วิวาห์บาบ๋า ฟื้นประเพณีเก่าที่ภูเก็ต

วันที่ 19 Jul, 2013 | ผู้ชม: 1348 | ID: #130721

ข้อมูลหมดอายุแล้ว


คู่แต่งงานที่เข้าพิธีวิวาห์บาบ๋า ภูเก็ต

พิธีไหว้ฟ้าดิน

การแต่งกายของสตรี "ย่าย๋า"

บรรยากาศขบวนแห่ผ่านย่านเมืองเก่าภูเก็ต

บรรยากาศขบวนแห่ผ่านย่านเมืองเก่าภูเก็ต

อีกหนึ่งประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูเก็ตเชื้อสายจีน

การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของผู้อพยพชาวจีนกับวัฒนธรรมคนพื้นถิ่น ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน อาหารการกิน และประเพณี คือส่วนผสมที่หลอมรวมเป็นวัฒนธรรมของเมือง "ภูเก็ต" ในปัจจุบัน

ประเพณีแต่งงาน หรือ "วิวาห์บาบ๋า" คืออีกหนึ่งประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูเก็ตเชื้อสายจีน ที่วันนี้กำลังได้รับการรื้อฟื้นอีกครั้งหลังจากสูญหายไปกว่าครึ่งศตวรรษ

"บาบ๋า ย่าย๋า เพอรานากัน"

การอพยพออกจาก "แผ่นดินใหญ่" ของชาวจีน เกิดขึ้นมากที่สุดในสมัยราชวงศ์ชิง เนื่องจากความอดอยากแร้นแค้น และความไม่สงบทางการเมือง ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ชาวจีนจากมณฑลฟูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) อพยพเข้ามาที่ปีนัง มะละกา (มาเลเซีย) เมดาน (อินโดนีเซีย) และบางส่วนได้อพยพมาถึงภูเก็ต เพื่อเข้ามาทำงานในกิจการเหมืองแร่ตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 1 โดยเพิ่มขึ้นมากในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสำรวจสำมโนประชากรในปีพ.ศ.2446 (ร.ศ.112) ปรากฎว่ามีชาวจีนอยู่ในมณฑลภูเก็ตถึงราว 9,000 คน

ผู้อพยพชาวจีนดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มหรือเด็กหนุ่ม เดินทางมากับพี่น้องหรือญาติเป็นกลุ่ม บางส่วนได้มาสร้างครอบครัวใหม่กับคนท้องถิ่น ทำให้เกิดคำว่า "บาบ๋า" หมายถึง "ลูกจีน" สันนิษฐานว่ามีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซีย หมายถึง "ผู้ชาย" ส่วนอีกคำที่ได้ยินบ่อยเช่นกัน อย่าง "เพอรานากัน" เป็นคำมาเลย์ แปลว่า "เกิดที่นี่" หรือ "เด็กที่เกิดในท้องถิ่น"

"เพอรานากันแปลว่า Local Born หรือคนที่เกิดในท้องถิ่น แต่จริงๆ คือลูกผสมระหว่างพ่อที่เป็นต่างชาติกับคนในท้องถิ่น เพอรานากันกลุ่มใหญ่คือเพอรานากันจีน เกิดมาตั้งแต่ 600 ปีที่แล้วที่เจิ้งเหอ หรือซำปอกง นายทัพพรือสมัยราชวงศ์หมิง ยกทัพเรือมาเจรจากับ "ปรเมศวร" เจ้าผู้ครองรัฐมะละกา ซึ่งต่อมาได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงฮัง ลี โปห์ มีทายาทต่อมาก็เรียกรวมๆ ว่าเพอรานากัน ผู้ชายเรียกบาบ๋า ผู้หญิงเรียกย่าย๋าหรือยอนย๋า นับถือพุทธมหายานแบบจีน กินอาหารแบบจีนผสมกับฮินดู วัฒนธรรมนี้ก็สืบทอดจากมะละกา ปีนัง แล้วก็มาถึงภูเก็ต ในแง่ของวิถีชีวิตเราเองก็มีเชื้อไทยผสมด้วย กลายเป็นที่มาของบาบ๋าภูเก็ต" นพ.โกศล แตงอุทัย อุปนายกสมาคมเพอรานากันไทย เล่า

เอกลักษณ์ "วิวาห์บาบ๋า" ภูเก็ต

การสร้างครอบครัว ขยายขนาดของสังคม เป็นกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ในสังคมมนุษย์ทุกที่ ประเพณี "วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต" ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ประมาณได้ว่าเป็นประเพณีที่มีความเป็นมาย้อนหลังไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนมีอิทธิพลมากในภูเก็ต ผสมผสานกับวัฒนธรรมของชุมชนจีนในปีนัง ประเทศมาเลเซียและวัฒนธรรมท้องถิ่นภูเก็ตเองด้วย

ภูเก็ตยุคก่อน เมื่อเด็กหญิงมีอายุครบ 12 ปี ถือว่าเริ่มย่างเข้าสู่วัยสาว ญาติผู้ใหญ่จะให้เก็บตัวอยู่ในบ้านและอบรมสั่งสอนเรื่องการบ้านการเรือน การทำกับข้าว ตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ภรรยาได้เมื่อออกเรือน โอกาสที่จะได้คบหาทำความรู้จักกับชายหนุ่มจึงแทบไม่มี

"อึ่มหลาง" หรือ "แม่สื่อ" ซึ่งเป็นผู้อาวุโสในสังคมที่นับหน้าถือตา จึงเข้ามามีบทบาทในการจับคู่ เมื่อลูกสาวหรือลูกชายบ้านใดมีอายุุสมควรแต่งงานได้ก็จะไหว้วานอึ่มหลางให้ช่วยมองหาคนดีมาให้เป็นคู่ ซึ่งอึ่มหลางจะต้องเป็นผู้ที่มีวาทศิลป์ในการโน้มน้าวให้พ่อแม่ผู้ปกครองของทั้งฝ่ายหญิงและชายยอมรับอีกฝ่ายและตกลงให้ทั้งคู่ได้แต่งงานกัน หากการเจรจาตกลงกันได้อึ่มหล่างจะได้รับอั่งเปาและขาหมูอย่างดีเป็นกำนัล

"พิธีหมั้น จะมีขึ้นหลายเดือนก่อนจะแต่ง คนที่ไปทำพิธีหมั้นคืออึ่มหลาง อึ่มหล่างก็จะพาพ่อแม่เจ้าบ่าวไปคุยกับพ่อแม่เจ้าสาว เมื่อตกลงกันได้ก็จะมีพิธีหมั้นที่บ้านเจ้าสาว จะมีแหวนมงคลที่ยืมจากคหบดีมีด้ายแดงผูกตามจำนวนครั้งที่แหวนถูกใช้ในพิธีแต่งงาน ด้ายยิ่งเยอะยิ่งดี ก็จะไปยืมแหวนหมั้นเขามาแล้วก็ผูกด้ายแดงของเราเพิ่มเข้าไป จากนั้นก็จะมีการแลกแหวนระหว่างฝ่ายเจ้าบ่าวเจ้าสาว มีสินสอดทองหมั้้นก็จ่ายกันวันนั้น พร้อมวางฤกษ์ยามวันแต่งกัน วันหมั้นนี่บ่าวสาวจะไม่เจอกันเพราะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ตกลงกัน จะไปเจอกันวันแต่งเลย"

ขั้นตอนพิธีแต่งงานบาบ๋า ตามประเพณีโบราณจัดกันประมาณ 7 วัน 7 คืน เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีร้านค้า ร้านขนม โรงแรมอำนวยความสะดวกอย่างปัจจุบัน ต้องขอแรงญาติพี่้น้องเพื่อนฝูงมาช่วยกันตั้งแต่ตอกไม้ปลูกโรงเพื่อทำขนมมงคลและทำอาหาร

สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมใน 7 วันคือการจัดห้องเจ้าสาว เพราะเมื่อเจ้าบ่าวจะไปขอเจ้าสาวต้องไปเคาะประตูห้องเจ้าสาว โดยอึ่มหลางจะจูงมือเจ้าบ่าวไปรับเจ้าสาวในห้อง เจ้าบ่าว ญาติ และแขกทุกคนก็จะไปชมห้องเจ้าสาว และจะได้ชมว่าเจ้าสาวเป็นกุลสตรีหรือไม่อย่างไรโดยดูจากการแต่งห้องของห้องเจ้าสาวซึ่งจะเป็นห้องหอด้วย

"วันแต่งนั่นแหละบ่าวสาวถึงจะได้เห็นหน้ากัน อึ่มหลางจะจูงมือเจ้าบ่าวไปขอเจ้าสาวที่ห้องเจ้าสาว แล้วก็จูงบ่าวสาวมาไหว้ฟ้าดินหน้าบ้าน เสร็จแล้วก็ไปไหว้พระ ไหว้บรรพบุรุษ จากนั้นก็ทำพิธีผ่างเต๋หรือยกน้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่ พอผ่างเต๋เสร็จเจ้าบ่าวก็อาจจะพาเจ้าสาวขึ้นรถฝรั่งหรูๆ ไปไหว้ฟ้าดินที่ศาลเจ้า หลังจากนั้นก็จะเป็นงานเลี้ยงทั้งกลางวันกลางคืนซึ่งมักจะจัดที่บ้านเจ้าบ่าว จบงานเลี้ยงก็จะส่งตัว ตอนส่งตัวบางบ้านจะมีประเพณี เวียนสาดเวียนหมอน ก็จะมีผู้หลักผู้ใหญ่มาโปรยดอกไม้ให้พรอันนี้เชื่อว่าเป็นประเพณีของไทย แต่บางบ้านก็ไม่ทำ ถ้าเป็นที่ปีนังหรือมะละกาจะมีรายละเอียดบางอย่างไม่เหมือนของเรา อย่างปีนังจะมีพิธีหวีผมให้ลูกสาว แม่จะหวีผมให้แล้วสอนลูกสาวเรื่องการครองเรือน มีให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวรับเหล้าจากพ่อแม่ พอกินเหล้าก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วต้องดูแลตัวเอง"

"ในการแต่งงานมีอิทธพลจีนเยอะ อาหารส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารแบบจีน ขนมไหว้ น้ำชา อิทธิพลจีนอีกอย่างคือการไหว้ จะมีการไหว้เทวดาฟ้าดิน การไหว้ซินจู้หรือการไหว้บรรพบุรุษ มีการยกน้ำชาแบบจีน แล้วก็จะมีไหว้พระแบบไทย แล้วก็มีทำเนียมฝรั่งมาผสมผสานด้วย คือการขึ้นขบวนรถแห่ เศรษฐีภูเก็ตมีสตางค์มาตั้งแต่สมัยโบราณก็เป็นธรรมเนียมว่าเวลาเจ้าบ่าวจะยกไปขอเจ้าสาวก็จะใช้รถฝรั่งที่เรียกว่ารถปาเก้ เป็นการแสดงฐานะ ถ้าไม่มีฐานะก็ไปยืมรถเพื่อน(หัวเราะ)" อุปนายกสมาคมเพอรานากันไทย เล่า

ฟื้นประเพณี "วิวาห์บาบ๋า"

ประเพณีวิวาห์บาบ๋าในภูเก็ตขาดช่วงไปประมาณ 50 ปี เนื่องจากความนิยมตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้ประเพณีแต่งงานมีการลดขั้นตอน ตัดพิธีการออกไปบางส่วน แต่วันนี้ ประเพณีวิวาห์บาบ๋าภูเก็ตกำลังได้รับการรื้อฟื้นกลับมา โดยนอกจากเป้าหมายในการอนุรักษ์ประเพณีที่ดีงาม ยังมองไปถึงการเติมเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวสู่เกาะภูเก็ตอีกด้วย

"จุดเด่นคือมันสวยน่ะ มันอลังการ แต่ที่ตามมาคือความกตัญญู เมื่อก่อนจะมีพิธีปัดเก้าอี้ เจ้าบ่าวสาวจะเอาผ้าเช็ดหน้ามาปัดเก้าอี้ให้แขกสำคัญคู่แรก เป็นการให้ความคารวะผู้หลักผู้ใหญ่ หรืออย่างเวลาผ่างเต๋จริงๆ มีคนร่วมพิธีเป็นร้อยคนนะ แล้วก็จะมีคนยืนประกาศชื่อ เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็จะได้รู้ว่า อ๋อ คนนี้เป็นอาซ้อเรานี่เอง คนนี้อาเจ็กเรานี่เอง เป็นการเชื่อมร้อยคนในครอบครัวด้วย" อุปนายกสมาคมเพอรานากัน เล่า

นำไปสู่การรื้อฟื้นประเพณี "วิวาห์บาบ๋า" นอกจากจะอนุรักษ์ประเพณีที่ดีงามให้คงอยู่ รวมทั้งใช้แง่มุมทางวัฒนธรรมเพื่อเติมเม็ดเงินจาก "การท่องเที่ยว" ให้กับเมืองภูเก็ตอีกด้วย

ชาญชัย ดวงจิตต์ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานภูเก็ต ระบุว่า จุดขายทางการท่องเที่ยวดั้งเดิมของภูเก็ตคือเรื่องของการพักผ่อนชายทะเล หรือ "Sea Sun Sand" เช่นเดียวกับจุดขายด้านความเป็น "เมืองเก่า" (Phuket Old Town) ซึ่งยังคงศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่หากต้องการให้นักท่องเที่ยวที่เคยมาภูเก็ตแล้วกลับมาเยี่ยมเยือนกันอีกบ่อยๆ ย่อมต้องมีการสร้างจุดขายใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งกิจกรรม "วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต" ถือว่าเป็นจุดขายที่น่าสนใจ

"นักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ตแต่ละปีมากกว่า 10 ล้านคน ตอนนี้จีนมาเป็นอันดับ 1 นอกจากชอบชายหาดเขาก็จะชอบเที่ยวตามชุมชนที่มีความผูกพันเรื่องภาษาและวัฒนธรรม จีนมี 50 เผ่าพันธุ์ ฮกเกี้ยนก็เป็นหนึ่งในนั้น นี่ก็เป็นที่มาที่เราทำเรื่องวิวาห์บาบ๋าเป็นจุดขายในเรื่องของวัฒนธรรม เป็นเรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนจีนที่เข้ามาตั้งรกรากมาเกือบ 200 ปี และยังมีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านทางมาเลเซียอย่าง ปีนัง มะละกา กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไปจนถึงออสเตรเลีย ซึ่งเขาก็มีสมาคมเพอรานากันอยู่ เราจึงเห็นศักยภาพเรื่องวัฒนธรรมบาบ๋าว่าสามารถใช้เป็นจุดดึงดูดทางการท่องเที่ยวได้"

ที่ผ่านมามีการใช้เครือข่ายสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสาขาต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันเชิญชวนนักท่องเที่ยวในกลุ่มที่เดินทางเพื่อการแต่งงาน ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ หรือฉลองครบรอบแต่งงาน ให้เดินทางมายังภูเก็ตเพื่อร่วมประเพณีแต่งงานบาบ๋า

"ใครจะเข้าร่วมพิธีแต่งงานก็เข้ามา ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพงประมาณ 39,000 - 40,000 บาท รวมหมดทั้งที่พัก ทั้งพิธีการ ประเพณีต่างๆ ซึ่งถือว่าถูกมาก เราพยายามบรรจุในปฏิทินท่องเที่ยวภูเก็ตในช่วงกลางเดือนมิถุนายนทุกปี ตอนนี้อยู่ระยะการสร้างแบรนด์ของงาน ซึ่งต่อไปถ้างานนี้ติดตลาดแล้วก็จะสามารถขายได้ ทำรายได้เข้าภูเก็ตได้อีกทางหนึ่ง" ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานภูเก็ต สรุป


ที่มา : ข่าวไลฟ์สไตล์ -กรุงเทพธุรกิจ

ข้อมูลการติดต่อ
ดูหน้าร้าน
ประเภทสมาชิก:Business Member
ชื่อ (Contact Name):news.bangkoksync.com
ชื่อบริษัท (Company name):news.bangkoksync.com
จังหวัด:กรุงเทพมหานคร
เขต:สาทร
ประเทศ (Country):ไทย
โลโก้บริษัท:
อีเมล์ถึงผู้ขาย

กรุณาใส่ตัวหนังสือที่แสดงอยู่บนรูปข้างล่าง. ตัวอักษรจะเป็นภาษาอังกฤษตัวเล็ก และตัวเลข 1 ถึง 9






 


Tag คำค้นหา