนแสนห่า ซึ่งเป็นถ้ำที่มีน้ำตกไหลลงมาคล้ายสายฝนและจะพบนกยูงมากในช่วงปลายฝนต้นหนาวและจะมีดอกไม้ป่าขึ้นอยู่บริเวณน้ำตกห้วยชมพู โดยเฉพาะบริเวณ
ชั้นที่3 ของน้ำตก เรียกว่า “ตาดหัวช้าง”

5. หนองเล็งทราย


การเดินทางมาท่องเที่ยวหนองเล็งทรายนั้น ต้องใช้ถนนทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งหน้าสู่ทิศเหนือ
พะเยา-เชียงราย มาจนถึงแยกศรีบุญเรือง เลี้ยวขวาเข้าถนนพหลโยธินสายใน เดินทางประมาณ 1 กิโลเมตร ถึงวัดโพธารามทางด้านซ้ายมือ แต่ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนข้างวัดไปจนสุดทางถนนจะพบกับหนองน้ำแห่งอำเภอแม่ใจ เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ มีเนื้อที่ประมาณ 5,500 ไร่ ครอบคลุมหลายตำบล ทัศนียภาพสวยงามมาก

6. อุทยานแห่งชาติภูซาง


จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึง “อุทยานแห่งชาติภูซาง” นั้นมีขนาดพื้นที่ประมาณ 284.8 ตารางกิโลเมตร (17,8049.62 ไร่) อยู่ในเขตระหว่างอำเภอเทิง จ.เชียงราย กับ อ.ภูซาง ถึง อ.เชียงคำ จ.พะเยา และมีอาณาเขตติดต่อกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

7. อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง


อุทยานแห่งชาติดอยภูนางมีสิ่งน่าสนใจมากมายโดยเฉพาะนกยูงและน้ำตกต่างๆ มีเนื้อที่ประมาณ
538,124 ไร่ หรือ 861 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่3 อำเภอ ได้แก่ อ.เชียงม่วน อ.ปง อ.ดอกคำใต้ สภาพป่า ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง มีสัตว์ป่าหายากหลายชนิด เสือปลา แมวลายหินอ่อน แมวดาว เลียงผา ตัวนิ่ม ฯลฯ ที่สำคัญคือ นกยูง


แหล่งท่องเที่ยวทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณสถาน

1. วัดศรีโคมคำ


วันศรีโคมคำ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี และวัดพัฒนาตัวอย่าง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา
ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกว่า "วัดพระเจ้าองค์หลวง" หรือ "วัดพระเจ้าตนหลวง" มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุด ในล้านนาไทย ขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 16 เมตร มีประวัติกล่าวถึงอย่างพิสดารว่า ปรากฏพญานาค ได้นำทองคำมาให้ตายายคู่หนึ่ง ที่ตั้งบ้านอยู่ริมกว๊านพะเยา เพื่อสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งตายายคู่นี้ใช้เวลา สร้างถึง 33 ปี (พ.ศ. 2034 - 2067) และกาลต่อมาเรียกว่า "พระเจ้าองค์หลวง" ในปัจจุบันพระเจ้าองค์หลวง มิใช่เป็นแต่เพียงพระพุทธรูปคู่เมืองพะเยาเท่านั้น แต่ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอาณาจักรลานนาไทยด้วย โดยในเดือนพฤษภาคมจะมีงานนมัสการพระเจ้าองค์หลวงเป็นประจำทุกปี เรียกว่า "งานประเพณีนมัสการพระเจ้าองค์หลวงเดือนแปดเป็ง"

2. วัดติโลกอาราม


วัดติโลกอาราม เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่จมอยู่ในกว๊านพะเยาค้นพบในปี พ.ศ. 2482
กรมประมงสร้างประตูกั้นน้ำในกว๊านพะเยาเพื่อกักเก็บน้ำ เป็นวัดที่พระเจ้าติโลกราช แห่งราชอาณาจักรล้านนา โปรดให้พระยายุทธิษถิระ เจ้าเมืองพะเยา สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2019-2029 ในบริเวณที่เรียกว่า “บวกสี่แจ่ง” ซึ่งแต่เดิมเป็นชุมชนโบราณ และมีวัดอยู่เป็นจำนวนมาก โดยวัดแห่งนี้เป็นชื่อวัดที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ซึ่งถูกค้นพบได้ในวัดร้างกลางกว๊านพะเยาหรือในบริเวณหนองเต่า จากข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึก ทำให้รู้ว่าวัดนี้ มีอายุเก่าแก่ มากกว่า 500 ปี สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เนื่องจากผู้ปกครองเมืองพะเยาได้สร้างถวาย เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแก่พระเจ้าติโลกราช ในฐานะทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรล้านนา

3. วัดอนาลโยทิพยาราม


“วัดอนาลโยทิพยาราม” หรือ “ดอยบุษราคัม” ตั้งอยู่บนดอยบุษราคัม บ้านสันป่าม่วง หมู่ที่ 6
ต.สันป่าม่วง จังหวัดพะเยา จากตัวเมืองไปเส้นทางพะเยา - เชียงราย ประมาณ 7 กม.แยกซ้ายไปตามทางหลวง หมายเลข 1127 ประมาณ 9 กิโลเมตร สร้างโดยพระปัญญาพิศาลเถร (พระอาจารย์ไพบูลย์ฯ) เป็นอุทยาน พระพุทธศาสนา มีศาสนสถานที่สวยงาม ได้แก่พระพุทธรูปศิลปสุโขทัยองค์ใหญ่ พระพุทธรูปปางต่างๆ พระพุทธลีลา พุทธคยาเก๋งจีนประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม หอพระแก้วมรกตจำลองทำด้วยทองคำ ฯลฯ มีบรรยากาศร่มรื่น พื้นที่กว้างขวาง แวดล้อมไปด้วยทรัพยากร ป่าไม้ จากยอดดอยสามารถชมความสวยงามของทัศนียภาพของกว๊านพะเยาและตัวเมืองของพะเยา โดยสามารถเดินทางท่องเที่ยวที่วัดอนาลโยใน 2 ลักษณะตามอัธยาศัยทั้งทางรถยนต์และทางบันไดเดินเท้า โดยทางวัดได้จัดที่พักลักษณะรีสอร์ท เพื่อบริการนักท่องเที่ยวไว้แล้วอย่างครบครัน

4. โบราณสถานเวียงลอ


สถานที่ตั้งของโบราณสถานเวียงลอห่างจากตัวอำเภอจุนไปตามทางหลวงหมายเลข 1021 ถึงบ้านห้วยงิ้ว ประมาณ 17 กิโลเมตร มีทางแยกเป็นทางเดินถึงบ้านน้ำจุน รวม 12 กิโลเมตร ถัดมาจะพบทางแยกเป็นทางเดิน ถึงบ้านน้ำจุนอีก 12 กิโลเมตร ปรากฏซากกำแพงเมืองเก่า วัดร้างอยู่มากมาย จะมีพระธาตุและวัดเก่าแก่ คือ วัดศรีปิงเมือง เมืองลอหรือเวียงลอ มีคูเมืองและกำแพงคันดิน 1 - 2 ชั้น ล้อมรอบ ตั้งอยู่ที่ราบระหว่างเชิงดอยจิกจ้องและแม่น้ำอิง

5. วัดพระธาตุจอมทอง


วัดพระธาตุจอมทอง ศาสนสถานที่เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ ตั้งอยู่บนดอยจอมทอง บริเวณริมกว๊านพะเยา อยู่ห่างจากตัวเมือง 3 กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามวัดศรีโคมคำ มีทางรถยนต์ขึ้นไป ถึงยอดเขา ภายในวัดมี "พระธาตุจอมทอง" เป็นเจดีย์ทรงล้านนาสูง 30 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง 9 เมตร ซ้อนกันสามชั้น รองรับองค์ระฆัง ส่วนยอดสุดเป็นฉัตรสีทอง ฐานโดยรอบข้างล่างบุด้วยแผ่นโลหะ ดุนลายเป็นรูป 12 นักษัตร และลายไทยอันงดงามมาก ลักษณะคล้ายพระธาตุหริภุญชัย ของจังหวัดลำพูน โดยวัดพระธาตุจอมทอง ตั้งอยู่บนเนินเขาตรงข้ามวัดศรีโคมคำ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา จากสี่แยกประตูชัย ทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งหน้าสู่แม่ใจ 2.5 กิโลเมตร มีถนน เส้นทางแยกด้านซ้ายมือซึ่งผ่านหอสมุด แห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ประมาณ 300 เมตร ที่ตั้งวัดอยู่ทางด้านขวามือ สำหรับความเป็นมานั้นเล่ากันว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เมืองภูกามยาว ประทับแรมบนดอย ตั้งอยู่บนฝั่งหนองเอี้ยง ทางทิศเหนือ และพระองค์ทรงมอบพระเกศธาตุองค์หนึ่ง เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำบนดอยนั้น ซึ่งเป็นถ้ำลึกกว่า 70 วา

6. ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ


ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ ตั้งอยู่ที่วัดหย่วนใน อำเภอเชียงคำ จัดตั้งเป็นศูนย์แสดงผลงานทางศิลปวัฒนธรรมและฝึกอาชีพของชาวไทยลื้อ โดยเฉพาะผ้าของชาวไทยลื้อที่มีลวดลายและสีสันสดใส ในอดีตชาวไทยลื้อมีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตสิบสองปันนามณฑลยูนาน ประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน มีพื้นที่ประมาณ 25,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขามีที่ราบแคบอยู่ตามหุบเขาและลุ่มแม่น้ำ อันเป็นบริเวณ
ที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินของชาวไทลื้อ โดยเฉพาะการทำนาที่ลุ่มเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป มีแม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งชาวไทยลื้อเรียกว่า "แม่น้ำของ" ในปี พ.ศ. 2399 เจ้าสุริยพงษ์ ผริตเดช ผู้ครองนครน่าน ได้อพยพมาอยู่ที่บ้านท่าฟ้าเหนือและท่าฟ้าใต้ อำเภอเชียงม่วน หลังจากนั้นมีบางส่วนได้อพยพมาอยู่ที่อำเภอเชียงคำ ชาวไทลื้อมีอุปนิสัยรักสงบ ขยันอดทน นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ที่อนุรักษ์วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างดีโดยเฉพาะวัฒนธรรมการแต่งกาย เป็นต้น

7. อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง


อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง ประดิษฐานอยู่ที่สวนสาธารณะเทศบาลเมืองพะเยา (สวนสมเด็จย่า 90)
ถนนเลียบกว๊านพะเยา พ่อขุนงำเมืองเป็นกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองภูกามยาว ลำดับที่ 9 เป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองมาก พระองค์ทรงเป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานกับพ่อขุนเม็งรายแห่งเมืองเชียงราย และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งทั้งสามพระองค์ได้กระทำสัตย์ต่อกัน ณ แม่น้ำอิง ส่วนพระองค์นั้น พ่อขุนงำเมืองเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ เล่าขานสืบต่อกันว่า ยามเมื่อพระองค์ทรงเสด็จประพาสเยี่ยมเยือน ณ แห่งหนใด “แดดก็บ่อฮ้อน ฝนก็บ่อฮำ จักให้บดก็บด” พร้องกับพระนาม “งำเมือง”

8. พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี)


“พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว” หรือ “วัดลี” มีความเป็นมาบนเส้นทางยาวไกลจุดเริ่มต้นนั้น เกิดจากแรงบันดาลใจ และความสำนึกรักถิ่นเกิดของ พระครูอนุรกษ์บุรานันท์ เจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยาเจ้าอาวาสวัดลี ที่ท่านได้เล็งเห็นคุณค่า โบราณวัตถุซึ่งเป็นสมบัติของชาติจำนวนมากถูกทอดทิ้งอยู่ตามวัดร้างต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดพะเยา จึงอนุรักษ์ และนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดลี เพื่อมิให้สูญหาย ร่วมระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้โบราณวัตถุมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั้งไม่มีสถานที่เก็บเพียงพอ จึงดำริที่จะตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรมของเมืองพะเยาอีกแหล่งหนึ่ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นในก้าวแรก แต่จะให้สำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องและยั่งยืนได้นั้นยังขาดงบประมาณ มาสนับสนุนอย่างพอเพียง กระทั้งถึงปี พ.ศ. 2549 ทางจังหวัดพะเยา โดยนาย ธนเษก อัศวานุวัตร ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีนโยบายเร่งด่วน ผลักดันโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดลีอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม พร้อมกันทุกๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และคนในชุมชนวัดลี ร่วมใจกันสนับสนุน จนกระทั้งสามารถจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ ประสบผลสำเร็จ ในปี พ.ศ. 2550 ขึ้นมา

9. หอวัฒนธรรมนิทัศน์


หอวัฒนธรรมนิทัศน์เป็นสถานที่จัดแสดงวัตถุโบราณ รวมถึงเอกสารข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์
ด้านวรรณกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี และวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านในจังหวัดพะเยา
เป็นผลงานแห่งความอุตสาหพยายามในการสืบเสาะและเก็บรักษาของหลวงพ่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์
เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ นานกว่า 43 ปีประกอบไปด้วย ซากปรักหักพังและปติมากรรมในยุคหินทรายของเมืองพะเยา (พุทธศตวรรษที่ 20 -22) อาทิ ส่วนเศียรและส่วนองค์พระพุทธรูปที่แตกหัก, ช้างเอราวัณ 4 เศียร, ดอกบัวหินทราย,ถ้วยชามเวียงกาหลง เป็นต้น

10. วัดพระนั่งดิน


วัดพระนั่งดิน เป็นวัดที่องค์พระประธานของวัดไม่มีฐานรองรับเหมือนกับพระประธานองค์อื่นๆ
เคยมีราษฎรสร้างฐานรองรับเพื่ออัญเชิญพระประธานขึ้นประดิษฐานบนฐานรองรับ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถจะยกองค์พระประธานขึ้นได้ แม้จะพยายามยกด้วยวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมก็ไม่สามารถยกขึ้นได้จึงเรียกสืบต่อกันมาว่า “พระนั่งดิน” ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธรูปนี้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ดังนั้น พระเจ้านั่งดินน่าจะมีอายุกว่า 2500 ปีและตามประวัติกล่าวถึงอีกว่า ในการสร้างพระพุทธรูปนี้ใช้เวลา 1 เดือน 7 วัน จึงเสร็จ เมื่อสร้างเสร็จได้ประดิษฐานไว้บนพื้นราบโดยไม่มีฐานชุกชีดังพระพุทธรูปอื่นๆ ทั่วไป

11. วัดนันตาราม


วัดนันตาราม ตั้งอยู่บริเวณตลาดเทศบาลตำบลเชียงคำ ไม่ปรากฏว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด เป็นวัดประจำชุมชน ชาวไทยใหญ่ เดิมเรียก “วัดจองคา” เพราะมุงด้วยหญ้าคา (คำว่า “จอง” เป็นภาษาไทยใหญ่ หมายถึง วัด) พุทธศาสนิกชนชาวไทยใหญ่เป็นผู้สร้าง โดย พ่อหม่อง โพธิ์ขิ่น บริจาคที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่เศษ เป็นสถานที่ก่อสร้าง พ่อเฒ่าอุบล เป็นประธานในการก่อสร้างจนสร้างสำ เร็จเรียบร้อย มีฐานะเป็นอารามหรือสำ นักสงฆ์ โดยประชาชนทั่วไปนิยมเรียก “วัดจองเหนือ”

12. วัดพระธาตุสบแวน


ที่วัดพระธาตุสบแวนแห่งนี้มีสิ่งน่าสนใจหลายอย่าง อาทิบ้านชาวไทลื้อ ต้นจามจุรีขนาดใหญ่
อายุกว่า 100 ปี เจดีย์อายุเก่าแก่กว่า 800 ปี บ้านชาวไทลื้อที่ตั้งอยู่ภายในวัดมีศูนย์หัตถกรรมทอผ้า
จากผู้หญิงสูงอายุในหมู่บ้าน งานหัตถกรรมจากผ้าฝ้าย มีให้ซื้อขายและได้ชมวิธีการทอผ้า สามารถเข้าชมเรือน ไทลื้อเพื่อรู้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อได้อย่างละเอียด และจุดสำคัญ พระธาตุสบแวนซึ่งตั้งอยู่ด้านหลัง ของวิหารภายในวัดนั้น เป็นเจดีย์เก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 800 ปี

13. วัดแสนเมืองมา


“วัดแสนเมืองมา” มาจากชื่อหมู่บ้าน “มาง” ในสิบสองปันนา ประเทศจีน สถาปัตยกรรมภายในวัด
สร้างตามแบบศิลปะไทลื้อ รวมไปถึงป้ายต่างๆ ในบริเวณวัดมีทั้งภาษาไทยและภาษาจีน เนื่องจากมีชาวไทลื้อ เดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประเทศไทยกับสิบสองปันนา นักวิชาการต่างสันนิษฐานกันว่า วัดน่าจะถูกสร้างขึ้น ในสมัยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เพราะมีหลังคามุงแป้นเกล็ดไม้งดงามมาก ซึ่งเป็นศิลปะไทลื้อ หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปเทพนม บนพื้นสลักลายสวยงาม บันไดทางเข้าเป็นรูปพญานาค ประตูด้านข้างทางเข้ามีรูปปั้นสิงห์คู่เฝ้าประตู ล้วนแล้วแต่มีความสวยงามร่วมสมัย

14. วัดหย่วน


วัดหย่วนเป็นศูนย์กลางแสดงผลงานทางศิลปวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ รวมทั้งเป็นศูนย์ฝึกอาชีพ
โดยเฉพาะผ้าทอไทลื้อ ซึ่งมีลวดลายสีสันสดใสสวยงาม ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดแสนเมืองมาและสถานีขนส่งมากนัก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือมีระยะทางห่างกันเพียง 500 เมตรโดยประมาณ นักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้าเที่ยวชมได้ต่อเนื่องกันไป

15. วัดท่าฟ้าใต้


วัดท่าฟ้าใต้เป็นวัดที่สร้างตามรูปแบบศิลปะไทลื้อที่งดงามมากอีกแห่งหนึ่ง วิหารมีรูปแบบศิลปะไทลื้อ
ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงแป้นเกล็ดซ้อนกัน 3 ชั้น หน้าบัน เป็นลายเครือเถาแบบไทลื้อที่ประยุกต์ลายมาจากธรรมชาติ มีลายดอกไม้บานอยู่ตรงกลาง ประดับด้วยกระจกเงา มีแนวคิดในการออกแบบศิลปกรรมโดยเชื่อว่าเป็นเสมือนสิ่งสะท้อน ความชั่วร้ายมิให้มาทำร้ายกล้ำกรายได้โดยแต่งแต้มสีสันผ่านใบระกาเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปพญานาคเชิงชายฉลุลายน้ำหยด ซึ่งล้วนแล้วแต่สื่อสารบ่งบอกเอกลักษณ์แห่งศิลปะไทลื้อ



แหล่งอ้างอิง  http://www.phayao.go.th/au/info/travel.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น