วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

อุทยานแห่งชาติขุนพระวอ จ.ตาก



อุทยานแห่งชาติขุนพระวอ




          อุทยานแห่งชาติขุนพะวอ เป็นอุทยานแห่งชาติเปิดใหม่ ท้องที่บ้านหนองหลวง หมู่ 3 ตำบลสามหมื่น ริมทางหลวงสายแม่ระมาด-บ้านตาก ห่างจากแยกอำเภอแม่ระมาดประมาณ 18 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 380 ตารางกิโลเมตร เดิมชื่ออุทยานแห่งชาติแม่กาษา ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น
 "อุทยานแห่งชาติขุนพะวอ"เพื่อเป็นการยกย่องพะวอซึ่งเป็นท่านทหารชาวกระเหรี่ยงในสมัย
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายด่านแม่ละเมา และได้ต่อสู้กับข้าศึกเพื่อปกป้องเอกราชของชาติจนตัวเองต้องเสียชีวิตในสมามรบ ซึ่งสมรภูมิรบก็อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนพะวอนี้เอง  





ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 350-905 เมตร เป็นต้นน้ำของห้วยแม่ละเมา ห้วยห้วยแม่จะเรา ห้วยพะวอ ห้วยแม่กาษา ห้วยแม่กิ๊ดหลวง ห้วยพะเสาะ ห้วยสะมึนหลวง ห้วยแสม และห้วยแม่ระมาด อันเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญไหลลงสู่พื้นที่เกษตรกรรมของอำเภอแม่สอด และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์มากมีทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบณจพรรณ และป่าเต็งรัง 

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพอากาศโดยทั่วไปเย็นสบายตลอดปี มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส ฤดูฝนมีฝนตกชุกคล้ายกับภูมิอากาศทางภาคใต้ของประเทศไทย มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,676 มิลลิเมตรต่อปี ในฤดูหนาวมีหมอกมาก ลมแรง และอากาศหนาวเย็น
มีพันธุ์ไม้หลากหลายเช่น สัก แดง ประดู่ มะค่าโมง ยาง ตะเคียนทอง ไม้ถิ่นภาคใต้เช่น ลูกเนียง (มะตึงยาง) สะตอป่า เงาะป่า ฯลฯ 




การเดินทาง

รถยนต์
จากจังหวัดตากใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 เส้นทางตาก - แม่สอด ถึงอำเภอแม่สอด เลี้ยวขวาไปทางอำเภอแม่ระมาด แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1175 เส้นทางแม่ระมาด - บ้านตาก ประมาณ 16 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ ซึ่งอยู่ทางด้านขวามือ

แหล่งท่องเที่ยว


ศาลเจ้าพ่อพะวอ: ตั้งอยู่บนเนินดินเชิงเขาพะวอ ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 62-63 ริมทางหลวงหมายเลข 105 (ตาก-แม่สอด) ตามตำนานเล่าว่า เจ้าพ่อพะวอเป็นชายชาตินักรบชาวกะเหรี่ยงมีศักดิ์ฐานะ เป็นนายด่านแม่ละเมาเมืองหน้าด่านของไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เดือน 11 (ตุลาคม) ปีมะแม สัปตศก พุทธศักราช 2318 กองทัพ ข้าศึกเคลื่อนทัพมายังไทย โดยผ่านด่านแม่ละเมา เจ้าพ่อพะวอตัดสินใจนำกำลังไพร่พลเข้าปะทะกับข้าศึกอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวทุกคนยอมตายถวายชีวิต ณ ยุทธภูมิแห่งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน ชาวเมืองตากจึงได้พร้อมใจกันสร้างศาลขึ้น พร้อมทั้งได้อัญเชิญรูปหล่อจำลองขึ้นประดิษฐานเมื่อปี 2507 เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเหตุที่เจ้าพ่อพะวอท่านเป็นนักรบที่กล้าหาญ จึงมีประชาชนที่ขับรถยนต์ผ่านไปมาให้ความเคารพสักการะ นิยมยิงปืน จุดปะทัด และบีบแตรรถถวาย เพื่อแสดงถึงความเคารพ









น้ำตกขุนพะวอเป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม สูงประมาณ 100 เมตร เป็นต้นน้ำของลำห้วยแม่จะเรา อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 1.5 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเดินเท้าลัดเลาะไปตามหน้าผา ตลอดการเดินทางจะพบเห็นต้นปรงขึ้นอยู่ทั่วไป อากาศเย็นสบาย ใช้เวลาเดินทางไปกลับประมาณ 3 ชั่วโมง หากจะชมน้ำตกต้องไต่เขาลงไปเบื้องล่างอีกประมาณ 300 เมตร มีน้ำไหลตลอดทั้งปี

น้ำตกป่าหมากเป็นน้ำตกที่ไหลลงสู่ลำห้วยสะมึนหลวง เป็นน้ำตกที่มีน้ำผุดออกมาจากพื้นดินแล้วตกลงมาเป็นน้ำตกสูงประมาณ 60 เมตร มีน้ำไหลตลอดปี อยู่บริเวณบ้านป่าหมาก ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 40 กิโลเมตร เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบท่องป่า

น้ำตกผึ้งหลวงเป็นน้ำตกขนาดเล็กสูงประมาณ 15 เมตร อยู่ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1175 (แม่ระมาด-บ้านตาก) มีน้ำไหลตลอดปี ห่างจากที่ทำการประมาณ 10 กิโลเมตร อยู่ในท้องที่ตำบลสามหมื่น อำเภอแม่ระมาด

น้ำตกห้วยกระทิง: เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามอีกแห่ง สูงประมาณ 40 เมตร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 7 กิโลเมตร การเดินทางด้วยรถยนต์และเดินเท้าอีก 600 เมตร มีน้ำมากตลอดทั้งปี






ผาชมปรงและจุดชมทัศน์: เป็นหน้าผาอยู่บริเวณเส้นทางไปน้ำตกขุนพะวอ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 1 กิโลเมตร ในท้องที่ตำบลสามหมื่น อำเภอแม่ระมาด มีต้นปรงดึกดำบรรพ์ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากตามหน้าผา มีทิวทัศน์ที่สวยงาม มองเห็นทัศนียภาพของอำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด และสหภาพพม่าได้ จึงเหมาะที่จะชมความงามยามดวงอาทิตย์ตกในยามเย็น และชมทะเลหมอกในยามเช้า
 

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%AD
       :http://www.sawadee.co.th/thai/tak/nationalparks.html



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น